Civic education

โดย ทิพย์พาพร ตันติสุนทร
ปี่ที่พิมพ์: 2555
สถาบันนโยบายศึกษา
http://www.fpps.or.th/

การศึกษา ถือเป็นกระบวนการเรียนรู้ที่มุ่งหวังให้มนุษย์เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมไปในทิศทางที่มีคุณค่าอันพึงประสงค์ของความเป็นมนุษย์และของสังคม และด้วยการศึกษานี่เอง ยังเป็นเครื่องมือในการกล่อมเกลาทางสังคมและการเมืองอีกด้วย ระบบการเมืองการปกครองต้องการการค้ำจุนจากสมาชิกในสังคม หรือ พลเมือง ซึ่งพวกเจาจำเป็นต้องได้รับการบ่มเพาะความคิด วิถีปฏิบัติให้สอดคล้องกับระบบการปกครองนั้นด้วย ดังนั้น แนวคิดการศึกษาเพื่อสร้างพลเมือง (Civic Education) ในระบอบประชาธิปไตยสำหรับสังคมไทย จึงมีเข็มมุ่งที่จะสร้างความสามารถให้แก่พลเมืองไทยในอนาคต ที่จะแสดงถึงความรับผิดชอบต่อสังคม ด้วยการสร้างสังคมที่สงบและสันติสุข จึงมีแต่การศึกษาและเรียนรู้ที่ส่งเสริมบรรยากาศความเป็นประชาธิปไตยโดยปราศจากการครอบงำและชี้นำทางความคิด เราจึงจะได้พลเมืองที่รู้คิด และมีวิจารณญาณพอที่จะเข้าร่วมกำหนดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมได้ หากไม่แล้วสังคมไทยก็จะมีแต่ประชาชนผู้ที่พร้อมจะถูกชักจูงไปทางใดทางหนึ่ง ซึ่งไม่อาจมีเสรีภาพที่แท้จริงและไม่สามารถแสดงความรับผิดชอบใดๆ ได้ในสังคม การนำเสนอแนวคิดเพื่อสร้างพลเมืองใหม่ให้สอดคล้องกับวิถีประชาธิปไตยในสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองอย่างสูงและกำลังอยู่ในช่วงวิกฤติการปฏิรูปการศึกษาไทยในรอบที่สองนี้ จึงเป็นการตอกย้ำให้สังคมไทยได้ตระหนักถึงแนวทางการสร้างพลเมือง และการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งที่ยากยิ่งให้อยู่ในวิธีการประชาธิปไตย ด้วยการไม่ครอบงำและส่งเสริมการแสดงออกถึงการมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวาง ด้วยความอดทนอดกลั้น และมีสติด้วยความรับผิดชอบอย่างยิ่งร่วมกันว่าเราจะข้ามความยุ่งยากนี้ไปได้ด้วยสันติวิธี