บทสัมภาษณ์ อ.พสุธา โกมลมาลย์ คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนครเกี่ยวกับมโนทัศน์การสอนสังคมศึกษาและการใช้การศึกษาสร้างคนรุ่นใหม่เพื่อขับเคลื่อนประเด็นความยุติธรรมทางสังคม

ในการเรียนการสอนสังคมศึกษา มีมโนทัศน์การเรียนรู้หลักๆ ที่พูดถึงความยุติธรรมทางสังคมบ้างไหม อย่างไร?

อ.พสุธา: ถ้าจะให้พูดถึงการเรียนการสอนเรื่องความยุติธรรมทางสังคมในการเรียนการสอนสังคมศึกษาของสังคมไทยคงเป็นเรื่องตลกน่าเศร้า เพราะในความเป็นจริง เรากลับพบว่าในการเรียนการสอนด้านสังคมศึกษาของสังคมไทย ได้ละเลย การพูดถึงความยุติธรรมทางสังคม ทั้ง ๆ ที่มันเป็นมโนทัศน์หลักที่ทำให้สังคมสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุข มโนทัศน์เรื่องความยุติธรรมทางสังคมเป็นแค่เศษส่วนเสี้ยวที่เราผลักลงไปให้อยู่ในการศึกษาเรื่องของกฎหมาย ซึ่งจริง ๆ แล้วสังคมศึกษายังมีองค์ประกอบอื่น ๆ อีกมาก หรือในระดับอุดมศึกษาประเด็นความเป็นธรรมทางสังคมก็กลับไม่ค่อยได้รับการพูดถึง อาจปรากฏเห็นได้เพียงแค่ในรายวิชาศึกษาทั่วไป อย่างวิชาบังคับลง เช่น กฎหมายในชีวิตประจำวัน ที่บังคับให้นักศึกษาทุกคนต้องเรียนรู้เรื่องนี้ ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วความยุติธรรมทางสังคมมันไม่ใช่เรื่องของกฎหมายเพียงอย่างเดียว แต่มันประกอบด้วยเรื่องอื่น ๆ ที่แวดล้อมมันอยู่ โดยเฉพาะการทำความเข้าใจโครงสร้างทางสังคมที่ส่งผลต่อความเป็นธรรมที่ควรจะเกิดขึ้น ดังนั้นถ้าให้พูดถึงการเรียนการสอนของสังคมไทยในเรื่องความยุติธรรมทางสังคม ผมคิดว่าในสังคมไทยเกี่ยวกับเรื่องนี้ เราพูดถึงน้อยมาก

 

“ในความเป็นจริงแล้วความยุติธรรมทางสังคมมันไม่ใช่เรื่องของกฎหมายเพียงอย่างเดียว แต่มันประกอบด้วยเรื่องอื่น ๆ ที่แวดล้อมมันอยู่ โดยเฉพาะการทำความเข้าใจโครงสร้างทางสังคมที่ส่งผลต่อความเป็นธรรมที่ควรจะเกิดขึ้น ถ้าให้พูดถึงการเรียนการสอนในเรื่องความยุติธรรมทางสังคม ผมคิดว่าในสังคมไทย เราพูดเกี่ยวกับเรื่องนี้น้อยมาก”

 

ส่วนตัวแล้วมีมุมมองอย่างไรต่อการสอนสังคมศึกษาในไทย แก่นแท้ที่พาไปสู่การสร้างความยุติธรรมทางสังคมต้องเริ่มจากตรงไหน?

อ.พสุธา: ผมคิดว่าเราต้องคิดกันใหม่ โดยเฉพาะเรื่องการเรียนการสอน เราอาจไม่จำเป็นต้องเน้นเนื้อหาให้เด็กท่องจำ เพราะความยุติธรรมทางสังคมมันยึดติดและเชื่อมโยงกับโครงสร้างทางสังคม โดยเฉพาะบริบทที่แวดล้อมมันอยู่อย่างเช่นในเรื่องที่อาจยกมาเป็นตัวอย่างได้ชัด ในคลิปวีดีโอโตไปไม่โกง ตอนโดนัท ที่นำมาใช้ในการประกอบการเรียนการสอน เราจะพบว่าหากเราให้นักศึกษาหรือนักเรียนแสดง role play กำหนดตัวเองให้เป็นตัวละครต่าง ๆ หรือกำหนดในสถานการณ์ที่แตกต่างกัน เราก็จะพบการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องความยุติธรรมทางสังคมในรูปแบบที่แตกต่างกัน แม้จะแสดงออกในพฤติกรรมเดียวกันแต่อาจมีความหมายที่แตกต่างและย้อนแย้งกันเอง ดังนั้นผมคิดว่าการสอนสังคมศึกษา ที่จะพาไปสู่การสร้างความยุติธรรมทางสังคมอาจต้องทำให้นักศึกษา เข้าใจในบริบทและสถานการณ์ที่หลากหลายที่ส่งผลต่อ “ความหมายของความยุติธรรมทางสังคม” ในตอนนี้ผมค่อนข้างเชื่อว่าการที่ทำให้นักศึกษาลองทดลองรับบทบาท ในสถานการณ์ที่แตกต่างกันอาจทำให้เขาเข้าใจถึงความรู้สึก ผลกระทบ และผลประโยชน์ได้เสียของกลุ่มคนต่าง ๆ ในสังคม และอาจกลายมาเป็นประสบการณ์ตรงที่ทำให้เขาสามารถตัดสินใจแสดงพฤติกรรมหรือเลือกทำพฤติกรรมในอนาคตอย่างเห็นอกเห็นใจผู้อื่น