เมื่อครูไทยเรียนรู้การสอนประชาธิปไตยในออสเตรเลีย รุ่นที่ 2 (ตอนจบ)

29 เมษายน ถึง 5 พฤษภาคม 2017


วันที่ 3 พฤษภาคม 2017 

สถานที่: คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยโมนาช

วันนี้เป็นวันที่ได้มีโอกาสเข้ารับฟังการบรรยายของ Associate Professor Libby Tudball จากคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยโมนาช ในหัวข้อ Citizenship education and teacher education: teaching about human rights and active citizenship” ซึ่ง Dr. Libby ได้อธิบายเป้าหมายของการสร้างความเป็นพลเมืองของออสแตรเลียว่าคือการพัฒนาความรู้ ทักษะ และคุณค่าเพื่อสร้างพลเมืองที่เป็น active and informed citizens ซึ่งได้ถูกเขียนไว้อย่างขัดเจนในเอกสารหลักสูตร และได้ยกตัวอย่างแหล่งเรียนรู้ (resources) คู่มือ และสื่อในการจัดการเรียนรู้ เพื่อให้ครูทั้งในโรงเรียน และสถาบันฝึกหัดครูสามารถนำไปใช้ในการจัดการเรียนการสอนได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น หนังสือ Big Book เกี่ยวกับประชาธิปไตยในระดับประถมศึกษา ผ่านการตั้งคำถาม เรื่องเล่า และบทเพลง ถึงความหมายและคุณค่าของประชาธิปไตย นอกจากนั้น Dr. Libby ยังอธิบายว่าการเรียนการสอนเรื่องสิทธิมนุษยชน และการศึกษาเพื่อความยั่งยืน (Education for Sustainability) เป็นส่วนสำคัญของการศึกษาเพื่อสร้างความเป็นพลเมือง ซึ่งสามารถบูรณาการในรายวิชาทางด้านมนุษยศาสตร์ และสังคมศาสตร์ได้ และท้ายที่สุดเธอได้กล่าวว่าวัฒนธรรมของโรงเรียน นโยบายของโรงเรียน และการมีส่วนร่วมของชุมชน ก็เป็นมิติที่สำคัญในการสร้างพลเมืองที่เป็น active and informed citizens

(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.monash.edu/education/engagement/programs/school-reviews/team/libby-tudball)


ในช่วงบ่าย Dr. David Zyngier ได้พูดถึงหลักสูตรการศึกษาเพื่อสร้างความเป็นพลเมืองของรัฐวิคตอเรีย ซึ่งเป็นหลักสูตรปรับปรุงใหม่ และเริ่มใช้ในปี 2015 ที่เรียกว่า Victorian Curriculum F-10 (ดูเพิ่มเติมได้ที่ http://victoriancurriculum.vcaa.vic.edu.au/the-humanities/civics-and-citizenship/curriculum/f-10) ตั้งแต่เกรด 3-10 โดยมีเป้าหมายของหลักสูตรเพื่อพัฒนานักเรียนให้เป็น active and informed citizens ในบริบทของประเทศออสเตรเลีย ที่เป็นประชาธิปไตย และเป็นสังคมพหุวัฒนธรรม โดยหลักสูตรประกอบด้วย 3 หน่วย คือ 1) รัฐบาล และประชาธิปไตย (Government and Democracy 2) กฎหมายและพลเมือง (Laws and Citizens) และ 3) ความเป็นพลเมือง ความหลากหลาย และอัตลักษณ์ (Citizenship, Diversity and Identity) ซึ่งมีคำแนะนำในกิจกรรม เช่น การตั้งคำถาม และวิเคราะห์ประเด็นปัญหา และนอกจากนั้นในระดับชั้นอนุบาลถึงเกรด 2 นักเรียนจะได้เรียนในโปรแกรมที่เรียกว่า Respectful relationships อันเป็นการส่งเสริมการเคารพซึ่งกันและกัน และการอยู่ร่วมกันในสังคม ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างความเป็นพลเมืองในระบอบประชาธิปไตย

(ดูเพิ่มเติมได้ที่ http://www.monash.edu/news/articles/getting-to-know…david-zyngier)


วันที่ 4 พฤษภาคม 2017

สถานที่: โรงเรียนประถม WOORANNA PARK (WOORANNA PARK PRIMARY SCHOOL)

และวันที่ทุกคนรอคอยก็มาถึง ทีมเรียนรู้ได้เดินทางไปที่โรงเรียน WOORANNA PARK PRIMARY SCHOOL ซึ่งเป็นโรงเรียนระดับประถมศึกษา และนักเรียนโรงเรียนมากกว่าร้อยละ 70 เป็นนักเรียนที่มาจากหลากหลายเชื้อชาติ การเรียนการสอนของที่นี่บูรณาการแนวคิดเรื่องการส่งเสริมความเป็นพลเมืองเข้ากับการจัดกระบวนการเรียนให้กับนักเรียนทุกระดับชั้น ตั้งแต่เดินเข้ามาก้าวแรกในโรงเรียน จนกระทั่งกลับไปที่บ้าน ผ่านการจัดพื้นที่การเรียนรู้รอบๆ ตัว เช่น การจัดพื้นที่ในห้องเรียน พื้นที่ห้องสมุด พื้นที่ห้อง IT พื้นที่ห้องศิลปะ พื้นที่ห้องนิเวศน์วิทยา สนามเด็กเล่น รวมทั้งพื้นที่ต่างๆ ที่อยู่ภายในโรงเรียน

นอกจากนี้ โรงเรียนยังมุ่งเน้นให้นักเรียนเป็นผู้เลือกเองว่าสนใจ และอยากจะเรียนรู้เรื่องอะไร โดยที่ตารางสอนของโรงเรียนจะทำการปรับเปลี่ยนทุกอาทิตย์ตามความสนใจของนักเรียน เพื่อให้นักเรียนมีทางเลือกในการเลือกเรียนรู้ตามเรื่องที่เขาสนใจ โดยที่การจัดกระบวนการเรียนรู้ของคุณครูจะมุ่งหวังให้เด็กๆ ได้เรียนรู้เกี่ยวกับตัวเอง สอนเพื่อนด้วยกันเอง เพื่อที่นักเรียนจะได้เรียนรู้ที่จะเคารพตัวเอง และเคารพผู้อื่น รู้จักรับผิดชอบต่อตนเองและผู้อื่น และเตรียมความพร้อมที่จะเติบโตขึ้นไปเป็นผู้ใหญ่ที่รับผิดชอบต่อสังคม โดยผ่านกระบวนการจัดการเรียนทั้ง การทำโครงงาน ผ่านการต่อเลโก้ (Lego) การทำกับข้าว การเล่นละคร การเลี้ยงสัตว์ การทำแปลงเกษตร เป็นต้น โดยกระบวนการต่างๆ จะให้นักเรียนทำงานกันเป็นคู่ หรือทำงานเป็นทีม ส่วนครูจะเป็นผู้อำนวยความสะดวก นักเรียนสามารถเลือกที่จะเรียนรู้ตามความต้องการของตนเองผ่านการวางแผนและเตรียมความพร้อมมาอย่างดีของคุณครู ทำให้นักเรียนอยากมาเรียน มีความสุขในการเรียน รู้จักคิดวิเคราะห์ รู้จักหาข้อมูลและใช้เหตุผลในการแก้ไขปัญหา มีความคิดสร้างสรรค์ สามารถเติบโตเป็นพลเมืองที่มีส่วนร่วมและรับผิดชอบ ในฐานะพลเมืองของสังคมโลกต่อไป (ดูเพิ่มเติมได้ที่ http://www.woorannaparkps.com.au/)

ในภาคบ่ายทีมได้ร่วมกันสะท้อนผลการเรียนรู้ร่วมกัน หลังจากนั้น Dr.David Zyngier ได้ให้ข้อมูลการประเมินผลการเรียนของนักเรียนในโรงเรียนในการทดสอบระดับชาติ ซึ่งสามารถดูข้อมูลและสถิติต่างๆ ได้จากเว็บไซต์ ซึ่งการทดสอบของนักเรียนจะเริ่มหลังจากนักเรียนเลื่อนระดับชั้น แล้ว 1 เดือนเพื่อนำผลการทดสอบมากำหนดแนวทางการพัฒนานักเรียน และได้นำเสนอข้อมูลพัฒนาการการเรียนรู้ของนักเรียนย้อนหลัง ซึ่งแม้นักเรียนจากโรงเรียน Wooranna Park จะไม่ได้พูดภาษาอังกฤษเป็นภาษาแรก และยังมาจากหลากหลายวัฒนธรรม แต่ก็สามารถค้นหาด้านที่ตนเองสนใจและสามารถพัฒนาได้จนมีผลสัมฤทธิ์อยู่ในระดับที่ดีเยี่ยม


วันที่ 5 พฤษภาคม 2017

วันสุดท้ายของการเดินทาง… เราได้เรียนรู้อะไรบ้าง?

เริ่มต้นด้วย การประมวลสิ่งที่ได้เรียนรู้ตลอด 5 วันที่ผ่านมาแล้วนำมาใช้ทำงานกลุ่มร่วมกันโดยแบ่งเป็น 2 ทีมเพื่อทดลองทำ Learning Design ภายใต้โจทย์ Museum-based Learning ออกแบบกระบวนการโดยใช้พิพิธภัณฑ์เป็นฐานการเรียนรู้เพื่อสร้างความเป็นพลเมืองแก่ผู้เรียน โดยกลุ่มแรกใช้พิพิธภัณฑ์ Aborigin Museum และอีกกลุ่มใช้ Immigration Museum เป็นแหล่งเรียนรู้และเป็นฐานในการออกแบบ ซึ่งมี 3 องค์ประกอบของกระบวนการได้แก่ Learning Outcome, Learning Activity และ LearningAssesment

การนำเสนอของทั้ง 2 กลุ่มมีความน่าสนใจในเชิงกระบวนวิธีวิทยาการสอนที่ได้ออกแบบให้ในขั้นกระบวนการก่อน ระหว่าง และหลังเข้าพิพิธภัณฑ์ ซึ่งออกแบบได้อย่างเป็นกระบวนการ และได้รับคำแนะนำเชิงวิพากษ์ที่แหลมคมจาก Dr.David Zyngier วิทยากรหลักของการดูงานอบรมครั้งนี้ ต่อการปรับปรุงพัฒนากระบวนการเรียนรู้ที่ออกแบบเพื่อนำไปประยุกต์จัดการเรียนรู้ในประเทศไทยได้จริง

กระบวนการเรียนรู้ของแต่ละกลุ่มได้เลือกสรรเนื้อหาการเรียนรู้สำคัญที่ยึดโยงจากพิพิธภัณฑ์ทั้ง 2 แห่งต่อการสร้างความเป็นพลเมืองแก่ผู้เรียน โดย กลุ่มแรกได้สร้างการเรียนรู้ผ่านเนื้อหาหัวข้อ “ประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์ Aborigin จากอดีตจนถึงปัจจุบัน” ที่นำไปสู่การเคารพความเป็นมนุษย์ สิทธิมนุษยชน และสังคมที่เป็นธรรมเป็นสุข และอีกกลุ่มได้เลือสรรเนื้อหาการเรียนรู้ในหัวข้อ “อัตลักษณ์ของเธอ ของฉันและของเรา” ผ่านเรื่องราวบนเส้นประวัติศาสตร์การอพยบของผู้คนมาเริ่มต้นชีวิตใหม่ในออสเตรเลียด้วยเหตุผลหลากหลาย และอยู่ร่วมกันด้วยอัตลักษณ์ที่หลายหลาก ซึ่งก่อให้เกิดการปฏิสัมพ้นธ์ที่ไปลดทอนความเป็นมนุษย์ของผู้อื่นผ่านอัตลักษณ์ชายขอบแต่ละกลุ่มชนให้คุณค่า เรียนรู้ที่จะเข้าใจอัตลักษณ์ที่ตนมีและเคารพอัตลักษณ์ของผู้อื่น เพื่อที่จะอยู่ร่วมกันอย่างเคารพในความเป็นมนุษย์ที่เสมอเหมือน