DCE Talk #2 ป๋วยอึ๊งภากรณ์กับทัศนะทางการศึกษา 

“การศึกษาไทยใครว่าขาดความคิดดีๆ”

1 เมษายน 2560 13:00- 17:00 น. Ease café ซอยอารีย์ เจือจิตร กรุงเทพฯ

ความเป็นมาของหนังสือ “ป๋วย อึ๊งภากรณ์กับทัศนะทางการศึกษา” 

คุณกษิดิศ อนันทนาธร ได้กล่าวถึงความเป็นมาของหนังสือ “ป๋วย อึ๊งภากรณ์กับทัศนะทางการศึกษา” ที่ถูกจัดพิมพ์ในฐานะที่ UNESCO ได้มอบรางวัลยกย่องให้อาจารย์ป๋วยมีผลงานดีเด่น ด้านการศึกษา สังคมศึกษา และมนุษย์ศาสตร์ โดยกล่าวถึงบริบทในชีวิตของอาจารย์ป๋วยว่าเป็นสิ่งสำคัญที่มีผลต่อมุมมองของการศึกษา โดยเริ่มต้นจากสมัยเด็กของอาจารย์ป๋วยที่บิดาเสียชีวิตตั้งแต่ยังเล็ก ทำให้ชีวิตจากเดิมที่เคยเป็นคนมีฐานะกลายเป็นมีฐานะยากจนลง แต่สิ่งที่มารดาของอาจารย์ต่อสู่มาโดยคตลอด คือ เรื่องการศึกษา ที่พยายามส่งให้อาจารย์ป๋วยได้รับการศึกษาที่ดีที่สุด จึงกัดฟันส่งให้เรียนโรงเรียนอัสสัมชัญ จนต่อมาได้ทำงานเป็นครูที่นั่นต่อพร้อมกับเรียนต่อที่ธรรมศาสตร์ในขณะนั้น นั่นเป็นจุดเริ่มต้นของอาจารย์ในการมองว่าการศึกษาเป็นสิ่งสำคัญในชีวิต

อีกช่วงหนึ่งในชีวิตที่คุณกษิดิศมองว่าทำให้มุมมองการศึกษาของอาจารย์เปลี่ยนอีกครั้ง คือ ช่วงที่เป็นเสรีไทยแล้วถูกชาวบ้านจับที่ชัยนาท และเป็นโอกาสที่ทำให้อาจารย์ป๋วยได้เห็นทัศนะของคนชนบทในขณะนั้น และมองเห็นความเหลื่อมล้ำบางอย่างที่มีผลต่อแนวคิดเรื่องการศึกษา ช่วงชีวิตการทำงานของอาจารย์ป๋วย ท่านไม่เคยทิ้งหน้าที่ในงานการศึกษา แม้แต่ตอนที่ต้องเลือกระหว่างงานผู้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย ก็คิดจะลาออกไปทำงานการศึกษามากกว่า ท่านจึงทำงานในฐานะอาจารย์พิเศษในธรรมศาสตร์

คุณกษิดิศพูดถึงแนวคิดการศึกษาของอาจารย์ป๋วย เริ่มต้นจากการเขียนหนังสือ “ปัญหาพลเมือง” ซึ่งเกี่ยวกับความสำคัญของคุณภาพประชากรของสังคม   โดยพูดถึงคุณสมบัติของบัณฑิตที่พึงปรารถนา ดังนั้นท่านจึงสนใจที่จะพัฒนาคุณภาพของการศึกษา เช่น การพัฒนาห้องสมุด การพยายามส่งคนไปเรียนต่อเพื่อให้นำความรู้กลับมารับใช้สังคม การทำมูลนิธิที่ชัยนาทเพื่อให้บัณฑิตได้ไปเรียนรู้ในพื้นที่ชนบทในสิ่งที่มหาวิทยาลัยไม่ได้สอน และความสำคัญในการพัฒนาการศึกษาในท้องถิ่นต่างๆ ท่านไม่เห็นด้วยกับหลักสูตรแห่งชาติที่ไม่สอดคล้องกับความต้องการในท้องถิ่นจริงๆ นอกจากนี้ยังให้ความสำคัญของการศึกษามากกว่าการที่มีความรู้เท่าทันโลก และให้ความสำคัญกับเรื่องศีลธรรม เช่น ในการปาฐกถาเกี่ยวกับเศรษฐศาสตร์ ท่านพูดถึงนักเศรษฐศาสตร์ไม่ใช่แค่เรื่องมุมมองด้านประสิทธิผลเท่านั้น แต่ต้องมีความซื่อตรง ท่านได้กล่าวถึงเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างผู้สอนและนักเรียนเกี่ยวกับการสอนศีลธรรมว่าทำอย่างไรที่ผู้สอนและผู้เรียนจะเชื่อมถึงกันได้ ในเมื่อการสอนศีลธรรมในผู้ใหญ่ไม่เคยทำให้เด็กเห็นเป็นแบบอย่าง หรือการนำหลักธรรม   พละ 5 ประการมาใช้กับเรื่องการศึกษา

อาจารย์อรรถพล อนันตวรสกุล กล่าวถึงเนื้อหาในหนังสือว่า แม้ชีวิตของอาจารย์จะไม่ได้เล่าการศึกษาผ่านมุมมองวิชาการด้านการศึกษาหรือมีงานเขียนเกี่ยวกับเรื่องการศึกษาโดยตรง แต่ก็แฝงมุมมองการศึกษาที่ผ่านมาจาก ประสบการณ์ทั้งในและต่างประเทศของท่าน ซึ่งมุมมองของท่านนั้นมีความร่วมสมัยอยู่มาก เช่น ในปาฐกถาปี 2504 ที่อาจารย์พูดการศึกษาในมุมของการตั้งคำถามกับคุณค่าการศึกษาที่แท้จริง ที่ว่าด้วยการเตรียมมนุษย์เพื่อเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ และยังพูดถึงการกระจายอำนาจการศึกษาจากรัฐสู่ความต้องการท้องถิ่น ผ่านการตั้งคำถามว่า นักเรียนต้องใช้ชีวิตในระบบโรงเรียนยาวนานจนถึงอายุ 15 ปี โดยไม่เชื่อมโยงกับชุมชนของ ซึ่ง 15 ปีนั้นยาวนานมาก และเป็นปัญหาต่อการใช้ชีวิตของเด็ก อาจารย์ป๋วยมองว่าการจัดศึกษาในโรงเรียนต้องตอบโจทย์ของท้องถิ่น ซึ่งนี้ นำไปสู่ quote ที่สำคัญของอาจารย์ป๋วย อย่าง “การศึกษาที่เริ่มต้นที่ผู้เรียนและจบลงที่ผู้เรียน” ซึ่งอาจารย์ป๋วยพูดถึงเรื่องนี้ไว้ตั้งแต่ก่อนที่เราจะพูดเรื่องนี้ในระบบการศึกษาตอนปี 2542 โดยมุมมองของอาจารย์ป๋วยต่อเรื่องการศึกษาหลักๆนั้นมีอยู่ 3 เรื่อง คือ

1) ความหมายของการศึกษา ว่าการศึกษานั้นมีไปพื่ออะไร อย่างคำที่พูดในหนังสือว่า “เรียนเพื่อสอบ สอบเพื่อเรียน หรือ เรียนเพื่อเรียน”

2) บทบาทของอาจารย์ คือ ไม่ใช่แค่การสร้างความเป็นเลิศทางวิชาการ แต่เป็นการสร้างบัณฑิตที่เป็นเลิศที่รับใช้สังคม ดังนั้นจึงให้ความสำคัญมากกับการพานักศึกษาออกสู่ชนบทเจอและเรียนรู้กับชาวบ้าน

3) การศึกษาตลอดชีวิต ในยุคที่ไม่มีคนสนใจในเรื่องนี้มาก อาจารย์ป๋วยเป็นคนที่พยายามหาหนังสือที่มีคุณภาพเข้าห้องสมุดเสมอทั้งๆที่ในยุคนั้นหนังสือเป็นสิ่งที่หายาก แนวคิด informal learning หรือศึกษาด้วยตัวเองนั้นมาจากประสบการณ์การเรียนต่อของอาจารย์ที่อังกฤษ

สุดท้าย อาจารย์อรรถพล กล่าวว่า Political View แบบที่อาจารย์ป๋วยมองเห็นนั้นไม่เกิดขึ้นจริงเลย ในวงการศึกษาไทย แต่ถูกพาไปสู่การศึกษาแบบขวาที่รวมศูนย์ไปอย่างยาวนาน จนมาถึงปี 2521-2524 และ2533 ที่พาการศึกษาไปสุดทางในฐานะเครื่องมือที่ใช้เตรียมแรงงานสู่ระบบและการแข่งขันทางเศรษฐกิจ จึงไม่มีแนวคิดของการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ขณะที่การศึกษาของฟินแลนด์ใช้เวลาในช่วงเดียวกันไปกับการลดช่องว่างการศึกษาและใช้เวลายาวนานกว่า 40 ปี และเริ่มต้นหลังอาจารย์ป๋วยพูดถึงเรื่องนี้เสียอีก กว่าที่เราจะเริ่มตระหนักเรื่องนี้ ก็ช่วงหลังปี 2542 ไปแล้ว และเพิ่งเริ่มต้นพูดถึงการมีหลักสูตรท้องถิ่นในปี 2544 ซึ่งแนวคิดพวกนี้ของอาจารย์ป๋วย ไม่มีการถูกพูดถึงหรือรับรู้เลย หากไม่มีคนคอยรวบรวมเอาไว้หรือมีกระแสของ UNESCO ที่มอบรางวัลให้ขึ้นมาในช่วงนี้ มุมมองดีๆเหล่านี้ที่ของอาจารย์ป๋วยเรื่องการศึกษาก็จะไม่ถูกรับรู้ และโดนการเมืองในปัจจุบันถูกกลบไป

เวลาเราพูดเรื่องการสอบ O-net มีปัญหา ทำไมการศึกษาเริ่มปล่อยปะละเลยเด็กให้กลายเป็นผู้แพ้ในระบบและหาตนเองไม่เจอว่าตัวเองเป็นใคร ไม่มีทักษะชีวิตเมื่อออกจาการศึกษาก็พึ่งตัวเองไม่ได้ รวมถึงการสร้างค่านิยมของสังคมที่ต้องจบปริญญาที่สุดท้ายไม่ตอบโจทย์ที่สังคมต้องการ หรือจากข่าวที่บัณฑิตจบปริญญาแต่ตกงานจำนวนมาก ทั้งที่ตำแหน่งงานในระดับ ปวช. ในตลาดแรงงานนั้นขาดแคลนมาก ซึ่งปัญหาเหล่านี้อาจารย์ป๋วยได้พูดถึงไว้เมื่อหลายสิบปีที่แล้ว สิ่งที่อาจารย์ป๋วยพูดคือประสบการณ์ของท่าน ณ ช่วงเวลานั้น นั้นแปลว่าปัญหาการศึกษาเดิมๆของไทยมีมานานแล้วและยังคงมีอยู่ สุดท้ายอาจารย์อรรถพลชวนตั้งคำถามทิ้งท้ายว่าทำไมสิ่งที่อาจารย์ป๋วยคิดยังคงร่วมสมัยกับการศึกษาปัจจุบันได้


ช่วงแลกเปลี่ยน

  • ในช่วงแลกเปลี่ยนผู้เข้าร่วมได้ตั้งคำถามถึงปัญหาการศึกษาว่า ตลอดเวลาที่ผ่านมานี้ การศึกษานั้นเป็นไปเพื่อใคร โดยผู้เข้าร่วมมองว่าการศึกษาถือเป็นเครื่องมือทางการเมืองที่ต้องตั้งคำถามว่าใครเป็นเจ้าของการศึกษาและใช้เพื่อประโยชน์ของใคร
  • มองว่าการมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา นั่นเป็นเรื่องสำคัญ ในหลายประเทศการศึกษาจะต้องถูกจัดในท้องถิ่นคู่ขนานกับรัฐ เช่น ฟินแลนด์ จัดผ่านสภาท้องถิ่น หรือ แม้แต่ประเทศที่เป็นรวมศูนย์แบบสิงคโปร์เอง การจัดการศึกษาก็ยังต้องมีกลไกการมีส่วนร่วมบางกับ ครู และคนที่ทำงานการศึกษา ดังนั้นความสำคัญในการจัดการศึกษาให้ดีนั้นจะต้องมีกลไกการตัดสินใจร่วมกัน และคืนความเป็นเจ้าของให้คนมีส่วนร่วม ซึ่งต่างจากไทยที่พยายามรวมศูนย์มากขึ้นใน 4-5 ปีนี้
  • ผู้เข้าร่วมเล่าถึงประสบการณ์ทำงานของตนในการลงพื้นที่ว่า ได้เห็นโมเดลการจัดการศึกษาท้องถิ่นที่เพชรบุรีที่ประสบความสำเร็จ จากการตั้งคำถามของครูในพื้นที่ที่ตั้งคำถามว่าการศึกษาที่ผลิตคนหนุ่มสาวออกไปทำงานในเมืองจนเหลือแต่คนแก่และเด็กนั้นได้ให้อะไรกับท้องถิ่นบ้าง จนตัดสินใจลาออกมาทำการศึกษาในท้องถิ่น มองหาเรื่องราว คุณค่า และอาชีพเดิมๆในบ้านและชุมชนตัวเองเพื่อให้เด็กในพื้นที่เห็น ซึ่งกระตุ้นให้เด็กนสนใจการเรียนรู้จากสิ่งที่ชีวิตของตนเองเชื่อมโยงและได้ลงมือทำร่วมกัน จนอยากทำอะไรให้ท้องถิ่น เกิดเป็นพื้นที่เพชรบุรีดีจัง
  • มองว่าหน่วยรัฐของไทย ยังเป็นปัญหา หลายท้องถิ่นที่เริ่มไปได้ด้วยดีและแสดงให้เห็นว่ามีต้นทุนพอจะจัดการได้ แม้จะมีตัวอย่างที่สำเร็จเยอะ แต่รัฐก็ไม่เคยเชื่อใจ พอเริ่มสำเร็จ หน่วยงานรัฐเริ่มมาตั้งศูนย์ หรือมาทำเองก็จะมีปัญหา เพราะเกิดจากการมาพยายามทำตัวเป็นเจ้าของของรัฐ ลดการมีส่วนร่วมลง และผูกติดความรับผิดชอบกับผู้มีอำนาจแค่ไม่กี่คน ทั้งที่ในท้องถิ่นที่หลายหลาย ไม่มีทางที่รัฐจะเข้าใจหรือตอบสนองต่อความต้องการทั้งหมดได้
  • เรื่องการถ่ายโอนการศึกษาให้ท้องถิ่นมีทั้งตัวอย่างที่ดีและไม่ดี ตัวอย่างที่ดี คือ ท้องถิ่นเข้าใจและสนับสนุนให้ครูจัดการศึกษาที่มีคุณภาพและตอบโจทย์ท้องถิ่นได้จริง ครูมีความภูมิใจที่ได้ทำงานกับท้องถิ่น และเล่าว่าเมื่อไปดูงานก็ได้ตั้งใจดูงานเพื่อนำมาใช้จริงๆ ต่างจากการไปดูงานกับส่วนกลางในอดีต แต่ในกลุ่มตัวอย่างที่ไม่ดี คือ ท้องถิ่นไม่เข้าใจ ไม่ได้ให้ความร่วมมือ และถ้าเข้าใจผิดก็อาจจะจัดไปในแนวการศึกษาที่ไม่ถูกต้องได้ อาจารย์อรรถพลมองว่า การจัดการศึกษาท้องถิ่นจึงไม่ใช่ทางสุดโต่งขนาดทิ้งภาครัฐไปจัดเอง แต่การสร้างการมีส่วนร่วมกัน
  • กล่าวถึงระบบเศรษฐกิจ ในบทบาทที่มาเปลี่ยนแปลงปรัชญาการศึกษา ทำให้การศึกษากลายเป็นสินค้า ไม่ว่าการสร้างหลักสูตรตอบสนองกลุ่มคนที่มีรายได้ต่างกัน การวัดผลด้วยคะแนนสอบที่พยายามคัดแยกคน การเข้าถึงการศึกษาที่จำกัดด้วยฐานะ ควรเป็นโจทย์ที่ถูกคุยในเรื่องการศึกษา ทำให้ทุกวันนี้การศึกษากลายเป็นอุตสาหกรรมแบบหนึ่งที่ใช้เป็นบันไดเลื่อนฐานะ
  • มีความกังวลถึงมาตรฐานการศึกษา SCQA ที่เป็นตัวชี้วัดที่มาจากเอกชน แนวทางคล้ายการตรวจสอบคุณภาพสินค้า เหมือนให้การศึกษาเป็นสินค้า ซึ่งสร้างความน่ากังวลใจตั้งแต่การโกงกันเพื่อให้ผ่านมาตรฐาน การทำให้โรงเรียนแข่งขันมากกว่าการร่วมมือทำให้ไม่เกิดภาคีการศึกษาที่ช่วยกันให้การศึกษามีคุณภาพดีต่อตัวผู้เรียน เกิดการทำทุกอย่างให้มาตรฐานคะแนนสูงขึ้นเพื่อชิงคนที่มาเข้าเรียน เช่นการทำให้เด็กบางกลุ่มไม่ไปสอบเพื่อยกคะแนนเฉลี่ยโรงเรียน สุดท้ายคือประสบการณ์ที่ครูได้เห็นผู้บริหารพูดถึงหลักสูตรของตัวเองว่าเป็นสินค้า และนักเรียนเป็นลูกค้า และเริ่มเลือกปฏิบัติดีๆกับนักเรียนที่เรียนในหลักสูตรที่แพงๆ และไม่สนใจนักเรียนที่เรียนทั่วๆไป

ดาวน์โหลด PDF บทความได้ที่นี่