วามเสมอภาคทางเพศกับการพัฒนาสังคมในฟินแลนด์

กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ (นักวิชาการอิสระ), 10 Mar 2017

หนังสือชื่อ Through Finland in Carts โดย Mrs. Alec Tweedie ตีพิมพ์เมื่อปี 1913 เป็นบันทึกการเดินทางของ Mrs. Alec จากอังกฤษที่เข้ามาสำรวจฟินแลนด์ในยุคนั้น เธอเขียนเล่าเรื่องราวความเท่าเทียมทางเพศของฟินแลนด์ไว้ในตอนหนึ่งว่า

There is no sex question in Finland, men and women are practically equals, and on that basis society is formed.

คำถามเรื่องเพศเป็นข้อที่ไม่จำเป็นในฟินแลนด์ ในทางปฏิบัติแล้วหญิงและชายนั้นเท่าเทียมกัน และสังคม [ฟินแลนด์] ก็ถูกสร้างขึ้นมาด้วยรากฐานนี้

จาก หนังสือชื่อ Through Finland in Carts โดย Mrs. Alec Tweedie

ค.ศ.1835 ฟินแลนด์ตีพิมพ์ “Kalevala” หรือ “กาเลวาลา” โดยกวีแห่งชาติอย่าง Elias Lönnrot หรือ เอเลียส เลินร็อต ซึ่งถือเป็นวรรณกรรมชิ้นเอกว่าด้วยเรื่องเล่า เทพปกรณัม และตำนานต่าง ๆ งานชิ้นนี้มีผลต่ออัตลักษณ์ความเป็นชาติฟินแลนด์ในยุคต่อมาอย่างยิ่ง ในเรื่องประกอบไปด้วยตัวละครมากมาย และแฝงเรื่องราวชีวิตประจำวันของคนในสมัยนั้น เช่น Seppo Imarinen หรือ เซ็ปโปะ อิลมาริเน็น วีรบุรุษคนหนึ่งผู้ซึ่งเป็นเหมือนผู้สร้างสรรพสิ่งต่าง ๆ และแม้มีพลังพิเศษมากมาย เขาเองก็ยังต้องออกตามหาภรรยา โดยในตอนหนึ่งของบทกวี มีการสั่งสอนถึงวิธีที่เขาควรปฏิบัติต่อภรรยาในอนาคตของเขา เช่น บทที่ 24 ได้กล่าวไว้ว่า “จงยกย่องนางให้บิดาของเจ้าได้ยิน ยกย่องความดีของนางแก่มารดาของเจ้า อย่าปล่อยให้ภรรยาสาวของเจ้าทนทุกข์ทรมาน อย่าทอดทิ้งนางอย่างปล่อยให้นางนั่งอยู่เพียงลำพังในความมืด” เหล่านี้แสดงให้เห็นว่านอกจากสามีควรต้องดูแลภรรยาแล้ว เขายังต้องเคารพศักดิ์ศรีและให้เกียรติคู่ชีวิตตนเองกับคนในครอบครัวและคนอื่น ๆ ด้วย

ผู้หญิงฟินแลนด์สามารถฝ่าฟันอุปสรรคอันยากลำบากได้

แม้ว่าวรรณกรรมเรื่องนี้ยังคงสะท้อนถึงสังคมที่ชายเป็นใหญ่อยู่พอสมควร วีรสตรีสำคัญยังคงต้องดำรงสถานะแม่ที่ต้องพึ่งพาบุรุษเพื่อให้ได้มาซึ่งการยอมรับ แต่ตัวละครหญิงตัวหนึ่งก็แสดงให้เห็นว่าเธอสามารถฝ่าฟันความยากลำบากต่าง  ๆ มาได้ด้วยตัวเอง ทั้งความสามารถในการวางแผนและพละกำลังในการฝ่าฟันอุปสรรคอย่างการใช้คราดควานหาลูกชายในลำธารแห่งความตายดำดิ่งลึกลงไปจนสุดพื้นลำธารจนได้พบตัวลูกชายของเธอ ตัวละครตัวนี้คือแม่ของ Lemminkäinen หรือ เล็มมินไกเน็น เขาเป็นชายรูปงามที่พลาดท่าตายเสียก่อนจากการพยายามต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งภรรยา แม่ของเขาถือเป็นภาพตัวแทนของหญิงที่แข็งแกร่งในวัฒนธรรมฟินแลนด์ เธอบุกขึ้นสวรรค์และลงนรกเพื่อตามหาลูกชาย และเมื่อเธอพบศพลูกชายที่เหลือเป็นชิ้น ๆ เธอเป็นผู้เย็บต่อชิ้นส่วนเหล่านั้นกลับเข้าด้วยกันเพื่อมอบเป็นบรรณาการให้เหล่าพระเจ้า จนในที่สุดเธอก็สามารถปลุกลูกชายให้ฟื้นจากความตาย ถึงแม้เขาจะได้ชีวิตกลับคืนมาแต่กลับพูดไม่ได้ หูหนวก ตาบอด เป็นใบ้ แม่คนนี้ก็ดั้นด้นออกตามหาขี้ผึ้งที่ช่วยรักษาเขาให้ได้กลับคืนชีพอย่างสมบูรณ์ในที่สุด ภาพแม่ของ Lemmikäinen นี้เอง ได้กลายมาเป็นงานชิ้นเอกของศิลปินคนสำคัญของฟินแลนด์อย่าง Akseli Gallen-Kallela หรือ อักเซลลิ กัลเล็น-กัลเลลาที่ถูกวาดขึ้นในปี ค.ศ.1897 โดยใช้ชื่อภาพว่า Lemminkäisen äiti หรือ มารดาของเล็มมินไกเน็น

นอกจากนี้ ศาสนาประจำชาติอย่างศาสนาคริสต์นิกายลูเทอร์รันที่รับมาจากวัฒนธรรมสวีเดนยังอนุญาตให้ผู้หญิงบวชเป็นพระได้ พร้อมกันนั้นผู้หญิงฟินแลนด์ในปลายศตวรรษที่ 17 ก็ต้องจ่ายภาษีหากประกอบอาชีพการช่างต่าง ๆ และยุคถัดมาหญิงที่ได้จ่ายภาษีแล้วนั้นก็เริ่มเรียกร้องการปฏิวัติด้านความเท่าเทียมทางเพศให้ผู้หญิงในส่วนอื่น ๆ ของสังคม เหล่านี้ถือเป็นอีกส่วนหนึ่งที่สำคัญในการสร้างรากฐานความเท่าเทียมทางเพศของฟินแลนด์

ผลของความพยายามดังกล่าวทำให้ต่อมาฟินแลนด์ได้มอบสิทธิพื้นฐานให้กับผู้หญิงได้เข้าถึงทรัพยากรต่าง ๆ เท่าเทียมกับเพศชาย เช่นเมื่อ ค.ศ.1878 ฟินแลนด์ออกกฎหมายมรดกที่ลูกชายและลูกสาวจะได้รับแบ่งมรดกเป็นจำนวนเท่า ๆ กัน

และเมื่อ 111 ปีที่แล้ว ค.ศ.1906 รัฐสภาฟินแลนด์เป็นรัฐสภาแห่งแรกของโลกที่รับหลักการความเท่าเทียมกันทั้งในสิทธิที่ผู้หญิงจะได้รับในการลงเลือกตั้ง และการเข้าคูหาเลือกตั้ง ปีถัดมามีผู้หญิงจำนวน 19 คนจากที่นั่งในสภาทั้งหมด 200 นั่ง ปัจจุบันมีผู้หญิงกว่าร้อยละ 40 ในสภาฟินแลนด์

ส่วนในงานด้านการทูตนั้นมีเอกอัครราชทูตฟินแลนด์ที่เป็นผู้หญิงประมาณร้อยละ 45

ฟินแลนด์มองเสมอว่าสถานะของผู้หญิงที่เท่าเทียมกับผู้ชายโดยแท้จะนำมาซึ่งความเท่าเทียมในสังคม ดังเช่นกฎหมายแรงงานที่ออกในปี ค.ศ.1917 ที่อนุญาตให้ผู้หญิงลาคลอดได้เป็นเวลา 4 อาทิตย์ และปัจจุบันนี้การลาคลอดก็สามารถทำได้ถึงเกือบหนึ่งปี และพ่อก็สามารถใช้สิทธินี้ได้เช่นกัน

100 กว่าปีผ่านไป ผู้หญิงในฟินแลนด์ได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมมากขึ้นตามตัวบทกฎหมายที่ให้สิทธิพวกเธอมากขึ้น น่าคิดว่า ท้ายที่สุดแล้วความเท่าเทียมทางเพศที่ฟินแลนด์มองหาในอนาคต จะใช่การทำให้ความเป็นหญิงและชายพร่าเลือนไปเรื่อย ๆ และมอบกฎหมายที่มองมนุษยเป็นคนเหมือนกันไม่ว่าจะอยู่ในสถานะเพศใดให้แก่ประชากรของตนเองหรือไม่

I do not wish [women] to have power over men; but over themselves

Mary Wollstonecraft


กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ ‘ครูจุ๊ย’ นักวิชาการอิสระ เคยมีประสบการณ์ด้านการศึกษาจากฟินแลนด์ ประเทศที่ได้ชื่อว่ามีความก้าวหน้าด้านการเรียนรู้ในโลกสมัยใหม่ ตลอดจนมีโอกาสไปค้นคุ้ยตำราเรียนของเกาหลีเหนือ ในคอลัมน์ ‘เล่า/เรียน’ ครูจุ๊ย คุณครูสาวพร้อมแว่นสีสด จะ ‘เล่า’ เรื่องราวในห้องเรียน สถานที่แลกเปลี่ยนความรู้ของเด็กและครู ให้ผู้อ่านได้ ‘เรียน’ ไปพร้อมๆ กัน http://waymagazine.org/classroom04/

ดาวน์โหลด PDF บทความได้ที่นี่