“ความเสมอภาคทางเพศ” เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่สำคัญในการสร้างสังคมที่มุ่งเน้นความเป็นธรรม

วันนี้ Thai Civic Education ได้สัมภาษณ์ “ครูดรีม” หนึ่งในเครือข่ายครูที่ได้รับการอบรมเชิงปฏิบัติการวิทยากรกระบวนการ รุ่นที่ 3 ถึงมุมมองเกี่ยวกับความเสมอภาคทางเพศในสังคมครูไทย และแนวคิดการจัดการเรียนรู้ที่จะนำพาผู้เรียนไปสู่ความเข้าใจเรื่องประเด็นความเสมอภาคทางเพศ

ในสังคมครูไทย ให้ความสำคัญกับเรื่องความเสมอภาคทางเพศมากน้อยแค่ไหน ส่วนตัวแล้วมีมุมมองอย่างไรกับเรื่องนี้????

ครูดรีม: เรื่องความเสมอภาคทางเพศในสังคมครูไทย ก็ให้ความสำคัญในระดับนึง โดยเฉพาะในเรื่องของการยอมรับความหลากหลายเพศและความเสมอภาคในทุก ๆ เพศ เช่น คุณครูที่เป็นเพศทางเลือกสามารถแต่งตัวตามเพศสภาพได้

แต่ด้วยอาชีพครูที่สังคมมองว่าคือแม่พิมพ์ คือต้นแบบ ความหลากหลายทางเพศหรือการแสดงออกต่าง ๆ มักมีกรอบเรื่องความเหมาะสมเป็นตัวกำกับมากบ้างน้อยบ้าง ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับแต่ละสังคม แต่ละโรงเรียน

ส่วนตัวมองว่าการยอมรับความแตกต่างทางเพศเป็นสิ่งสำคัญในสังคมครูไทยเพราะครูคือผู้ถ่ายทอดกรอบความคิด ค่านิยมต่าง ๆ แก่นักเรียน ถ้าครูให้ความสำคัญเรื่องนี้มากขึ้นในอนาคตก็จะสร้างพลเมืองที่ตระหนักถึงความสเสมอภาคทางเพศได้มากขึ้นด้วย

แล้วจะสอนเรื่องความเสมอภาคทางเพศในห้องเรียนได้อย่างไรบ้าง??

ครูดรีม: สิ่งที่สำคัญที่สุดในการสอนนักเรียนเรื่องความเสมอภาคทางเพศต้องเริ่มการปรับกรอบความคิด (Mindset) ของครูก่อนว่าให้ความเสมอภาคทางเพศหรือยัง? ถ้าครูสามารถก้าวข้ามจุดนี้ไปได้ ไม่มีการแขวนป้ายว่าเพศนี้ต้องทำแบบนี้ เพศนี้จะทำแบบนี้ไม่ได้ จะทำให้กระบวนการจัดการเรียนรู้ก็จะสะท้อนถึงความเสมอภาคทางเพศมากขึ้น

โดยการจัดการเรียนรู้นั้น ครูต้องทำให้เห็นว่าทุกเพศมีความสำคัญอย่างเสมอภาคกัน ให้ทุกเพศได้แสดงความสามารถของตนเองอย่างเหมาะสม ไม่ทำให้นักเรียนรู้สึกว่าเพศใดได้เปรียบเสียเปรียบ หรือรู้สึกอึดอัดในการแสดงเพศสภาพของตนเองออกมา เสริมสร้างให้นักเรียนเรียนรู้ เข้าใจและยอมรับซึ่งกันและกัน