โดย ผศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี บทความจากเวทีอบรมพัฒนา “ครูกับการสร้างพลเมืองประชาธิปไตย” ณ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วันที่ 23-26 กรกฎาคม 2561

ชีวิตที่ดีคืออะไร?

ถ้าเราขยัน ซื่อสัตย์ ประหยัด อดทน เราจะมีชีวิตที่ดีได้จริง ๆ หรือ? หากมองให้ดีเราอาจจะเห็นได้ว่าภายใต้เงื่อนไขทางเศรษฐกิจและการเมืองในยุคปัจจุบัน อาจมีคนกลุ่มหนึ่งที่ไม่จำเป็นต้องใช้ชีวิตตามเงื่อนไขข้างต้นนี้ และจะยังมี “ชีวิตที่ดี” และคงสถานภาพทางสังคมที่เป็นอมตะอยู่เสมอ

ความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรมทางสังคมนั้นมีอยู่จริง และมีรากฐานฝังลึกมาจากระบบเศรษฐกิจและการเมืองในไทย เราได้ตั้งคำถามกันอยู่หรือไม่ว่าชีวิตที่ดีและชีวิตที่เราต้องการมีหน้าตาแบบไหน และสอดคล้องกับสังคมที่เราอยู่หรือไม่ เราอาจจำเป็นต้องสร้างความคิดชุดใหม่ที่ว่าความเสมอภาคและการเห็นค่าความเป็นมนุษย์ที่เท่ากันคือความสำคัญพื้นฐานที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ในสังคม

ความน่ากลัวของระบบเสรีนิยมใหม่ (Neoliberalism)

เมื่อเงื่อนไขทางเศรษฐกิจและการเมืองมีผลกับความสัมพันธ์ของคนในสังคมเสมอ การเติบโตของโลกทุนนิยมเสรีสมัยใหม่ ทำให้เราเข้าใจไปว่าการมีชีวิตที่ดีคือการแสวงหาสิ่งที่ดีให้กับชีวิต สิ่งดีที่ว่านั้นต้องได้รับการสรรหามาจากบรรทัดฐานของชีวิตที่สูงขึ้น ของดีจึงจำเป็นต้องมีราคาแพงหน่อย และหากเราอยากได้มาอยู่ในครอบครองก็ต้องมีเงินซื้อมา

การเติบโตของทุนนิยมเสรีกำลังครอบงำเรา ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มทุนการเงิน กลุ่มทุนโรงพยาบาล ต่างก็ทำให้ประชาชนอย่างเราต้องแบกรับกับความเปราะบางของชีวิต และความเสี่ยงทุกอย่าง ทำให้เรารู้สึก “ไม่พอ” ตลอดเวลา และต้องคอยพัฒนาตัวเองให้มากขึ้นเพื่อตอบสนองกับการมีที่ยืนในสังคมที่นับวันก็มีแต่การแข่งขันที่สูงขึ้น

ต้นกำเนิดของระบบเสรีนิยมแบบใหม่ให้ข้อโต้แย้งว่า ประชาธิปไตย ความเป็นธรรม และสิทธิพลเมือง มีความแพงเกินไป รัฐจึงจำเป็นต้องเปลี่ยนประชาชนให้เป็นผู้ประกอบการเสียแทน การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ สร้างรูปแบบ
การกู้ยืมเงินเพื่อการศึกษา (กยศ.) เพื่อให้ประชาชนของประเทศแบกรับความเสี่ยงด้วยตัวเอง การที่มหาวิทยาลัยออกมานอกระบบเพื่อจัดการตัวเอง การเติบโตของบรรษัทข้ามชาติ ฯลฯ ปรากฏการณ์ทางสังคมต่าง ๆ เหล่านี้ คือการเดินทางตามนโยบายของระบบเศรษฐกิจทุนนิยมเสรีใหม่ สิ่งที่ตามมาคือการจ้างแรงงานด้วยค่าแรงขั้นต่ำ เกิดกลุ่มแรงงานข้ามชาติ และผู้ใช้แรงงานที่ไม่ได้รับการคุ้มครอง

ระบบทุนนิยมสุดขั้วหรือระบบเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมใหม่นี้ เปลี่ยนสภาพจาก welfare state ที่รัฐจัดหาสวัสดิการต่าง ๆ ให้กับประชาชนในฐานะสิทธิ ไปสู่ workfare state ซึ่งผลตอบแทนที่เป็นตัวเงินจากการขวนขวายพยายามในการประกอบการของประชาชนถูกนำไปซื้อสิทธิและสวัสดิการต่าง ๆ ที่จำเป็นด้วยตัวของประชาชนเอง บทบาทความรับผิดชอบของรัฐถูกลดลง และผลักความรับผิดชอบนี้ให้เป็นเรื่องส่วนบุคคลมากขึ้น

เห็นได้ชัดว่า “การควบคุม” ในสังคมประชาธิปไตยแบบเสรีนิยมใหม่นี้ปล้นชิงความเป็นมนุษย์ไปจากเรา ทำให้มนุษย์มีชีวิตเพียงมิติเดียว และผลิตซ้ำวาทกรรมความเหลือมล้ำอย่างไม่มีที่สิ้นสุด

ภาวะที่เกิดขึ้นจากโลกเสรีนิยมสมัยใหม่ คือการยอมจำนนต่อสภาพที่เป็นอยู่ และการใช้ชีวิตในลักษณะที่หมดความหวังต่อทางเลือกอื่น ๆ ในชีวิต ก่อให้เกิดสภาวะที่เป็นอันตรายต่าง ๆ ของความเป็นมนุษย์ เช่น

  • ภาวะการเป็นปัจเจกนิยมแบบสุดขั้ว (Individualism) ความคิดที่เข้าใจว่าไม่มีใครสามารถดูแลเราได้ นอกจากตัวเราเอง ดังนั้นเราต้องพึ่งตัวเองก่อน คิดถึงแต่ตัวเองก่อน
  • ภาวะถูกแยกขาดจากสังคม (Social Disintegration) ความรู้สึกแปลกแยกจากความเป็นส่วนหนึ่งของสังคม โดดเดี่ยวเดียวดาย ใช้ชีวิตโดยมี social media เข้ามามีส่วนช่วยให้เราอยู่ในชุมชนจินตนาการของเรามากขึ้น หล่อหลอมความแปลกแยกที่มีต่อสังคม ผสมผสานทั้งความจริงและไม่จริงของชีวิต เปรียบเทียบชีวิตตัวเองกับโลกภายนอกตลอดเวลา แต่ไม่รู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของสังคมใดเลย
  • การขูดรีดต่อชีวิตตัวเองแบบล้นเกิน (Overexploitation) ตัวอย่างเช่นชีวิตของมนุษย์ freelance ที่ต้องมุ่งมั่นปั่นงานตลอดเวลา ทำงานอย่างไม่ได้หยุดพัก จนไม่สามารถหาจุดแห่งความพอดีของชีวิตได้
    การขูดรีดกับตัวเองเช่นนี้ยังไม่เป็นเรื่องที่ผิดกฎหมายเสียด้วย ปัจเจกจึงใช้ชีวิตที่ขูดรีดตัวเองเช่นนี้มากขึ้นทุกวัน ๆ

สภาพสังคมที่อันตรายเช่นนี้ยังส่งผลให้คนรุ่นใหม่มีอารมณ์ที่รุนแรงมากต่อความล้มเหลว อาจไม่ได้คิดว่าต้องสำเร็จตลอดเวลา แต่มีการตระหนักถึงโลกแห่งความเป็นจริงมากขึ้นว่าถ้าเขาล้มเหลวจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง พ่อแม่จะเป็นอย่างไร โลกที่ช่างโหดร้ายนี้จะปฏิบัติต่อเขาอย่างไร จมอยู่ในความคิดที่ว่าเราไม่สามารถเปลี่ยนงานได้ เป็นการถูกจองจำอยู่ในสภาพเดิมของชีวิตไปเรื่อย ๆ ผู้คนต้องแบกรับความเสี่ยงในชีวิตที่เพิ่มมากขึ้น

หัวใจสำคัญที่หล่อเลี้ยงระบบนี้คือ หนี้ ที่มาจากความพยายามในการใช้ชีวิตขั้นพื้นฐานของสังคมเสรีนิยมใหม่นี้ที่ทำให้คนเป็นนักอนุรักษ์นิยมโดยธรรมชาติ เป็นสังคมที่ทำให้ไม่ถูกตั้งคำถามด้วยความรู้สึกที่เรา “ถูกกักขัง” อยู่ และหนีไปไหนไม่ได้

ข้อเสนอทางออก จากแนวคิดแบบรัฐสวัสดิการ ด้วยหลักของความเสมอภาค

รัฐเสรีนิยมสมัยใหม่แสดงให้เห็นแล้วว่าแม้เศรษฐกิจจะฟื้นตัว แต่ความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นก็ไม่เคยกระจายได้ทั่วถึงคนทั้งประเทศ มีเพียงคน 1% ของประเทศที่ครอบครองทรัพย์สินทั้งประเทศกว่า 80% ในปัจจุบัน โครงสร้างทางเศรษฐกิจที่เข้มแข็งขึ้น ทำให้ชนชั้นล่างต้องรับภาระจ่ายมากยิ่งขึ้น เกิดความเหลื่อมล้ำมากขึ้น เป็นสังคมที่แปลกแยกมากขึ้น เราก็ไม่รู้ว่าชีวิตเป็นของเราเอง เวลาว่างก็ไม่รู้สึกว่า​ “เราพอ” เราต้องพัฒนาตัวเองตลอดเวลา เกิดเป็นสังคมทารก (infantalization) ที่คิดว่าเราอ่อนแอ คิดถึงแต่ตัวเอง สังคมที่รู้สึกผิด เครียด เหนื่อยล้า สิ้นหวัง (เลี้ยงพ่อแม่ได้ไม่ดี) สังคมที่ถวิลหา (who need me?) แม้ว่าเราจะมีเสรีภาพแต่ก็ไม่รู้จะเปลี่ยนแปลงได้ยังไง

รัฐสวัสดิการ ถ้วนหน้าครบวงจร คือฉันทามติให้รัฐต้องมีอยู่เพื่อดูแลประชาชน เราจำเป็นต้องมีรัฐสวัสดิการ เพื่อความเสมอภาคในการดำรงอยู่ในฐานะมนุษย์ที่เท่าเทียมกัน ยกตัวอย่างจากประเทศสวีเดน ที่ในปี 1940 เปลี่ยนไปเป็นรัฐสวัสดิการ เพียงภายในไม่กี่ทศวรรษกลายเป็นประเทศที่มีความมั่งคั่ง ประชากรมีสภาพความเป็นอยู่ที่ดีที่สุดประเทศหนึ่ง ประเทศสวีเดนต่อสู้กับ Artificial Intelligence ด้วยการสร้างห้องสมุด ให้คนมีเวลา ให้คนว่าง และมีปฏิสัมพันธ์กันมากพอ มีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการเก็บภาษีที่ไม่เอื้อประโยชน์ให้ชนชั้นบนเช่นกลุ่มทุนใหญ่ แต่ต้องมากระจายรายได้ให้ชนชั้นล่างมากขึ้น

ระบบรัฐสวัสดิการแบบถ้วนหน้าอาจจะสร้างบรรทัดฐานใหม่ในสังคม ยืนยันว่าช่วยสร้างความมั่นคงของมนุษย์ให้เพิ่มมากขึ้น สร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจได้ และประชาชนสามารถทำตามความฝัน ทำสิ่งที่อยากทำได้มากขึ้น

ดาวน์โหลด pdf

จดบันทึกแบบภาพ โดย ชลิพา จาก Inskru -พื้นที่แบ่งปันไอเดียการสอน

จดบันทึกโดย นพวรรณ เลิศธารากุล