27 พฤษภาคม 2564 เวลา 15.00-16.30 น. มีการจัดเวทีสัมมนาวิชาการผ่านช่องทางออนไลน์ของเครือข่าย Thai Civic Education
.
โดยนำผลสรุปของโครงการ “การศึกษาวิเคราะห์เนื้อหาเพื่อออกแบบสื่อส่งเสริมการเรียนรู้และพัฒนาการเด็กและวัยรุ่น เพื่อความเป็นพลเมืองในยุคดิจิทัล” มานำเสนอเพื่อเผยแพร่ผลลัพธ์ของงานการศึกษาแก่สาธารณะว่า กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์จะมีส่วนสร้างความเป็นพลเมืองในยุคดิจิทัลของวัยรุ่นได้อย่างไร ท่ามกลางวิกฤตการช่วงชิงความหมายของคำว่าพลเมืองตามค่านิยม 12 ประการ และความเป็นพลเมืองในโลกสากล
.
โดยมี ผศ.ดร.มรรยาท อัครจันทโชติ จากภาควิชาการสื่อสารมวลชน คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, คุณนานา วิภาพรรณ วงษ์สว่าง ผู้ก่อตั้ง Thaiconsent.in.th และนักออกแบบเพื่อการแก้ปัญหาสังคม, ครูโอ ปราศรัย เจตสันติ์ เครือข่าย Thai Civic Education, คุณศุภวุฒิ แพร่แสงเอี่ยม ประธานสภานักเรียนเทพศิรินทร์ และคุณเปรมปพัทธ ผลิตผลการพิมพ์ ดำเนินรายการ
.
งานเสวนาได้นำผลศึกษาจากโครงการศึกษาวิเคราะห์เนื้อหาเพื่อออกแบบสื่อส่งเสริมการเรียนรู้และพัฒนาการเด็กและวัยรุ่น เพื่อความเป็นพลเมืองยุคดิจิทัล โดยมี ผศ.ดร.เอื้อจิต วิโรจน์ไตรรัตน์ เป็นหัวหน้าคณะผู้จัดทำ ร่วมกับที่ปรึกษาโครงการได้แก่ คุณทัศนวรรณ บรรจง ผู้อำนวยการมูลนิธิการศึกษาเพื่อสร้างพลเมืองไทย และ ผศ.ดร.มรรยาท อัครจันทโชติ หัวหน้าภาควิชาการสื่อสารมวลชน คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รวมทั้งผลการจัดทำ Focus group กับกลุ่มเยาวชน โดยคุณเปรมปพัทธ ผลิตผลการพิมพ์ และคุณวิภาพรรณ วงษ์สว่าง

ผศ.ดร.มรรยาท อัครจันทโชติ หรือ ครูปิ่น ชี้ให้เห็นปัจจัยสำคัญว่า “เด็กในวันนี้ไม่เหมือนเด็กในวันวาน” เพราะเด็กและวัยรุ่นเรียนรู้ชีวิตและเรื่องราวต่าง ๆ ผ่านการใช้สื่อ หากผู้ที่ทำสื่อใช้ความคิดแบบ “วันวาน” ก็ย่อมไม่สามารถสื่อสารหรือเกิดความเข้าใจร่วมกับเด็กในยุคดิจิทัลได้ ครูปิ่นเริ่มการเสวนาด้วยการพูดถึงความหมายของ “ความเป็นพลเมืองในโลกดิจิทัล” โดยเปรียบเทียบให้เห็นความแตกต่างระหว่างพลเมืองแบบเก่าและพลเมืองแบบใหม่
.
แนวคิดเรื่องพลเมืองแบบเก่า หมายความว่า พลเมืองคือผู้ใต้ปกครองที่ดี มีหน้าที่เชื่อฟังผู้มีอำนาจ อย่างเป็นเด็กก็ต้องเคารพเชื่อฟังผู้ใหญ่ ซึ่งวิธีคิดเช่นนี้เป็นจุดตั้งต้นของปัญหาความไม่เข้าใจกันและการปะทะกันทางความคิดระหว่างช่วงวัย ในขณะที่พลเมืองแบบใหม่หมายถึงความรู้สึกว่าทุกคนมีบทบาทในการขับเคลื่อนเปลี่ยนแปลงสังคม เพราะทุกคนคือ “พลังของเมือง” ซึ่งเด็กและวัยรุ่นก็เป็นส่วนหนึ่งในพลังนั้นด้วย เพราะเด็กและวัยรุ่นก็เชื่อว่าตนก็มีศักยภาพที่สามารถริเริ่มทำอะไรได้ ไม่ใช่แค่ทำตามคำสั่งผู้อื่น
.
.
ดังนั้นเด็กและวัยรุ่น จึงเป็นส่วนหนึ่งของ “พลเมืองดิจิทัล” ที่สนใจใช้สื่อออนไลน์ ในขณะเดียวกันก็เป็น “พลเมืองในยุคดิจิทัล” ที่มีการใช้ชีวิต มีสังคม ทั้งในรูปแบบออนไลน์ และออฟไลน์ร่วมกับผู้อื่น
.
ฉะนั้นการออกแบบสื่อที่เกี่ยวข้องกับความเป็นพลเมือง จึงต้องพัฒนาให้เด็กและวัยรุ่น “ตระหนักต่อสิทธิและเสรีภาพของตน ไม่ละเมิดผู้อื่น มีความรับผิดชอบต่อสังคม และตระหนักว่าตนสามารถสื่อสารได้หลากหลายวิธีเพื่อเป็นผู้นำร่วมในการขับเคลื่อนสังคมประชาธิปไตยที่ยั่งยืนได้”
.
.
ความคิดเช่นนี้ ครูปิ่นมองว่าสอดคล้องกับค่านิยมใหม่ในยุคดิจิทัลที่ว่า “เด็กในวันนี้ไม่เหมือนเด็กในวันวาน” เพราะเด็กและวัยรุ่นเรียนรู้ชีวิตและเรื่องราวต่าง ๆ ผ่านการใช้สื่อ ซึ่งคนใน “วันวาน” ย่อมไม่เข้าใจ ดังนั้นหากผู้ที่ทำสื่อใช้ความคิดแบบ “วันวาน” ก็จะไม่สามารถสื่อสารหรือเกิดความเข้าใจร่วมกับเด็กในยุคดิจิทัลได้
.
.
หลักคิดการออกแบบสื่อเพื่อความเป็นพลเมืองในยุคดิจิทัลจึงต้องให้ความสำคัญกับ “การเพิ่มพื้นที่และอำนาจทางการสื่อสารของเด็กและวัยรุ่น” เพราะต้องทำให้เด็กและวัยรุ่นรู้สึกว่าพวกเขามีพื้นที่และมีอำนาจในการสื่อสาร ให้ความเชื่อมั่นถึงพลังทางบวก เชื่อว่าเด็กและวัยรุ่นเข้ามามีส่วนร่วมทางการพัฒนาได้
.
การสร้างพลเมืองจึงไม่ใช่ความสนใจปลายทาง แต่ต้องเริ่มจากการให้พื้นที่ส่วนร่วม การให้พื้นที่และให้อำนาจในการสื่อสารแก่เด็กและวัยรุ่น อีกทั้งยังต้องเริ่มต้นความเข้าใจในความแตกต่างก่อนว่า พวกเขามีความแตกต่างในแต่ละมิติ ทั้งเรื่องเพศ ความคิด ความเชื่อ อุดมการณ์ วิธีการมองโลก ดังนั้นผู้ใหญ่จึงไม่ควรเหมารวมว่าเด็กและวัยรุ่นในระดับมัธยมจะมีชุดความคิดเดียวกันทั้งหมด
.
.
นอกจากนี้ครูปิ่นมองว่าการพัฒนาพลเมือง ไม่ได้จำกัดอยู่ที่การให้ความสำคัญกับการสร้างและผลิตสื่อเพียงอย่างเดียว แต่ยังต้องสร้างนิเวศการเรียนรู้ที่เหมาะสมให้แก่สังคมและคนรอบข้าง เพื่อให้เกิดความเข้าใจว่าความคิดที่แตกต่างกันเป็นเรื่องที่สามารถเกิดขึ้นได้
.
แต่จะทำอย่างไรให้เรียนรู้การยอมรับความแตกต่างทางความคิดเหล่านั้น? ครูปิ่นเสริมว่าแพลตฟอร์มในการพัฒนาสื่อเป็นเรื่องสำคัญ ควรพัฒนาให้มีความหลากหลายทั้งในโลกออนไลน์ ออฟไลน์ และออนกราวด์ “เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างทั่วถึง ตามกลุ่มเด็กและวัยรุ่นที่มีความสามารถในการเข้าถึงแพลตฟอร์มที่แตกต่างกัน”
.
.
ดังนั้น ครูปิ่นมองเรื่องกระบวนการออกแบบสื่อสำหรับเด็กและวัยรุ่นว่า ผู้สร้างสรรค์สื่อควรให้ “กลุ่มเด็กและวัยรุ่นเข้ามาร่วมออกแบบโจทย์ โดยครูหรือผู้ใหญ่ทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงคอยสนับสนุน ต้องเปิดใจยอมรับในความคิดเห็นซึ่งกันและกัน”
.
วิธีการเช่นนี้เป็นการทำงานแบบภาคีร่วมกันระหว่างผู้ให้ทุนและผู้ผลิตสื่อ ที่จะต้องมีแนวทางการทำงานที่ชัดเจน เปิดโอกาสให้เด็กแสดงทัศนะของตัวเองและตัดสินใจเอง นั่นจึงจะเป็นวิธีการหนุนเสริมพลัง (empower) เด็กและวัยรุ่นผ่านการมีส่วนร่วมจากทุกฝ่าย และวางอยู่บนความเชื่อมั่นในศักยภาพของเด็กและวัยรุ่น

วิภาพรรณ วงษ์สว่าง – ผู้ร่วมจัดการศึกษาและจัดการพูดคุยกับกลุ่มตัวแทนเด็กและเยาวชน สะท้อนถึงประสบการณ์การนำผลการศึกษาของโครงการไปหารือกับกลุ่มเด็กและเยาวชน ในช่วงวัยมัธยมต้น และช่วงวัยมัธยมปลาย พบว่า ทั้งสองช่วงวัยรู้สึกชอบที่มีการเปิดโอกาสและเปิดพื้นที่ให้พวกเขาได้มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นและพัฒนาสื่อตามความสนใจและศักยภาพ โดยไม่เหมารวมว่าวัยมัธยมคือกลุ่มเดียวกัน มีความคิดเหมือนกัน โดยควรขยายโอกาสให้ทั้งช่วงวัยมัธยมต้นและมัธยมปลายเข้าถึงได้
.
เยาวชนสะท้อนว่า การเปิดโอกาสให้พวกเขาได้ลงมือปฏิบัติและทำกิจกรรมตามกลุ่มวัย จะทำให้พวกเขาทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะกลุ่มมัธยมต้นระบุว่า “อยากให้ผู้ใหญ่สนใจความชอบ ความถนัด โดยไม่บงการ แต่สามารถแนะนำหรือแนะแนวได้”
.
.
ความรู้สึกเช่นนี้ส่งผลต่อการออกแบบสื่ออย่างมาก นักเรียนกลุ่มมัธยมต้นยังสะท้อนว่า “ที่ผ่านมา ผู้ใหญ่มักเป็นคนเลือกและตัดสินใจชีวิตให้พวกเขา ดังนั้นการที่ปล่อยให้นักเรียนมัธยมต้นได้ฝึกคิดและตัดสินใจด้วยตัวเอง ก็จะเป็นการเสริมสร้างความมั่นใจ ทั้งในแง่การใช้ความสามารถของตน และในแง่การฝึกฝนวิจารณญาณ”
.
นอกจากนี้ นักเรียนมัธยมต้นยังระบุว่า “เป็นเรื่องที่ดี หากวัยรุ่นสามารถรู้เท่าทันสื่อได้ด้วยตัวเอง โดยไม่ต้องกังวลว่าหากแสดงความคิดเห็นอะไรออกไปจะโดนผู้ใหญ่ดุอย่างที่เคยเป็น” และนำเสนอว่า สำหรับคนในช่วงวัยของเขา อยากได้รับการสนับสนุนด้านทักษะการนำเสนอ เพราะเชื่อว่า หากสามารถนำเสนอได้ดีขึ้น การสื่อสารระหว่างช่วงวัยก็จะมีประสิทธิภาพมากขึ้น
.
วิธีการสำคัญอีกอย่างที่เด็กและวัยรุ่นต้องการคือ “การให้ความสำคัญกับการค้นหาตัวตนและการสร้างความเชื่อมั่นในศักยภาพที่พวกเขามี” โดยเริ่มในระดับมัธยมต้น และต่อยอดไปจนถึงระดับมัธยมปลาย เพราะพวกเขามองว่า “บางคนอาจใช้เวลานานในการรู้จักศักยภาพของตน” ดังนั้นหากมีพื้นที่ ที่ทำให้เขาได้ใช้เวลาตัดสินใจและสื่อสารได้ ก็คงเป็นเรื่องที่ดีไม่น้อย
.
อย่างไรก็ตาม เยาวชนได้ระบุว่า การสื่อสารและพื้นที่ดังกล่าวต้องอยู่บนการรู้เท่าทันสิทธิ์ของตนเองและเคารพสิทธิ์ของผู้อื่น โดยกลุ่มเยาวชนที่เข้าร่วมให้ความเห็นกับโครงการระบุว่า “การไม่เคารพสิทธิ์กันและกัน ไม่เป็นผลดีกับใครเลย ทั้งยังก่อให้เกิดความขัดแย้งตามมาอีกมากมาย”
.
.
ตัวแทนเยาวชนในโครงการยังระบุว่า ในการส่งเสริมสื่อที่เกี่ยวของกับกลุ่มเยาวชน ควรมีการกำหนดโจทย์ร่วมกันระหว่าง ผู้ผลิตสื่อ – ผู้ให้ทุน – เยาวชน และในตัวแทนกลุ่มมัธยมปลายยังหนุนเสริมว่า หากมีการคัดเลือกผู้ผลิตสื่อที่เป็นมืออาชีพเข้ามาทำงาน “ผู้ผลิตสื่อควรมีทัศนคติเชิงบวกกับเด็กและเยาวชน ไม่ประมาทความรู้คิดของเด็ก”
.
โดยทัศนคติเชิงบวกในที่นี้หมายถึง “การมองเห็น ยอมรับ และเคารพในพลังของเด็กและวัยรุ่น ไม่ใช่การตั้งต้นแต่แรกว่าเด็กวัยรุ่นเป็นกลุ่มคนที่มีปัญหาหรือสร้างปัญหาให้สังคม”
.
นอกจากนี้การผลิตสื่อในความคิดของเยาวชน (และไม่ได้มีแค่ช่องทางออนไลน์) ยังสอดคล้องกับที่ครูปิ่นได้เสนอเอาไว้ ในมิติของพื้นที่กลาง เพิ่มช่องทางในการแสดงออกมากขึ้นหลังผลิตสื่อเสร็จแล้ว เช่น การจัดนิทรรศการ การแลกเปลี่ยนการสื่อสารอย่างมีคุณภาพ และการสร้างนักวิจารณ์รุ่นเยาว์
.
.
อย่างไรก็ตาม ความคาดหวังของเด็กคงเป็นไปได้ยาก หากการเข้าถึงแหล่งทุนเต็มไปด้วยข้อจำกัดและปัญหาต่าง ๆ ดังนั้นการประชาสัมพันธ์เรื่องทุนก็สำคัญไม่น้อย ดังที่คุณวิภาพรรณได้กล่าวไว้ว่า “บทบาทของกองทุนสื่อปลอดภัยสร้างสรรค์ ยังควรมีการประชาสัมพันธ์ให้เยาวชนทราบ และมีการเข้าถึงแหล่งทุน ไม่ว่าจะในฐานะผู้รับสื่อ ผู้รับสาร ผู้ให้ความคิดเห็น ผู้สนับสนุน หรือในฐานะผู้ผลิตก็ตาม”

ในขณะที่มุมมองจากภาคการศึกษา ปราศรัย เจตสันติ์ หรือ ครูโอ เครือข่าย Thai Civic Education ระบุว่า หลักสูตรส่งเสริมสื่อในโรงเรียนส่วนมาก จะเน้นในเชิงเทคนิค ซึ่งเป็นไปตามความถนัดของอาจารย์ผู้สอน ดังนั้นผลผลิตของนักเรียนจึงเกิดบนมุมมองที่ว่า “สื่อคือทักษะเทคโนโลยีที่นำไปสู่การทำเงิน ทำอาชีพ” แต่ไม่ได้มีการส่งเสริมว่า จะเล่าเนื้อหาอะไร จะสื่อสารอะไร เพื่ออะไร ดังนั้น มุมมองของผู้จัดการศึกษาควรตั้งคำถามให้เห็นว่า สื่อเป็นอะไรได้มากกว่านั้น
.
“มุมมองการศึกษาให้ความสำคัญเรื่องนี้น้อย” ครูโอระบุเพิ่มเติมว่า ระบบการศึกษาไม่ได้เน้นย้ำให้เด็กตระหนักรู้ว่าพวกเขามีส่วนร่วมกับการสร้างสื่ออยู่ตลอดเวลา ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นคือ พวกเขาไม่ถูกส่งเสริมให้คิดวิเคราะห์ว่า “ข้อความ (Message) ที่จะสื่อสารออกไปเป็นอย่างไร” และไม่ได้คำนึงว่าเป้าหมายในการสื่อสารคืออะไร จะส่งผลกระทบต่อการรับรู้ของสังคมอย่างไร
.
.
ดังนั้นครูโอจึงมองว่า “การพัฒนาด้านการศึกษาควรเอาสองอย่างนี้ไปด้วยกัน” โดยไม่ได้เน้นแค่เรื่องเทคนิคการสร้างสื่อ แต่เน้นสารสำคัญที่ต้องการส่งต่อไปให้สังคม ในขณะเดียวกันกองทุนที่ให้ทุนผลิตสื่อ ก็ควรคำนึงว่าเป้าหมายการพัฒนาที่เกี่ยวกับสื่อนั้น คือการพัฒนาตัวเยาวชนเองให้เป็นพลเมืองที่ตระหนักในโลกปัจจุบัน ไม่ใช่ขายเทคนิค ขายแต่ความน่าสนใจ จนละเลยปัญหาหรือผลิตซ้ำปัญหาในสังคม ซึ่งหากคำนึงทั้งสองเรื่องไปพร้อมกันได้ จะทำให้เยาวชนและคนในสังคมคิดอย่างมีวิจารณญาณมากขึ้น
.
.
ครูโอทิ้งท้ายเรื่องกองทุนว่า หากมีการให้ความสำคัญกับการพัฒนาเครือข่าย โดยการสร้างครูที่มีความตระหนักรู้เช่นนี้ คงทำให้ขยายไปสู่นักเรียนได้เพิ่มมากขึ้น เพราะหลายโรงเรียนมีทุนเดิมเรื่องหลักสูตรสื่อและเทคโนโลยีอยู่แล้ว

ศุภวุฒิ แพร่แสงเอี่ยม หรือ คุณแซก ประธานสภานักเรียนเทพศิรินทร์ ให้ข้อคิดเห็นว่า คนในวัย Gen Z ให้ความสำคัญกับการที่ตัวเขาเองสามารถทำประโยชน์ให้กับสังคมได้ ดังนั้น การพัฒนาเยาวชนควรเริ่มที่การรู้จักตัวเอง (self-awareness) และต่อยอดไปสู่การสร้างความตระหนักทางสังคม (social awareness) เพราะเชื่อว่าเด็กและวัยรุ่นอยากสื่อสารกับสังคมและคนใกล้ตัว แต่อาจจะไม่มีเครื่องมือในการสื่อสาร และไม่รู้วิธีการว่าจะเริ่มต้นยังไง
.
.
นอกจากนี้ยังได้กล่าวเสริมว่า ปัจจุบันเยาวชนรู้วิธีการสร้างสรรค์และการใช้เทคนิคนำเสนอให้สื่อน่าสนใจ แต่ยังขาดโอกาสที่จะได้ลงลึกถึง key message และการสร้างผลกระทบต่อสังคม เพราะหลายครั้ง “การทำสื่อของเยาวชน เป็นไปตามกลไกที่ตอบสนองต่อการให้รางวัล หรือเอาใจกรรมการผู้ตัดสิน”
.
.
หากการสนับสนุนสื่อของเยาวชนเปลี่ยนจากการส่งเสริมให้ทำเพื่อตอบโจทย์กรรมการ ไปสู่การสนับสนุนเรื่องการค้นหาตัวตนและรู้จักตนเอง (self-expression) ก็จะทำให้เกิดผลลัพธ์ใหม่ๆ ที่ยั่งยืนได้ โดยกลไกการทำสื่อเองก็จะเปิดโอกาสให้เยาวชนได้ศึกษาและสำรวจประเด็นที่อาจจะยังไม่เคยรู้ หรือต้องการรู้ให้มากขึ้น ดังประโยคทิ้งท้ายที่ว่า “กระบวนการทำสื่อมันไม่ใช่แค่เรื่องปลายทางจะสวยงาม แต่สำคัญที่ระหว่างทางที่จะทำให้เราไปเจออะไรใหม่ ๆ”

 

บทสรุปเสวนา
.
ช่วงท้ายของเสวนา มีการพูดคุยเพิ่มเติมเรื่องช่องทางการสื่อสาร คุณวิภาพรรณเสนอประเด็นเพิ่มเติมว่า นอกจากการกำหนดกรอบแล้ว กองทุนฯ ควรมีการรับมือกับประเด็นเฉพาะหน้าที่กำลังเกิดขึ้นในสังคม เพราะกระบวนการและวิธีการดำเนินการจากภาครัฐเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา “แต่เรื่องของเยาวชนดำเนินไปอย่างรวดเร็ว”
.
ดังนั้นหากมีการเปิดพื้นที่ ให้สามารถรองรับประเด็นที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วได้ ก็จะช่วยให้หลายๆ ภาคส่วนสามารถเตรียมความพร้อมในการรับมือ และเปิดโอกาสให้ประเด็นที่กำลังเกิดขึ้นมีพื้นที่ในการสื่อสาร ไม่ใช่รอถอดบทเรียนเพียงอย่างเดียว
.
อีกประเด็นที่ถูกยกขึ้นมา คือ โอกาสในการเข้าถึงแหล่งทุนด้านสื่อของเยาวชน มีการเสนอว่า ข้อเสนอของการประชุมผู้เชี่ยวชาญสองกลุ่ม เห็นโอกาสในการส่งเสริมให้ชมรมเพื่อสร้างสรรค์การสื่อสารและการผลิตสื่อของโรงเรียนต่างๆ ควรที่จะสามารถเสนอโครงการเพื่อขอรับทุนได้
.
สุดท้ายเป็นการจบการเสวนาด้วยการพูดคุยเรื่องการควบคุมคุณภาพสื่อ ครูปิ่นมองว่าเด็กและเยาวชนควรได้เห็นและเรียนรู้ด้วยตัวเองว่าสื่อที่เหมาะสมหรือไม่เหมาะสมเป็นยังไง นั่นหมายความว่าเขาจะประเมินได้ว่าอะไรดีหรือไม่ดีด้วยวิจารณญาณของตนเอง เพราะที่ผ่านมาเรามีแต่การควบคุมทางลบ แต่ไม่มีการส่งเสริมทางบวก การควบคุมจึงควร “เป็นการเปิดพื้นที่ในการเรียนรู้ ไม่ใช่ควบคุมอย่างจำกัด”
.
โดยครูโอได้เพิ่มประเด็นสุดท้ายว่า ควรส่งเสริมให้เยาวชนได้คิด ฝึกวิจารณญาณ และคำนึงถึงช่วงวัย แต่ที่ต้องตระหนักมากคือ สื่อที่ดีคือสื่อที่มีการตั้งคำถามและทำให้เด็กต่อยอดจากการคิดไปได้จากประเด็นที่สื่อนำเสนอ ให้เขารู้ว่าคำตอบมันมีการคิดได้หลายมุมมอง อยู่ที่ว่าเราคิดจากบริบทและพื้นฐานอะไร ทำให้เขามีมุมมองที่กว้างขึ้น
.
“เพราะการเรียนรู้เท่าทันสำคัญกว่าการปิดกั้น” ครูโอกล่าวทิ้งท้าย