หลายคนก็อินไปด้วยเพราะว่าบางเหตุการณ์อย่างการโทษเหยื่อก็ยังเป็นปัญหาร่วมที่คนในสังคมไทยเราเจอเหมือนกัน เราชวนคุยต่อว่าวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่นี่มาจากความเชื่อแบบไหน นักเรียนค้นๆ กันต่อไปแน่นอนก็จะไปเจอว่าคำสอนแบบขงจื้อมีอิทธิพลมากกับการสร้างวัฒนธรรมนี้ในเกาหลี แต่มันไม่จบเท่านั้น

ความไม่เท่าเทียมทางเพศที่มักจะถูกนำเสนอในแง่ปัญหาเชิงวัฒนธรรมหรือความเชื่อทางศาสนา อาจเป็นแค่ภาพลวงตาเพื่อให้กติกาของเกมที่ใหญ่กว่ายังคง Function ต่อไปก็ได้

บทสัมภาษณ์ Civic Classroom ตอนที่ 20 : บทเรียนวิชาสังคมที่ว่าด้วยเรื่องเพศ ศาสนา และความไม่เป็นธรรม
โดย ครูปาริชาต ชัยวงษ์ ครูสอนสังคมศึกษาที่ทำให้บทเรียนพลเมืองไปสู่มุมมองเชิงวิพากษ์

นักเรียนเสนอหัวข้อที่อยากเรียนในรายวิชาศาสนา หนึ่งในหัวข้อที่เลือกกันมามากที่สุดคือเรื่องความเชื่อกับเพศ เราเห็นว่าช่วงที่ผ่านมามีข่าวน่าสนใจเกี่ยวกับความไม่เท่าเทียมทางเพศในเกาหลีใต้อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการตัดสินใจจบชีวิตตัวเองของไอดอล การเผารูปและของสะสมของไอดอลที่อ่านหนังสือแนวสตรีนิยม การสร้างเว็บไซต์ล่าแม่มดเฟมินิสต์ ไปจนถึงการประท้วงเรียกร้องให้ยึดเหรียญทองคืนจากนักกีฬายิงธนูหญิงที่ตัดผมสั้น คำถามสำคัญที่เราอยากชวนนักเรียนสำรวจตรวจสอบไปด้วยกันคือ “เกาหลีใต้เป็นประชาธิปไตยในทางการเมืองและมีการเจริญเติบโตทางเศรษกิจสูงมากด้วย แต่ทำไมการผลักดันเรื่องความเท่าเทียมทางเพศถึงเป็นเรื่องยาก” (ไม่ใช่ว่าความเป็นประชาธิปไตยกับความเท่าเทียมมันมาด้วยกันหรอกหรือ)”

เพื่อที่จะขยายมิติในการมองเรื่องความไม่เท่าเทียมทางเพศ ให้เห็นว่ามันมากกว่าแค่เรื่องเพศหรือความเชื่อทางศาสนา แต่มันเป็นผลมาจากความเชื่อและระบบเศรษฐกิจด้วย ดังนั้นเวลาเราพูดถึงปัญหาที่ดูเหมือนจะเป็นปัญหาเชิงวัฒนธรรม มันอาจจะไม่สามารถแก้ได้ด้วยการเปลี่ยนแปลงเชิงวัฒนธรรมอย่างการสอนให้เคารพหรือยอมรับความแตกต่างหลากหลายแค่เพียงเท่านั้น

หน่วยนี้เราใช้หนัง 2 เรื่องเป็นสื่อกลางในการชวนคุย เรื่องแรกคือคิมจียองเกิดปี 1982 เริ่มต้นคาบด้วยการสำรวจและแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับคำหรือวลีเรื่องเพศที่คนมักจะคุ้นเคย อ่านข่าวเกี่ยวกับประเด็นเรื่องเพศในวงการบันเทิงเกาหลี นักเรียนช่วยแชร์สิ่งที่รู้ จากนั้นดูหนัง และช่วยกันวิเคราะห์นัยยะของความเชื่อที่สะท้อนผ่านฉากต่างๆ ในคิมจียอง หลายคนก็อินไปด้วยเพราะว่าบางเหตุการณ์อย่างการโทษเหยื่อก็ยังเป็นปัญหาร่วมที่คนในสังคมไทยเราเจอเหมือนกัน

เราชวนคุยต่อว่าวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่นี่มาจากความเชื่อแบบไหน นักเรียนค้นๆ กันต่อไปแน่นอนก็จะไปเจอว่าคำสอนแบบขงจื้อมีอิทธิพลมากกับการสร้างวัฒนธรรมนี้ในเกาหลี แต่มันไม่จบเท่านั้น เพราะคำถามต่อมาก็คือศาสนามีอิทธิพลยาวนานและเข้มข้นขนาดนี้ได้ด้วยตัวมันเองเลยหรือ ทั้งๆ ที่ประชากรเกาหลีใต้เกินครึ่งไม่นับถือศาสนาด้วยซ้ำ

จากคำถามข้างต้นพาเราเชื่อมโยงไปตามหาความเชื่อหรือความจริงอื่นที่ทำให้การผลักดันเรื่องความเท่าเทียมทางเพศในเกาหลีใต้เป็นเรื่องยาก เรื่องที่ 2 ที่ใช้ชวนคุยคือ Squid game ดูแค่ episode เดียวก็เห็นภาพชัดพอสมควร เงื่อนไขทางสังคมแบบไหน ที่ทำให้ผู้คนต้องแลกร่างกาย ชีวิต แม้กระทั่งความเป็นมนุษย์เพื่อให้ได้เงินมาใช้หนี้ หรือจริงไหมที่เขาว่ากันว่า“ต้นทุนไม่เท่ากันเป็นแค่ข้ออ้างของคนขี้เกียจ” หรือ “แค่เราขยัน อดทน ซื่อสัตย์ พอเพียง วันหนึ่งความสำเร็จก็จะเป็นของเรา”

เราทำความเข้าใจแนวคิดปัจเจกชนนิยมภายใต้ระบบทุนนิยมกันผ่านซีรี่ย์เรื่องนี้และคำถามชวนคิดชุดหนึ่ง จากนั้นก็มาสะท้อนการเรียนรู้กัน และกลับไปตอบคำถามตอนต้นที่ว่า “เกาหลีใต้เป็นประชาธิปไตยในทางการเมืองและมีการเจริญเติบโตทางเศรษกิจสูงมากด้วย แต่ทำไมการผลักดันเรื่องความเท่าเทียมทางเพศถึงเป็นเรื่องยาก”

คำตอบมีตั้งแต่ “เพราะการแข่งขันสูง” “เพราะผู้ชายที่ได้รับโอกาสมากกว่าก็กดดันมากกว่าด้วย” “เพราะในสนามที่มีแต่ผู้ชายก็แข่งกันจะตายอยู่แล้ว” “เพราะสังคมคาดหวังให้ผู้ชายต้องสำเร็จ ส่วนผู้หญิงแค่รอพึ่งพาผู้ชาย” ฯลฯ แต่ คำตอบที่สรุปสิ่งที่เรียนในหน่วยนี้ได้ดีที่สุดมาจากเด็กคนหนึ่งที่สะท้อนว่า “บนกติกาแบบนี้ ถ้าไม่ทำร้ายตัวเอง ก็คงทำร้ายคนอื่น” โลกที่บอกให้เราแข่งแม้แต่แข่งกับตัวเองอยู่ตลอดเวลา วันที่เราล้มเหลวขึ้นมา หากไม่เป็นซึมเศร้าเพราะโทษตัวเอง ก็คงต้องมองหาคนอื่นที่ผิด นี่คงเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เราได้เห็นกระแสต่อต้านทั้งสตรีนิยม ผู้อพยพ แรงงานข้ามชาติ LGBTQ+ ฯลฯ

“ความไม่เท่าเทียมทางเพศที่มักจะถูกนำเสนอในแง่ปัญหาเชิงวัฒนธรรมหรือความเชื่อทางศาสนา อาจเป็นแค่ภาพลวงตาเพื่อให้กติกาของเกมที่ใหญ่กว่ายังคง Function ต่อไปก็ได้”

 


ภาพโดย Chaipat
#thaiciviceducation