สมุดบันทึกปกผ้าลายสก๊อตสีขาวแดงของแอนน์ แฟร้งค์ เป็นบันทึกเรื่องราวต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในห้องลับที่หลบซ่อนจากการจับกุมของทหารนาซี ในตึกเลขที่ ๒๓๖ ถนนพริ้นเซ่นกรัคต์ ประเทศเนเธอร์แลนด์ บันทึกอันยอดเยี่ยมนี้ได้รับการยกย่องไปทั่วโลก และแปลออกไปเป็นหลายภาษา กล่าวได้ว่าเป็นวรรณกรรมเอกชิ้นหนึ่ง ว่ากันว่าหากเธอมีชีวิตอยู่จะเป็นนักเขียนที่สร้างสรรค์ผลงานที่ล้ำค่าให้แก่โลกนี้ได้อีกมากมาย

 

แอนน์ แฟร้งค์ เขียนบันทึกวันสุดท้าย เมื่อวันที่ ๑ สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๔๔ อีกสามวันต่อมา ก็ถูกจับพร้อมกับผู้ที่หลบซ่อนรวม ๘ คน และถูกนำไปยังค่ายสังหาร ที่ถือเป็นค่ายที่โหดเหี้ยมที่สุดในประวัติศาสตร์การทรมานและสังหารมนุษย์ด้วยกัน เพียงแค่คนเหล่านั้นเป็นชาวยิว มีการคะเนว่ามีชาวยิวกว่า ๔ ล้านคนถูกฆ่า ในค่ายทั้งในเยอรมนีและประเทศต่าง ๆ ด้วยการส่งเข้าเตารมควันพิษ ส่วนแอนน์ แฟร้งค์ จบชีวิตลงด้วยโรคไทฟอยด์หลังจากผ่านการทรมานทั้งร่ายกายและจิตใจมานาน ในขณะอายุ ๑๕ ปี บันทึกของเธอถูกเก็บในลิ้นชักที่ห้องลับจนสิ้นสุดสงคราม พ่อของเธอผู้เป็นเพียง ๑ ใน ๘ คนที่ถูกจับไปและรอดชีวิตมา เขาได้รับบันทึกเล่มนี้และมีกระบวนการนำมาจัดพิมพ์ในเวลาต่อมา

 

เรื่องราวของเธอและบันทึกดังกล่าวได้เชื่อมโยงกับเหตุการณ์อันเลวร้ายต่อเพื่อนมนุษย์ในช่วงสงครามโลก จึงมีการจัดทำอนุสรณ์สถานที่ระลึกในหลายประเทศ อนุสรณ์สถาน Ann Frank. Here & Now กลางเมืองเบอร์ลิน ย่านที่พักเก่าของชาวยิว เป็นพิพิธภัณฑ์เล็ก ๆ แทรกอยู่ในอาคารเก่า ได้จัดแสดงสิ่งของภาพถ่ายและชีวประวัติของเธอคู่ขนานไปกับเรื่องราวของสงครามโลก บันทึกเล่มนี้จึงเป็นเรื่องราวของเด็กหญิงคนหนึ่งที่บอกเล่าว่าครั้งหนึ่งเคยมีผู้คนมากมายถูกพรากชีวิตไปเพียงเพราะการไม่เห็นคุณค่าของความเป็นมนุษย์

 

ดาวน์โหลด pdf


ดร. เฉลิมชัย พันธ์เลิศ ผู้อำนวยการสถาบันสังคมศึกษา สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ข้าราชการผู้มีจิตวิญญาณของ NGO เป็นคนชอบเรียนรู้เรื่องใหม่ๆ อยู่เสมอ