Key ideas

  • ในการเปลี่ยนให้โรงเรียนให้เป็น SLC นั้นไม่สามารถละเลยประเด็นเชิงทฤษฎีได้ หากไม่เข้าใจในหลักการก็จะปฏิบัติไม่ได้ผลจนเทรนด์นั้นค่อยๆ มอดไป
  • ทฤษฎีสำคัญต่อการปฏิบัติใน SLC เพราะมันช่วยในการวิเคราะห์ปรากฏการณ์ในห้องเรียน การสะท้อนคิดเพื่อพัฒนาครู และการใช้ความรู้จากต่างบริบท
  • เราสามารถเปลี่ยนแปลงมุมมองต่อความรู้ให้เป็นสิ่งที่สามารถวิพากษ์ได้ โดยต้องเปลี่ยนแปลงที่มหาวิทยาลัยและการใช้กรอบการคิดด้วย SLC ในโรงเรียน
  • ประสบการณ์การใช้ SLC ในประเทศไทยแสดงให้เห็นความเปลี่ยนแปลงทั้งในห้องเรียนและห้องพักครู

อ.ไซโต

แนวคิดโรงเรียนในฐานะชุมชนแห่งการเรียนรู้ (SLC: School as Learning Community) กำลังเป็นที่สนใจอย่างมากในแวดวงการศึกษาไทยขณะนี้ แต่สิ่งที่น่าคิดคือทำไมความสนใจนี้ยังไม่ถูกแปรเปลี่ยนไปสู่การปฏิบัติจริงในโรงเรียนสักที อาจารย์ ดร.เอซึเกะ ไซโต ชวนเราร่วมมองปัญหานี้และให้ข้อเสนอว่าเราจำเป็นต้องทำความเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างทฤษฎีและปฏิบัติมากยิ่งขึ้น

อ.ไซโตเริ่มจากการชี้ให้เห็นว่าการทำให้โรงเรียนให้เป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้ตามแนว SLC นั้นตั้งอยู่บนฐานคิดที่แตกต่างอย่างลึกซึ้งจากวัฒนธรรมการศึกษาเดิมที่เรากำลังเผชิญทั้งในด้านมุมมองต่อการเรียนรู้ ผู้เรียน และโรงเรียน ในการศึกษาแบบที่เป็นอยู่ ครูมักมองหาเด็กที่ตอบถูก ซึ่งต้องตรงกับคำตอบที่ครูมีอยู่แล้วในใจ ปัญหาของมุมมองนี้คือการจำกัดว่าเรียนรู้เกิดขึ้นเมื่อผู้เรียนมีความรู้เท่ากับที่ครูหรือหลักสูตรกำหนดไว้ อีกทั้งยังสื่อนัยแฝงว่า “ถ้าเธอตอบผิดและเธอต้องออกจากสนามแข่งขัน”

ในทางกลับกัน บนฐานคิดของ SLC ซึ่ง ครูจะไม่มองหาเด็กที่ตอบคำถามได้ถูกต้องแต่จะสังเกตนักเรียนที่ประสบปัญหาในการเรียนแล้วถามกับตัวเองว่า ทำไมนักเรียนคนนี้ยังไม่เข้าใจและจะทำให้เขาเรียนรู้ได้อย่างไร มันมองว่าการเรียนรู้ไม่ได้เกิดขึ้นเมื่อนักเรียนสามารถจำสิ่งที่ครูบอกในห้องได้หมด แต่เกิดขึ้นเมื่อผู้เรียนได้รู้มากกว่าที่เขาเคยรู้ก่อนก้าวเข้าสู่ห้องเรียน มันจึงเปิดประตูสู่การเรียนจากเพื่อนๆ ไม่จำกัดเพียงเรียนจากครูเท่านั้น ครูสามารถเล่นบทเป็นผู้สังเกตอย่างมีระยะและให้คำแนะนำเมื่อเขามีปัญหาในการเรียนรู้ แนวคิดนี้ขยายไปสู่การสร้างโรงเรียนให้เป็นชุมชนที่ทุกคนได้มาเรียนรู้จากกันและกัน

ในเมื่อการเปลี่ยนไปสู่ SLC อยู่ที่การเปลี่ยนแปลงฐานคิดและมุมมอง การเปลี่ยนแปลงในระดับโรงเรียนจึงเกิดขึ้นไม่ได้หากมุมมองของผู้ปฏิบัติ ทั้งครูและผอ. ยังยึดอยู่กับมุมมองแบบเดิม และมองข้ามความสำคัญของการใช้ทฤษฎีมาเป็นแนวทางชี้นำและทบทวนการปฏิบัติ การใช้ SLC ก็จะเป็นเพียงการทำตามขั้นตอน 1-2-3 แต่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงจากรากฐาน จบลงที่การ “เห่อเป็นพักๆ” ก่อนกระแสจะตายไป

อ.ไซโต เรียกร้องให้นักปฏิบัติหันมาให้ความสำคัญกับการใช้ทฤษฎีนำการปฏิบัติมากขึ้น เนื่องจากปฏิบัติของ SLC นั้นสัมพันธ์กับกรอบคิดอย่างแยกกันไม่ได้ เพราะมันช่วยกำหนดแนวทางว่าเราควรสังเกตอะไร อย่างไร และเราสะท้อนคิดกับสิ่งที่สังเกตอย่างไร ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาแนวทางการสอนของครูและส่งผลต่อการเรียนรู้ของนักเรียน

สามารถรวบยอดประโยชน์ของปฏิบัติอย่างมีทฤษฎีที่อ.ไซโตเสนอได้ดังนี้ 1) ช่วยเป็นกรอบในการสังเกตปรากฏการณ์ในชั้นเรียน 2) ช่วยพัฒนากระบวนการสะท้อนและทบทวนการสอน และ 3) ช่วยให้สามารถดึงประสบการณ์การสอนจากต่างบริบท

1 – ทฤษฎีเป็นเหมือนแว่นตาที่จะช่วยให้เราเห็นสิ่งต่างๆ ได้ชัดเจนและมีความหมายมากขึ้น ในการสอนแต่ละครั้ง ผู้สอนต้องเผชิญกับประสบการณ์ต่างๆที่ ที่ยุ่งเหยิงและถาโถมเข้ามาให้ต้องคิดและตัดสินใจ กรอบทฤษฎีจะช่วยเป็นตะแกรงเพื่อหยิบเอาเฉพาะเหตุการณ์ต่างๆ ที่มีนัยสำคัญต่อการเรียนรู้ของนักเรียนมาพิจารณา ซึ่งอาจถูกมองข้ามไป เช่น พฤติกรรมการหันหน้าไปถามเพื่อที่ถูกมองว่าเป็นเรื่องธรรมดา แต่ในทางทฤษฎีนั้นสำคัญมากเพราะมันคือมโนทัศน์เรื่อง “การขอความช่วยเหลือ (help-seeking)”

2 – กระบวนการสังเกตและการสะท้อนคิดเป็นกลไกหลักในการพัฒนาครูใน SLC ผู้สอนและผู้สังเกตจะได้ข้อมูลมากขึ้นเพื่อตั้งคำถามกับการปฏิบัติของตัวเองและนำมาถกเถียงในกระบวนการสะท้อนคิดหลังการสอน อีกทั้งยังสร้างการทำงานแบบ “ผู้เชี่ยวชาญ” ที่วิพากษ์การสอนบน เหตุผล หลักการ และข้อเท็จจริง

3 – การมองด้วยทฤษฎีช่วยเปิดโอกาสในการใช้ประสบการณ์และความรู้ข้ามวัฒนธรรม เพราะความรู้เชิงทฤษฎีช่วยแปลงเหตุการณ์รูปธรรมให้เป็นนามธรรม (conceptualization) ทำให้เรามองข้ามความแตกต่างทางบริบทบางอย่างได้ กล่าวคือ แม้การขอความช่วยเหลือของนักเรียนญี่ปุ่นจะต่างจากไทย แต่ครูไทยก็สามารถนำความรู้ที่ครูญี่ปุ่นมีเกี่ยวกับมโนทัศน์เรื่องการขอความช่วยเหลือมาปรับใช้กับเด็กไทยได้

แล้วเราจะต้องเปลี่ยนแปลงอย่างไรเพื่อให้มีความเป็นทฤษฎีมากขึ้น? อ.ไซโตเห็นว่าต้องมีการเปลี่ยนแปลงมุมมองเกี่ยวกับความรู้จากการมองว่าเป็นสิ่งที่สืบทอดจากอาจารย์อย่างไม่สามารถตั้งคำถามได้ ไปสู่การมองว่าความรู้เป็นบล็อกที่ต่อยอดกันขึ้นไป ความรู้เป็นเครื่องมือที่ถูกนำมาหยิบใช้และวิพากษ์วิจารณ์ได้ ทำให้ความรู้มีความก้าวหน้า

เขาได้เสนอหนทางในการเปลี่ยนมุมมองต่อความรู้ได้ในสองทาง ในทางแรกคือเปลี่ยนการฝึกอบรมครูในระดับมหาวิทยาลัย ให้เน้นความเป็นวิชาการให้มากขึ้นให้ใกล้เคียงกับกระบวนการวิจัย และเน้นการมอบหมายงานเขียนมากขึ้นเพราะมีประโยชน์มากในการคิดวิเคราะห์ ในทางที่สองคือการใช้ SLC เพื่อพัฒนาบุคลากร โดยใช้การมองสิ่งที่เราต้องการศึกษาอย่างเป็นระบบ จากผลไปหาสาเหตุ ว่าปรากฏการณ์ที่ต้องการอธิบาย (y) นั้นมีปัจจัย (x) อะไรที่ส่งอิทธิพลบ้าง

กระบวนการเหล่านี้มีความซับซ้อน ดังนั้น สิ่งที่ต้องมีคือความอดทนต่อความสับสนและตั้งคำถามตัวเองถึงสิ่งที่เกิดขึ้นบ่อยๆ อย่าลืมว่าความรู้เชิงทฤษฎีไม่ได้เป็นสิ่งที่เราต้องสะสมแบบยิ่งเยอะยิ่งดี แต่เราควรมองทฤษฎีเป็นเครื่องมือที่สามารถหยิบมาเพียงเท่าที่เหมาะสมและช่วยให้เรามองการสอนได้ก็เพียงพอแล้ว


อ.อรรถพล

ต่อมา อ.ผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล ได้เล่าถึงการใช้ SLC ในประเทศไทย ในความร่วมมือระหว่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและโรงเรียนวัดหัวลำโพงและโรงเรียนพุทธจักรในการสร้าง โดยสามารถเห็นการเปลี่ยนแปลงได้ทั้งในห้องเรียนและนอกห้องเรียน

ขั้นแรกพบว่าลักษณะการสอนของครูเปลี่ยนไป การเรียนในห้องเรียนให้ความสำคัญกับกิจกรรมที่มีความท้าทายและต้องการการร่วมมือของผู้เรียนมากขึ้น และมีการจัดกลุ่มคละความสามารถเพื่อให้ผู้เรียนได้เรียนรู้จากกันและกันแบบเพื่อนช่วยเพื่อน ครูมีการจัดวางบทบาทของตัวเองใหม่ ค่อยๆ กลายเป็นการคอยสังเกตและให้ความช่วยเหลือกลุ่ม แม้แต่ในวิชาศิลปะที่มักถูกมองว่าเป็นงานส่วนตัวก็ยังมีช่องทางทำให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกันได้

กระบวนการ SLC ช่วยสนับสนุนการพัฒนาการสอนของครูจากการลองผิดลองถูก ทำให้ครูมีทักษะในการสังเกตเห็นปัญหาการเรียนของเด็ก ได้วิเคราะห์และทดลองตัดสินใจแก้ปัญหานั้น เช่น การจัดกลุ่มที่ใหญ่เกินไปส่งผลให้เด็กบางคนอยู่ไกลจากโต๊ะจนไม่มีส่วนร่วมหรือไม่ สาเหตุเกิดจากสภาพโต๊ะหรือขนาดกลุ่ม และหากการแก้ปัญหาเฉพาะนั้นยังไม่ได้ผลก็จะนำไปสู่การสะท้อนคิดหลังการสอน การคิดอย่างเป็นระบบเช่นนี้สอดรับกับแนวทางทางที่อ.ไซโตได้กล่าวไว้เป็นอย่างดี

ในการเปลี่ยนแปลงนอกห้องเรียน กระบวนการ SLC ทำให้ครูมีเวลาในพูดคุยแลกเปลี่ยนเพื่อพัฒนาการสอนของกันและกันยิ่งขึ้น แทนที่โมเดลเดิมที่ครูแต่ละคนออกไปเรียนรู้ด้วยตัวเอง มีการจับคู่เพื่อสลับดูห้องเรียนของกันและกัน โดยเน้นการจับคู่กันข้ามวิชาเพื่อให้ไม่จับผิดที่เนื้อหาแต่สนใจที่การเรียนรู้ของนักเรียนมากกว่า กลางเปลี่ยนแปลงที่พบคือบทสนทนาระหว่างครูเปลี่ยนจากการบ่นถึงภาระงานกลายเป็นการคุยเรื่องการเรียนรู้ของนักเรียนรายคนว่าแต่ละคนมีการเรียนรู้เป็นอย่างไร มีความต้องการช่วยเหลือเป็นพิเศษหรือไม่ กลายเป็นวัฒนธรรมของการสนทนาอย่างเป็นมืออาชีพ และยังดึงให้ผู้อำนวยการโรงเรียนเข้ามามีบทบาทสำคัญในการพัฒนาการเรียนการสอนอีกด้วย

SLC ให้ความสำคัญกับการสะท้อนประสบการณ์หลังการสอน สำหรับคาบเรียนทั่วไปที่มีระยะเวลา 50 นาที อาจต้องใช้เวลาที่เท่ากันหรือนานกว่านั้นในการสะท้อนเพื่อมองมาจุดที่สามารถพัฒนาได้ อ.ไซโต ได้ยังกล่าวว่าโรงเรียนในเอเชียนั้นเน้นการวางแผนก่อนการสอนแต่ไม่ให้เวลากันการสะท้อนหลังการสอน เขาเรียกร้องให้ครูในไทยหันมาให้เวลากับการสะท้อนคิดหลังการสอนและลดเวลาตรวจสอนแผนร่วมกัน

หัวใจสำคัญของ SLC คือการสร้างวัฒนธรรมของการไว้วางใจและห่วงใยซึ่งกันและกัน หากเราไม่เห็นใจกันและกันแล้วเราก็จะไม่พยายามเข้าใจกันและกัน ทำให้ไม่มีใครขอความช่วยเหลือ โดยเฉพาะในวัฒนธรรมเอเชียที่ไม่ต้องการเสียหน้า อ.ไซโตได้เน้นย้ำว่า ความเชื่อใจกันจะนำไปสู่ความจริงใจ และความจริงใจจะนำไปสู่การเรียนรู้ ทั้งนี้เราต้องไม่ลืมว่าเป้าหมายของ SLC ผลสัมฤทธิ์ทางวิชาการที่เพิ่มขึ้นเป็นเพียงประเด็นรองเท่านั้น เพราะประเด็นหลักคือการสร้างโรงเรียนที่น่าอยู่ น่าเรียน เมื่อโรงเรียนเป็นที่แห่งการเรียนรู้และการไว้วางใจกันแล้วนักเรียนจะเติบโตด้วยตัวของพวกเขาเอง

ดาวน์โหลดPDF


ผู้เขียน: ภี อาภรณ์เอี่ยม

ภาพประกอบ: ศูนย์วิจัยและพัฒนาการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน คณะครุศาสตร์ จุฬาฯ

ออกแบบ: อรสุมน ศานติวงศ์สกุล