เมื่อครูไทยเรียนรู้การสอนประชาธิปไตยในออสเตรเลีย รุ่นที่ 2 (ตอนแรก)

29 เมษายน ถึง 5 พฤษภาคม 2017

โครงการนี้มีเป้าหมายเพื่อที่จะพัฒนาความร่วมมือระหว่างครูผู้สร้างพลเมืองในประเทศออสเตรเลียและในประเทศไทย โดยร่วมมือกับคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยโมนาช ครูระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาในรัฐวิกตอเรีย คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยซิดนีย์ ซึ่งได้รับการสนับสนุนโดยมูลนิธิฟรีดริค เอแบรท์ (FES) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา ซึ่งทีมเรียนรู้รุ่นที่ 2 นี้ ประกอบด้วยครูประถม 1 คน มัธยม 3 คน อาจารย์จาก 4 มหาลัย และคนทำงานภาคสังคมด้านเด็กและการศึกษาอีก 2 คน ทีมเรียนรู้ใช้เวลาศึกษาดูงานทั้งหมด 6 วัน ตั้งแต่ 29 เมษายน ถึง 5 พฤษภาคม 2017 ในเมืองเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย โดยความดูแลของ Dr. David Zyngier จากมหาวิทยาลัยโมนาช


วันที่ 30 เมษายน 2017

สถานที่: สวนผักออแกนิคกลางเมือง (Veg Out Community Gardens St. Kilda) อนุสรณ์สถานทหารผ่านศึก (Shrine of Remembrance) และ พิพิธภัณพ์ผู้อพยพ (Immigration Museum)

วันแรกของกิจกรรมเรียนรู้ ทีมจาก Thai Civic Education รุ่นที่ 2 ได้ไปเยี่ยมชม สวนผักออแกนิคกลางเมืองหรือ Veg Out Community Gardens St Kilda ที่เป็นพื้นที่สาธารณะโดยคนในชุมชนผลัดเปลี่ยนกันดูแล และใช้พื้นที่สาธารณะให้เกิดประโยชน์ร่วมกัน เป็นการสร้างความสัมพันธ์กับชุมชนผ่านพื้นที่สาธารณะ (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://vegout.org.au/)

หลังจากนั้นทีมเรียนรู้ได้ไปดู Shrine of Remembrance ซึ่งสร้างขึ้นเพื่อระลึกถึงความสูญเสียของสงคราม และเคารพถึงความเสียสละของวีรชนทั้งชายและหญิง (ดูเพิ่มเติมได้ที่ http://www.shrine.org.au/Home) นอกจากนั้นทีมเรียนรู้ได้เข้าเยี่ยมชม Immigration Museum พิพิธภัณฑ์ที่บอกเล่าเรื่องราวการอพยพเข้ามาออสเตรเลียของผู้คนจากหลากหลายชาติ การให้ความสำคัญ ยอมรับ อยู่ร่วมกัน และภูมิใจในความเป็นตัวตนของเรา (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://museumvictoria.com.au/immigrationmuseum)


วันที่ 1 พฤษภาคม 2017

สถานที่: โรงเรียนวิทยาศาสตร์จอห์น โมนาช (John Monash Science School) และ ห้องสมุดรัฐวิกตอเรีย (State Library of Victoria)

สำหรับวันนี้ได้ไปเข้าเยี่ยม John Monash Science School ซึ่งเป็นโรงเรียนที่เน้นการสอนด้านวิทยาศาสตร์ อาคารและห้องต่างๆของโรงเรียน John Monash ถูกออกแบบมาให้เปิดโล่งเพราะทุกพื้นที่เป็นของคนทุกคน John Monash เป็นโรงเรียนที่ไม่แบ่งแยกและยังสนับสนุนเรื่องความหลากหลายทางเพศ โดยในชั้นเรียนมีครูสองคนสอนร่วมกัน มีหนึ่งคนคอยสังเกตการสอน ชั่วโมงเรียนสามารถปรับให้หยืดหยุ่นได้ จะปรับให้น้อย หรือ มากขึ้นได้ ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ในห้องเรียนตอนนั้น

ทีมเรียนรู้ได้แลกเปลี่ยนกับคุณครู Adreana ชึ่งสอนสังคมศึกษา คุณครู Adreana บอกว่า “นักเรียนที่เรียนวิทยาศาสตร์อย่างเดียว ก็จะมองเฉพาะ แค่ศาสตร์ตนเองดังนั้นสังคมศึกษาจะช่วยเปิดมุมมองของนักเรียนให้กว้างขึ้น อีกทั้ง 10% ของนักเรียนที่สำเร็จการศึกษาก็เลือกศึกษาต่อในสายสังคมศาสตร์ด้วย”

นอกจากนั้นคุณครู Adreana ได้แนะนำการสอนกลุ่มวิชา Humanities รายวิชา Issues Studies โดยเน้นกระบวนการสืบสอบผ่านประเด็นถกเถียง ฝึกให้นักเรียนตั้งคำถาม โดยวิเคราะห์จากประเด็นปัญหาหรือสถานการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นรอบโลก และหาคำตอบโดยใช้วิธีการที่หลากหลาย และให้อิสระกับนักเรียนในการค้นคว้า (ดูเพิ่มเติมได้ที่ http://www.jmss.vic.edu.au/)

ในช่วงบ่ายทีมได้เดินทางไปเยี่ยมชม แหล่งเรียนรู้ที่สำคัญที่หนึ่งของเมือง Melbourne นั้นก็คือห้องสมุดรัฐวิคตอเรีย (State Library of Victoria) เราได้เรียนรู้ว่า รัฐตระหนักถึงความสำคัญของการเรียนรู้ จึงสร้างแหล่งเรียนรู้ที่ตอบโจทย์ ทั้งด้านการจัดบรรยากาศ หนังสือที่หลากหลาย มีเทคโนโลยีสำหรับการเรียนรู้ ห้องสมุดสามารถปรับเปลี่ยนได้ตามความต้องการของผู้ใช้ และที่สำคัญคือทุกคนสามารถเข้าใช้บริการได้อย่างเท่าเทียมกัน ไม่จำกัดเฉพาะพลเมืองของออสเตรเลียเท่านั้น (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.slv.vic.gov.au/)


วันที่ 2 พฤษภาคม 2017

สถานที่: รัฐสภาประจำรัฐวิคตอเรีย (Parliament of Victoria) ศูนย์วัฒนธรรมอะบอริจิน( Bunjilaka Aborijinal Cultural Center )

วันที่ 3 ของการศึกษาดูงาน ทีมได้รับโอกาสในการเรียนรู้ประชาธิปไตย ที่ Parliament of Victoria หรือ รัฐสภาประจำรัฐวิคตอเรีย โดย Nick Wakeling สมาชิกสภาผู้แทนราษฏรจากพรรค Liberal Party ได้ร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองกระบวนการประชาธิปไตย ที่ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของประชาชน และบทบาทหน้าที่ของผู้แทนที่ต้องรับฟังเสียงของประชาชน อีกทั้งการส่งเสริมการเรียนรู้ประชาธิปไตยของพลเมืองจากผู้แทนโดยตรง และจากแหล่งเรียนรู้ภายในรัฐสภา จากนั้นได้เข้ารับฟังการประชุมพิจารณางบประมาณประจำปี ซึ่งได้เรียนรู้บรรยากาศการถกเถียง แลกเปลี่ยน และนำเสียงของประชาชนที่ส่งผ่านผู้แทนมาสะท้อนเพื่อร่วมกันหาแนวทางที่เกิดประโยชน์สูงสุด

นอกจากนี้ทางทีมยังได้มีโอกาสพูดคุยกับ Fiona Patten ผู้แทนจากพรรค Sex Party ซึ่งทำหน้าที่เป็นตัวแทนของประชาชนใช้กลไกของรัฐสภาในการต่อสู้เพื่อสร้างความเป็นธรรมให้กับคนในสังคม (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.parliament.vic.gov.au/visit) ช่วงบ่ายทางทีมได้เข้าศึกษาพิพิธภัณฑ์เมลเบิร์น Melbourne Museum ในส่วนของ ศูนย์วัฒนธรรมอะบอริจิน( Bunjilaka Aborijinal Cultural Center ) ทำให้เราได้เรียนรู้ว่า รัฐบาล ตระหนักถึงความสำคัญของประวัติศาสตร์ความขัดแย้งระหว่างชาวผิวขาวที่ได้กระทำต่อชาวอะบอริจิน (Aborigin) อย่างกดขี่และไม่เป็นธรรม จนเกิดการต่อสู้เรียกร้องความยุติธรรมจากสังคม ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวนำไปสู่การเรียนรู้ร่วมกันของพลเมืองในการยอมรับ และแก้ไขข้อผิดพลาดในอดีต เพื่อก้าวข้ามความขัดแย้ง และสามารถอยู่ร่วมกันอย่างสันติ (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://museumvictoria.com.au/melbournemuseum)


(ติดตามต่อได้ในตอนที่ 2)