ปฏิกิริยาของผู้คนในสังคมสื่อถึงอุดมคติเกี่ยวกับสังคมที่ดีของเราเอง สำหรับฝ่ายที่ไม่ค่อยเข้าข้างแรงงาน มักมองว่าความไม่เท่าเทียมเป็นธรรมชาติของการแข่งขัน  หากเราเชื่อในเสรีนิยมในทางเศรษฐกิจก็จำต้องยอมรับว่าการแข่งขันย่อมทำให้เกิดคนที่ชนะและคนที่แพ้อย่างเลี่ยงไม่ได้…แต่หากเราเชื่อว่ามันไม่แฟร์สำหรับการเลือกเกิดไม่ได้ ก็ย่อมเลือกที่จะหาทางแก้ไขสภาพดังกล่าว ตราบใดที่เรายังไม่สามารถไปพ้นจากระบบการผลิตแบบนี้ได้ 

 

ทำไมจึงคิดว่าประเด็นเรื่องแรงงานเป็นเรื่องสำคัญที่จำเป็นต้องนำมาถกเถียงพูดคุยกัน?

จะตอบคำถามข้างต้นได้ตรงกับที่คิด อาจต้องทำสองเรื่องให้ชัดคือ แรงงานที่ว่าคือคนกลุ่มไหน และสำคัญในประเด็นอะไร เรื่องใด ประเด็นแรก แรงงานสำหรับผมอยู่ในความหมายเฉพาะกลุ่มคนบางพวก และเป็นบทบาท/สถานะของพวกเขาภายใต้ระบบการผลิตแบบนี้เท่านั้น ประเด็นที่สอง แรงงานมีความสัมพันธ์กับมิติของการผลิต สมาชิกร่วมสังคม และอุดมคติเรื่องสังคมที่ดี

ใครคือแรงงาน?? 

หากพูดในความหมายที่กว้าง อาจได้ว่า ในระบบการผลิตแบบหนึ่ง ๆ ย่อมไม่แปลกที่จะมีการเอาแรงงานของเราในฐานะส่วนหนึ่งของชีวิต มาแลกเปลี่ยนเป็นมูลค่าใช้สอย ในแง่นี้เราทุกคนที่ทำงาน ไม่ทางใดก็ทางหนึ่งย่อมมีการแลกเปลี่ยนนี้ ในแง่นี้ กรรมกรและผู้บริหารระดับสูง ย่อมถือเป็นผู้ใช้แรงงานไม่ต่างกัน

อย่างไรก็ตาม แรงงานที่เราให้ความสนใจมากกว่าคือ แรงงานในความหมายเฉพาะ กล่าวคือ หากเราเฉพาะเจาะจงในระบบการผลิตแบบทุนนิยม มันจะมีคนอยู่กลุ่มหนึ่ง ซึ่งเป็นพวกที่ไม่ค่อยเหลืออะไรอย่างอื่นนอกจากชีวิตตน-แรงกำลังของตนเพื่อให้มีชีวิตต่อไปได้ คนเหล่านี้อาจจำเป็นต้องขายส่วนหนึ่งของชีวิตนั้นอย่างไม่มีราคาค่างวดมากนัก ในเชิงรูปธรรมอาจหมายถึงพวกที่ยังชีพด้วยค่าแรงขั้นต่ำ

กลุ่มคนเหล่านั้นสัมพันธ์กับประเด็นอะไร ??

เรื่องแรกคือ ธรรมชาติของระบบทุนนิยม การตกอยู่ในสภาพดังกล่าวของพวกเขา อาจคิดได้ว่าเกิดขึ้นโดยบังเอิญเพราะความโชคร้ายและสามารถหลุดพ้นได้ถ้า “ขยัน” ความเชื่อเช่นว่าไม่จริงเพราะ แต่เอาเข้าจริงมันเกิดขึ้นอย่างจงใจ และเป็นส่วนหนึ่งของระบบการผลิตแบบนี้ตั้งแต่แรก

ทั้งนี้ ระบบการผลิตแบบทุนนิยมสร้างคนกลุ่มนี้ขึ้นมามากขึ้น คนกลุ่มผู้ซึ่งไม่ว่าจะ “ขยัน” ทำงานหนักแค่ไหน ก็ไปได้ไม่ไกลกว่าเดิมนี่แหละเป็นพวกที่ระบบต้องการ เพราะสำหรับระบบไม่มีอะไรดีไปกว่าการมีคนที่ไร้ทางเลือกและพร้อมจะทำทุกอย่างเพื่อแลกเงิน ถ้ามีคนเช่นนี้มาก ๆ แค่เรามีเงินเยอะ ๆ เราก็จะซื้อได้เกือบทุกอย่างที่ต้องการโดยเฉพาะสิ่งที่คนปกติไม่มีทางเอามาแลกกับเงินทั้งในแง่นามธรรม (เช่น ความรัก ศักดิ์ศรี ฯลฯ) และรูปธรรม (อวัยวะในร่างกาย เป็นต้น) สภาพดังกล่าวช่วยจรรโลงความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์แบบตลาด(สามารถทำกำไรกับเรื่องต่าง ๆ ได้) ให้กว้างไกลออกไป

เรื่องต่อมา ความคำนึงที่มีต่อสมาชิกร่วมสังคม พูดอีกแบบเป็นปฏิกิริยาที่เราจะมีต่อธรรมชาติดังกล่าวของระบบทุนนิยม กล่าวได้ว่า สภาพดังกล่าวแม้จะเป็นเรื่องปกติของระบบการผลิตแบบนี้ แต่เราอาจจะเลือกที่ปฏิสัมพันธ์กับเรื่องนั้น ด้วยการนิ่งเฉยต่อความเป็นไปของพวกเขาก็ได้ หรือว่าเราจะมีปฏิกิริยาในแบบที่เชื่อว่า ความโชคร้ายนั้นไม่ควรเกิดกับใคร เพราะคงไม่ยุติธรรมนักหากคนจำนวนหนึ่งที่เลือกเกิดไม่ได้แต่ต้องมากลายเป็นผู้ขายแรงงานแบบชั่วลูกชั่วหลาน

เรื่องที่สาม ปฏิกิริยาที่เรามีนั้น สื่อถึงอุดมคติเกี่ยวกับสังคมที่ดีของเราเอง สำหรับฝ่ายที่ไม่ค่อยเข้าข้างแรงงาน มักมองว่าความไม่เท่าเทียมเป็นธรรมชาติของการแข่งขัน  หากเราเชื่อในเสรีนิยมในทางเศรษฐกิจก็จำต้องยอมรับว่าการแข่งขันย่อมทำให้เกิดคนที่ชนะและคนที่แพ้อย่างเลี่ยงไม่ได้ ไม่ง่ายที่จะทำให้คนเท่ากันภายใต้การเปิดเสรีนั้น การเอาอกเอาใจคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเป็นพิเศษจะทำให้กระบวนการแข่งขันของระบบเสียไปและส่งผลให้เกิดความไร้ประสิทธิภาพเพราะผู้ที่อ่อนแอก็จะไม่ปรับปรุงตัว ในทางกลับกัน ถ้าเราเชื่อว่ามันไม่แฟร์สำหรับการเลือกเกิดไม่ได้ ก็ย่อมเลือกที่จะหาทางแก้ไขสภาพดังกล่าวตราบใดที่เรายังไม่สามารถไปพ้นจากระบบการผลิตแบบนี้ได้ สำหรับหนทางจัดการกับเรื่องข้างต้น แม้ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ในประสบการณ์ของมนุษย์ที่ผ่านมามีบางสังคมที่สามารถบรรเทาสภาพการณ์เช่นนี้ได้ (แต่ภายใต้เงื่อนไขเฉพาะจำนวนมาก) และนั่นน่าจะถือเอาว่าเป็นภารกิจของเพื่อนร่วมสังคมที่ต้องช่วยกันขบคิดใคร่ครวญเพื่อไปให้ถึงสังคมในอุดมคตินั้น

ด้วยสิ่งที่กล่าวมาข้างต้นทั้งหมด จึงคิดว่าประเด็นเรื่องแรงงานเป็นเรื่องสำคัญที่จำเป็นต้องนำมาถกเถียงโดยเฉพาะในแง่ของการมุ่งมองหาวิธีการประนีประนอม บรรเทาความทุกข์ยาก สร้างให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรมกว่าเดิม และเอาเข้าจริงผู้ที่เชื่อมั่นในลัทธิเสรีนิยมทางเศรษฐกิจควรจะสนับสนุนมาตรการเหล่านั้นด้วยซ้ำ เพราะ  หากเราเชื่อว่าการแข่งขันนำมาซึ่งความก้าวหน้า เราอาจต้องตระหนักด้วยว่า มันมีแนวโน้มของระบบทุนนิยมที่จะมุ่งไปสู่การทำลายการแข่งขันนั้น ทั้งด้วยการแช่แข็งสถานะ พร้อมกับถ่างช่องว่างของความเหลื่อมล้ำระหว่างผู้มี/ไม่มีทุน มีงานวิจัยจำนวนมากที่ชี้เห็นแนวโน้มนี้ หากเป็นแบบนี้ไปเรื่อย ๆ ก็เท่ากับว่าใครเกิดมาอย่างไรก็จะเป็นอย่างนั้นไปตลอด พ่อแม่เกิดมาจนรุ่นลูกรุ่นหลานก็จะยังเป็นแบบนั้นและไม่เหลืออะไรนอกจากแรงงานของพวกเขาเอาไว้ขาย ซึ่งหากไม่ริเริ่มทำอะไรก็เท่ากับทำลายการแข่งขันในท้ายที่สุด ดังนั้นการสนใจเรื่องแรงงานจึงสำคัญในแง่ดังกล่าว

 

ประเด็นเรื่องแรงงานเป็นเรื่องสำคัญที่จำเป็นต้องนำมาถกเถียงโดยเฉพาะในแง่ของการมุ่งมองหาวิธีการประนีประนอม บรรเทาความทุกข์ยาก สร้างให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรมกว่าเดิม

 

เวลาสอนนักศึกษาประเด็นเกี่ยวกับแรงงานสอนอย่างไร และยกตัวอย่างให้นักศึกษาเข้าใจได้อย่างไร?

ส่วนใหญ่ไม่ได้สอนโดยเรื่องนี้โดยตรง มีเพียงแทรกเป็นส่วนหนึ่งของหัวข้อที่ใหญ่กว่าที่พอนึกออกมีสองวิชาที่อาจแตะประเด็นนี้คือ วิชาความรู้พื้นฐานทางรัฐศาสตร์กับวิชาประวัติการเมืองไทย – วิชาแรกอยู่ในหัวข้อว่าด้วยระบบการผลิต ความสัมพันธ์ระหว่างเศรษฐกิจ-การเมือง ก็สอนอย่างที่บอกไปในข้อแรก สำหรับวิชาหลังช่วยให้เห็นตัวอย่างรูปธรรมโดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับประเด็นเรื่องการประท้วง และเรียกร้องความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของแรงงาน ที่ตรงที่สุดคือในช่วง หลังเหตุการณ์ 14 ตุลา 16 ซึ่งมีการประท้วง เรียกร้อง พร้อมกับกระแสความคิดแนวสังคมนิยมของนักศึกษา ปัญญาชนที่สอดรับการเคลื่อนไหวเหล่านี้

นักศึกษามีความคิดเห็นหรือแสดงออกอย่างไรต่อประเด็นเกี่ยวกับเรื่องแรงงานบ้าง

จำนวนหนึ่งก็เห็นอกเห็นใจ แต่ส่วนใหญ่คือเฉย ๆ ไม่ได้แสดงออกว่าคิดเห็นอย่างไรเป็นการเฉพาะ ทำให้เราก็ไม่รู้ว่าเขามีความคิดต่อเรื่องนี้แบบไหน อย่างไรก็ตาม เท่าที่สังเกตเห็นว่านักศึกษาที่ทำกิจกรรมส่วนใหญ่มีแนวโน้มเห็นอกเห็นใจในประเด็นเหล่านี้ จำนวนไม่น้อยในหมู่นักกิจกรรมเหล่านั้นร่วมเคลื่อนไหว/เรียกร้องไปด้วย