ครูสุทธาสิณี จากเครือข่าย Thai Civic Education ได้เล่าว่าวิชาอาเซียนศึกษา เธอได้ใช้มุมมองแบบเฟมนิส (สตรีนิยม) มาเป็นแนวคิดสำคัญในการออกแบบกิจกรรมให้นักเรียนได้ตระหนักและคิดเกี่ยวสิทธิผู้หญิงในอาเซียนและโลก
เราได้สอนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โดยทางโรงเรียนมีเป้าหมายหลักว่า ให้การเรียนการสอนไปเชื่อมโยงกับอัตลักษณ์ของโรงเรียน ซึ่งหนึ่งนั้นคือการเป็นสตรีในวิถีอาเซียน และสตรีในวิถีโลก เราจึงมาตั้งคำถามกับตัวเองว่า เรามีมุมมองเกี่ยวกับสตรีอย่างไร ซึ่งเรามองว่า สังคมปัจจุบันมันก้าวข้ามความเป็นอนุรักษ์นิยมไปไกลแล้ว มันคือการอยู่ร่วมกันในสังคมที่มีความหลากหลาย ทั้งความคิด ความเชื่อ การแสดงออก โดยเฉพาะเรื่องเพศที่ไม่ใช่แค่หญิงชาย แต่รวมถึงเพศทางเลือกอื่นๆด้วย ซึ่งทุกคนควรได้รับสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาคอย่างเท่าเทียม
เมื่อเราต้องสอนรายวิชาอัตลักษณ์ของโรงเรียนผ่านมุมมองที่ถูกต่อยอดมาจากอาเซียนศึกษา เราคิดว่า ควรสอนให้นักเรียนมองเห็นสิทธิ เสรีภาพ และบทบาทความเป็นพลเมืองของสตรีผ่านมุมมองสตรีนิยม โดยมีคำถามสำคัญว่า “สิทธิ เสรีภาพ และบทบาทของผู้หญิงควรเป็นอย่างไรบ้าง รวมไปถึงทำอย่างไรให้ผู้หญิงมีบทบาทในสังคมมากขึ้น” ซึ่งกระบวนการในห้องเรียน เราให้นักเรียนได้สมมติเป็นชุมชนที่มีความแตกต่างทางความคิด แต่กติกาสำคัญก็คือว่าเขาจำเป็นต้องมีการรับฟังความเห็นซึ่งกันและกันผ่านการถกเถียงในคำถามสำคัญที่เราให้ไป
.
หลังจากเขาได้พูดคุยกัน เราก็ให้แต่ละกลุ่มตัดสินใจเลือกมา 1 ประเด็นที่ให้คุณค่ามากที่สุด แล้วส่งตัวแทน 1 คนในกลุ่มออกมาพูดหน้าห้อง เพื่อให้เพื่อนกลุ่มอื่นได้ร่วมกันโหวตว่า เห็นด้วยกับประเด็นของชุมชนใดมากที่สุด แล้วตัวแทนของชุมชนนั้นก็จะได้รับมงกุฎไป เป็นเหมือนการประกวดนางงามที่ให้คุณค่าทางความคิด ไม่ใช่การให้คุณค่าจากรูปลักษณ์ภายนอก
แต่ทว่าในช่วงโควิด เราได้ปรับเปลี่ยนเป็นการสอนออนไลน์ ให้นักเรียนไปศึกษาเรื่องราวของผู้หญิงที่เขาสนใจไม่ใช่แค่อาเซียนแต่จากทั่วโลก หลังจากนั้นทำการวิเคราะห์ว่าทบาทของผู้หญิงที่เลือกมาไปสอดคล้องกับการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างไร โดยให้เลือกมา 1 ประเด็น มาวิเคราะห์แล้วนำเสนอ เช่น นักเรียนได้มีการยกบุคคลที่ชื่นชอบ คือ เกรตา ทุนเบิร์ก ที่ไปเชื่อมกับประเด็นสิ่งแวดล้อม เอ็มมา วัตสัน นักเคลื่อนไหวทางสังคม ทูตขององค์กรสตรีแห่สหประชาชาติ เป็นต้น จากการศึกษาของนักเรียน เขาได้สะท้อนออกมาว่า บทบาทการมีส่วนร่วมทางสังคมไม่ควรจำกัดอยู่ที่เพศใดเพศหนึ่ง แต่ทุกคนเข้าไปมีส่วนร่วมได้ และไม่ใช่แค่วัยทำงาน แต่ยังรวมถึงเยาวชนก็เข้าไปมีส่วนร่วมได้เช่นกัน
.
มากไปกว่านั้น นักเรียนได้มีการสะท้อนถึงเรื่องสิทธิ เสรีภาพและบทบาทของผู้หญิงออกมา ผ่านคำถามว่า ทำไมการที่ผู้หญิงจะออกไปทำอะไร ต้องขออนุญาตผู้ชายที่เป็นสามีก่อนในการทำสิ่งต่างๆ ของบางประเทศ รวมไปถึงประเด็นการคุกคามทางเพศของผู้หญิงที่ไม่ใช่แค่ร่างกายแต่รวมถึงจิตใจ ผ่านทางการกระทำ คำพูด และทางสายตา บทเรียนที่เกิดขึ้นช่วยให้นักเรียนรู้จักแสดงความคิดในฐานะพลเมืองที่อยู่บนหลักเหตุผลข้อมูล และเรียนรู้ที่จะรับฟังความเห็นของคนอื่น ที่สำคัญคือการมองเรื่องผู้หญิงและเพศที่ไปเชื่อมกับสิทธิเสรีภาพ และบทบาทในสังคม
ภาพโดย Chaipat Kaewjaras
#thaiciviceducation