อาจารย์รับขวัญ มองว่า การจะทำให้ผู้เรียนได้มองเห็นความแตกต่างระหว่างสังคมที่มีรัฐสวัสดิการกับไร้รัฐสวัสดิการได้นั้น เกมถือเป็นหนึ่งในเครื่องมือหนึ่งที่ช่วยสร้างสถานการณ์จำลองของการสนทนา พูดคุย ตั้งคำถาม และรับรู้ความรู้สึกระหว่างทำกิจกรรม เพื่อนำมาไปสู่การมองเห็นความเป็นได้ในการสร้างสังคมที่ดีกว่า
_
ดาวน์โหลดไฟล์เกมได้ที่ : https://wefair.org/the-capital/

ที่มาของเกมเริ่มจากงานวิจัยของเราที่ทำเรื่อง “การแสดงความสุขในโลกเสรีนิยมใหม่” ซึ่งเรามองว่าความสุขมันถูกใช้เยอะมาก โดยเฉพาะในวงการเศรษฐศาสตร์หรือจิตวิทยาที่จะชอบวัดความสุขของคน แต่จริงๆแล้ว คำถามหลักของงานวิจัยคือ แล้วถ้าคนอยู่ในสภาวะที่เปราะบาง ไม่ปลอดภัย ไม่มีรัฐสวัสดิการจะวัดความสุขไปเพื่ออะไร เพราะว่าบางครั้งกลับถูกเอามาใช้พูดย้อนกลับว่า “เห็นไหม ไม่ต้องมีรัฐสวัสดิการคนก็มีความสุขได้” ซึ่งเป็นคำอธิบายแบบที่ทำให้โครงสร้างความเหลื่อมล้ำยังอยู่ ดังนั้นจึงคิดอยากทำเกมที่ให้นักศึกษาได้เห็นสิ่งนี้ผ่านสถานการณ์ต่างๆ จึงเกิดเป็นเกม The Capital ขึ้นมา
.
ประกอบกับแรงบันดาลใจก่อนหน้านั้น เราได้เล่นเกม Pocket Academy เป็นเหมือนเกมบริหารโรงเรียนที่ต้องทำเควสต่างๆ แต่ว่าโรงเรียนนั้นมันเป็นโรงเรียนในระบบทุนนิยมมากๆ เหมือนเราเป็นคนบริหารโรงเรียนแล้วก็ต้องส่งเด็กไปแข่ง ตัวเกมมันจะแสดงขึ้นว่าเด็กแต่ละคนนี้มีต้นทุนความรู้อะไรบ้าง คนนี้เก่งแบบไหน ถนัดแบบอะไร ต้องส่งไปแข่งอะไร ซึ่งพอเราเล่นทำให้เราเลยตั้งคำถามว่าถ้าเกิดคุณอยู่ในสถานะที่มันมีต้นทุนต่างกันจริงๆ แบบนี้มันส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันของเราอย่างไรบ้าง ซึ่งไม่มีใครหรอกที่บอกว่าตัวเองเกิดมาแล้วเก่ง ความเก่งมันก็คือต้นทุนทางเศรษฐกิจ ทางสังคม การที่คุณไม่ต้องไปช่วยพ่อแม่ขายของทั้งวันทั้งคืน คุณไม่ต้องลาออกจากโรงเรียนเพื่อให้น้องได้เรียน อันนี้คือต้นทุนที่คุณมีอยู่แล้ว

ตัวเกมจึงที่ไม่ได้มีแพ้ชนะ ไม่ได้มีการแข่งขัน แต่ว่าจะเป็นกระบวนในกลุ่ม ประกอบด้วยกลุ่ม 4 คน ที่นักศึกษาแต่ละคน ต้องสร้างตัวละครที่เป็นเด็กอายุ 17 มีชื่อ มีอาชีพในฝัน มีชีวิตในฝันที่เขียนไว้ตั้งแต่ก่อนเล่นเกม แล้วก็วาดหน้าเป็นตัวละคร จะเป็นตัวเองก็ได้หรือเป็นตัวอะไรก็ได้ ทำให้คนเล่นเขารู้สึกว่านี่ไม่ใช่ฉัน แต่ว่าฉันกำลังสวมบทบาทเป็นตัวละครตัวนี้ เพื่อที่ว่าเราจะได้ไม่ต้องเอาประวัติ ชนชั้น หรือความรู้สึกของเรามาตัดสิน ทั้งนี้ก็เพื่อให้เขาได้ถอยออกมามองตัวละคนที่สร้างขึ้น
.
เกมจะแบ่งเป็น 2 พาร์ท พาร์ทแรกคือเรื่องความสุข ให้เขาทำสเกลไว้ 1-10 แล้วทุกคนเริ่มที่เดียวกันหมดเลย แล้วทุกคนต้องอยู่ตรงกลาง โจทย์ง่ายๆ คือทุกครั้งที่มีการตัดสินใจอะไรก็ตาม ให้เขาเป็นคนเลื่อนว่าจากการตัดสินใจแบบนี้ ความสุขของเขามันลดลง เท่าเดิม หรือมันเดินไป ซึ่งมันไม่มีถูกผิด ให้เขาคิดแทนตัวละครว่ามันจะเป็นอย่างไร ดังนั้นก่อนเริ่มทุกคนจะได้ต้นทุนเป็นถุงทุน โดยถึงแม้ว่าทุกคนเริ่มเท่ากัน เจอสถานการณ์เดียวกัน แต่สิ่งที่มันไม่เท่ากันก็คือต้นทุน นั่นคือเรื่องรัฐสวัสดิการ ที่ประกอบเรื่องสุขภาพ เงิน การศึกษา ทางเลือกในชีวิต เวลา และหัวใจ ซึ่งหัวใจค่อนข้างสำคัญมาก เพราะไม่ได้เป็นแค่ความรักแบบคู่รัก แต่มันคือความเป็นมนุษย์ ความรักในตัวเอง คุณยังรู้สึกรักตัวเองอยู่หรือไม่ คุณมีความรู้สึกว่าคุณยังรักคนที่อยู่ในสังคมเดียวกับคุณได้ไหม คุณยังมีความรู้สึกร่วมกับคนอื่นในสังคมไหม

สำหรับถุงต้นทุนจะขึ้นอยู่ว่าคุณเกิดในประเทศแบบไหน โดยเราแบ่งเป็น คนที่เกิดในประเทศรัฐสวัสดิการ คนที่เป็นชนชั้นกลางในประเทศทุนนิยม คนที่เกิดในชนชั้นล่างที่ไม่มีรัฐสวัสดิการก็อาจไม่มีตุ้นทุนเลย แต่ว่าสิ่งหนึ่งที่ทุกคนได้เท่ากันหมดคือหัวใจหรือความรัก จริงๆ แล้วชีวิตจริงมันคงไม่เท่ากันหรอก แต่อยากให้มันเห็นภาพชัดว่าถ้าเกิดมาคุณมีความเป็นมนุษย์เท่ากัน แต่ว่าโอกาสอื่นที่คุณได้มามันไม่เท่ากัน มันจะเกิดอะไรขึ้น ขณะเดียวกันมีเงื่อนไขด้วยว่าหากเงินไม่พอก็ให้กู้ ตัวเราจะเล่นบทเป็นธนาคารหน้าเลือด ซึ่งการกู้จะให้ใบหนี้สีแดงไปแทนเงิน โดยโจทย์ทั้งหมดที่เราบอกนักศึกษา แค่พยายามใช้ชีวิตตามความฝันของตัวละครที่เขียนไว้ ก็แค่พยายามทำตามนั้นไป การที่คุณได้ทำหรือไม่ได้ทำอะไรบางอย่าง ลองให้คุณประเมินว่าความสุขคุณมันจะมากขึ้นหรือน้อยลงไหม สุดท้ายคือพยายามใช้ชีวิตโดยที่ก่อหนี้ให้น้อยที่สุด
.
ลักษณะการเริ่มเล่นเกม จะมีการเปิดสถานการณ์โดยที่วางโครงเรื่องไว้ว่ามีสถานการณ์ตั้งแต่ 1-10 ซึ่งจะเป็นเหมือนช่วงอายุตั้งแต่เด็กคนนึงเรียนจบม.ปลาย เข้าเรียนต่อมหาลัย และเข้าทำงาน ไปเที่ยวกับเพื่อน ไปจีบผู้หญิง ไปมีแฟน ป่วย ท้อง หรือว่าจะโดนไล่ออกจากงาน ที่ทุกคนต้องเจอแบบเดียวกัน แต่ความน่าสนใจคือทุกคนจะผ่านมันไปได้เหมือนกันหรือไม่ เช่น ตั้งแต่แรก ถ้าคุณเรียนจบม.ปลายแล้วคุณจะเรียนต่อมหาลัย สิ่งที่คุณต้องจ่ายก็คือเงิน มีเงิน 5 ใบหรือเปล่า ถ้ามีเงิน 5 ใบก็จ่ายได้ คนที่อยู่ในประเทศทุนนิยมที่เป็นชนชั้นกลางก็จะจ่ายอันนี้ได้ หรือว่าถ้าคุณไม่มีเงินถึง 5 ใบ แต่คุณมีการ์ดการศึกษาอยู่แค่ 2 ใบคุณก็ใช้ได้เลย นี่จึงเป็นเหมือนภาพสะท้อนของคนที่เกิดในสังคมรัฐสวัสดิการ คือไม่ต้องใช้เงินเพื่อเรียน มันคือสิทธิ์ของการศึกษาเลย แต่ในทางตรงกันข้าม ถ้าคุณมีเงินไม่พอ คุณก็เรียนไม่ได้ แล้วถ้าคุณไม่มีสิทธิ์การศึกษานี้อีกก็จบ ก็คือเรียนไม่ได้ จึงจะมีตัวละครที่ไม่มีอะไรพวกนี้เลย ไม่มีทางเลือกอะไรเลยนอกจากไม่เรียน
.
โดยทุกการตัดสินใจเขาจะได้รางวัลบางอย่าง หากเขาเข้าสู่ระบบการศึกษา รางวัลที่ได้ก็คือคุณจะได้การ์ดเสรีภาพ มันหมายความว่าทางเลือกชีวิตคุณมันมีมากขึ้น พอตอนเล่นเกมจะเห็นว่าบางคนที่เกิดในประเทศรัฐสวัสดิการเขามีทั้งเงินมีทั้งการศึกษา ก็มีคนเลือกว่าจะไม่เรียน แต่การที่เขาไม่เรียนเพราะเขาบอกว่าความฝันของคนนี้ที่เขาเขียนไว้ก่อนเริ่มเกม เขาบอกว่าเขาอยากเป็นเกษตรกร เพราะฉะนั้นสำหรับเขามหาลัยไม่ได้ตอบโจทย์ ซึ่งพอเทียบกับอีกคนหนึ่งที่ไม่มีตุ้นทุนใดเลย ดังนั้นเขาฝันอยากเป็นนักบินอวกาศ มันก็จบตั้งแต่ตอนนั้น เป็นต้น
.
พอเล่นไปเรื่อยๆ สิ่งที่สังเกตเห็นคนที่อยู่ในกลุ่มที่ได้ต้นทุนสวัสดิการเยอะ เขาก็สามารถทำทุกอย่างได้ตามที่เขาปราถนา แต่ทว่าคนที่ไม่มีต้นทุนสวัสดิการ สิ่งที่เขามีมากขึ้นกลับกลายเป็นใบสีแดงหรือใบหนี้ ในตอนท้ายของเกมเป็นจุดที่น่าสนใจ เป็นสถานการณ์ที่เข้าไปทำงานแล้วโดนบริษัทไล่ออกกะทันหัน แล้วรู้สึกแย่มากกับความไม่เป็นธรรม อยากต่อสู้ แต่บริษัทเสนอเงินค่าปิดปากให้เรา เราจะทำอย่างไรดี
.
สิ่งที่เราสังเกตเห็นคือบางคนเป็นนักศึกษาที่รักประชาธิปไตย แต่พอได้เผชิญสถานการณ์มาถึงจุดนี้เขาเลือกรับเงินเลย มันเลยไม่ใช่เรื่องการตัดสินง่ายๆ ว่าเงินมันไม่ใช่ทุกอย่าง เขาให้เหตุผลว่าเขารู้สึกว่าปากท้องของเขามาก่อน หรือบางคนที่สู้จนจะไม่มีกิน ใบสีแดงเต็มตัว เขาบอกว่าเขาไม่เอาเงิน เขาสู้ เพราะเขาบอกว่ามันไม่มีอะไรจะเสียแล้ว จากคำตอบตรงนี้มันไม่ได้เป็นข้อสรุปของเกม แต่เป็นเหมือนการให้คนเล่นได้ทบทวนข้อขัดแย้งที่มันอยู่ในหัวเขาว่าถ้ามันเกิดขึ้นจริงๆ แล้วเขาเลือกตัดสินใจอย่างไร

สิ่งที่มันทำให้เกิดบรรยากาศแบบนี้คือการเล่นเป็นกลุ่ม ที่ทุกคนอยู่ในชาร์ตของระดับความสุข ทุกคนจึงไม่ได้เห็นแค่ตัวเอง เมื่อจบเกม เราสังเกตเห็นว่าตอนที่เขาเลื่อนคลาสความสุข คนที่อยู่ในสังคมรัฐสวัสดิการทุกคนจะมีความสุข แต่ว่าคนที่ไม่ได้อยู่ในสังคมรัฐสวัสดิการหรือว่าเป็นคนที่อยู่ในชนชั้นล่างที่ทุนน้อยมาก อันนี้ไม่ได้เสมอไปว่าเขาจะเป็นทุกข์ บางคนก็อยู่กลางๆ บางคนดูมีความสุขมากกว่าคนที่มีเงินอยู่ชนชั้นกลางมากกว่านั้นอีก นี่จึงเป็นประเด็นสำคัญมากได้ชวนคุยว่า ความสุขไม่ได้ความสำคัญ และความสุขสำหรับเรามันคือเรื่องของปัจเจก แต่มันจะเป็นปัญหาต่อเมื่อผู้มีอำนาจเอาเรื่องปัจเจกมาเพื่อเป็นข้ออ้างในการที่จะไม่แก้ไขปัญหาโครงสร้างโดยบอกว่า “เห็นไหม คนจนอยู่แล้วเขายังมีความสุขดีเลย เพราะว่าเขาไม่ได้ต้องการเงินหรือเปล่า ไปคิดแทนเขาหรือเปล่า”
.
สุดท้ายให้นักศึกษาสะท้อนจากกิจกรรม ตัวพวกเขาเหลือต้นทุนอะไรบ้าง ถ้าตัวละครตัวนี้พูดได้จะพูดอะไร นักศึกษาบางคนสะท้อนว่า “รัฐสวัสดิการมันสำคัญมาก มันคือชีวิต มันคือความรู้สึก ขณะเดียวกันตัวเขาก็รู้สึกอึดอัดมาก เมื่อเขาอยากทำอะไรแล้วมันทำไม่ได้ หรือการที่ต้องทำอะไรมันแลกกับการเป็นหนี้ แต่เขาเห็นคนที่ทำได้โดยที่ไม่ต้องเป็นหนี้” ดังนั้นกระบวนของเกมมันช่วยทำให้เห็นความเหลื่อมล้ำชัดขึ้น รวมถึงความเป็นไปได้ของสังคมแบบใหม่ ส่วนหนึ่งของเกมยังเป็นเกมที่เป็นตัวที่กลับไปตั้งคำถาม หากเวลาผ่านไป ความฝันของเรามันจะยังหน้าตาเหมือนเดิมไหม ความสุขของเรามันจะยังหน้าตาเหมือนเดิมไหม เป็นมันเป็นพื้นที่ให้เขาจินตนาการถึงสิ่งอาจจะเกิดขึ้นกับเขาในอนาคต


ภาพโดย @chaipat
#thaiciviceducation