พิพิธภัณฑ์สามัญชน
พื้นที่ที่ทำให้ห้องเรียนพลเมืองประชาธิปไตย
ไม่จำเป็นต้องอยู่ในโรงเรียนเสมอไป
.
Civic Classroom ตอนที่ 19 : พิพิธภัณฑ์สามัญชน พื้นที่การเรียนรู้ประวัติศาสตร์ฉบับประชาชน
อานนท์ ชวาลาวัณย์
ผู้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์สามัญชน
.
เยี่ยมชนออนไลน์ได้ที่ : https://commonmuze.com/

ผมในฐานะคนเรียนประวัติศาสตร์ มองว่าประวัติศาสตร์ที่เราได้เรียนได้รับรู้ เป็นเพียงแค่ประวัติศาสตร์ชนชั้นนำ แต่เราไม่เคยเห็นภาพมุมกลับของประวัติศาสตร์ ตัวอย่างชัดเจนเช่น เราเรียนเรื่องนโยบาย 66/2523 แต่เรากลับไม่เคยรู้เลยว่าพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยมีประวัติศาสตร์ความเป็นมาอย่างไร หากเราไม่รู้จุดนี้เราก็ไม่สามารถรู้เรื่อง 66/2563 ได้อย่างชัดเจนและเข้าใจ สะท้อนให้เห็นว่าเมื่อรัฐเขาเก็บหลักฐานทางประวัติศาสตร์ เขามักจะเก็บหลักฐานที่สามารถเอาไปขยายความยิ่งใหญ่ชนชั้นนำ
.
เราเห็นการเก็บบันทึกประวัติศาสตร์ของคน 1% แต่ประวัติศาสตร์ของคนอีก 99% แทบไม่ปรากฏเลย โดยเฉพาะประวัติศาสตร์ในมิติของการเป็นกลุ่มพลังทางการเมือง เมื่อไปเที่ยวพิพิธภัณฑ์โดยเฉพาะต่างจังหวัด มันก็จะมีเรื่องวิถีชีวิต เรื่องวัฒนธรรม เกิด แก่ เจ็บ ตาย เรื่องของใช้ในบ้านทั้งหลาย แต่ว่าเราไม่เคยเห็นมิติทางการเมือง ซึ่งมันเป็นไปไม่ได้ว่าคนไทย 77 จังหวัด จะไม่มีเรื่องราวในมิติทางการเมืองของสามัญชนคนธรรมดา เพียงแต่ว่ามันไม่มีที่ทาง มันแค่ไม่เคยถูกเก็บบันทึกอย่างเป็นเรื่องเป็นราว

ทำให้ผมคิดที่จะทำพิพิธภัณฑ์เพื่อบอกเล่าสิ่งเหล่านี้ขึ้น เราไม่ได้ต้องการหักล้างเสียทีเดียวว่าประวัติศาสตร์รัฐชาติ ราชา ชาตินิยม หรือประวัติศาสตร์กระแสหลักที่เราเรียนว่ามันไม่มีข้อเท็จจริง เพียงแต่ว่าข้อเท็จจริงชุดนี้ถูกยึดเป็นสรณะเพียงชุดเดียว ทั้งที่มันมีข้อเท็จจริงที่หลากหลาย ดังนั้นหลักฐานที่เราตามบันทึกที่เก็บรวบรวมและศึกษา เผยแพร่ มันได้กลายเป็นจุดกำเนิดที่นำไปสู่การก่อตั้งพิพิธภัณฑ์นี้ โดยมีเป้าหมายว่าเก็บสิ่งของที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวของคนธรรมดาขึ้นมา
.
ยกตัวอย่างเช่นม็อบนักศึกษา ถ้าย้อนกลับไปดูช่วงเริ่มต้นตอน ม็อบยังเป็นลักษณะการเคลื่อนไหวในมหาวิทยาลัย ซึ่งแต่ละมหาลัยขยันกันมาในการออกแบบโปสเตอร์เชิญชวนคนมาชุมนุมใน มีการตั้งสโลแกน ตั้งแฮชแท็กต่าง ๆ หรือมีมหรือไวรัล ที่มีคนทำเป็นรูปน้องคนนึงที่เป็นกลุ่มคนหลากหลายทางเพศกำลังวิ่งหนีรถฉีดน้ำในวันที่ 16 ตุลาคม แล้วมีคนนำมาทำเป็นมีม มันก็เป็นภาพที่บันทึกเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ 16 ตุลาคมวันนั้น แต่แน่นอนว่ามันจะไม่ถูกบันทึกโดยรัฐ ซึ่งปรากฏการณ์ทางการเมืองเหล่านี้ถือว่าเป็นเรื่องราวของยุคสมัย แล้วเมื่อถึงวันนึงมันก็จะเลือนหายไป ไม่ใช่แค่คนรุ่นหลังจะไม่รับรู้ แม้แต่คนร่วมสมัยเองก็จะลืมเลือนมันไปในสักวัน

ถึงแม้เราจะไม่ได้อยู่ในยุคที่ถูกผูกขาดข้อมูลยุคไว้ทางเดียวจากโทรทัศน์ วิทยุ หนังสือพิมพ์ของรัฐ และการเป็นผู้ผลิตสื่อมันก็เริ่มเบลอลง คนที่ไปม็อบ มีช่องทางสื่อออนไลน์ของตัวเอง เขาก็สามารถ่ายภาพโพสต์ลงหรือถ่ายไลฟ์ ทำให้มันเกิดการถูกบันทึกเข้ามาในหน้าฟีดของเราแต่ละคน ตามแต่ที่อัลกอริทึมจะจัดสรรไป แต่ปัญหาคือว่าข้อมูลมากมายมหาศาลเหล่านั้นมันไม่ได้มีการถูกจัดเก็บในฐานะหลักฐานทางประวัติศาสตร์อย่างจริงจัง วันหนึ่งมันก็อาจจะหายไป
.
ดังนั้น เป้าหมายของการมีพิพิธภัณฑ์สามัญชน จึงเป็นพื้นที่เก็บเรื่องราวต่างๆของสามัญชนในประวัติศาสตร์การเมืองไทย เพื่อให้คนได้นำไปศึกษาต่อ พร้อมกับสร้างความเข้าใจว่า นอกจากสิ่งที่รัฐบอกคุณ มันยังมีเรื่องเหล่านี้เกิดขึ้น สุดท้าย ท่ามกลางสิ่งของต่างๆที่ถูกเก็บมานำเสนอ มันมีความหลากหลาย แต่การจะเลือกเชื่อชุดข้อมูลหรืออุดมการณ์ฝั่งไหน คิดอย่างไร เป็นอำนาจของผู้มาเยี่ยมชม
__
เยี่ยมชมออนไลน์ได้ที่ : https://commonmuze.com/


ออกแบบภาพโดย Chaipat

#thaiciviceducation