ครูธนัญญา ต่อชีพ โรงเรียนฤทธิยะวรรณาลัย ครูสังคมศึกษาระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย เธอได้ใช้แนวคิดพหุวัฒนธรรม ความเป็นธรรม พลเมืองโลก มาสอนผ่านการหยิบยกกรณีต่างๆทั้งในระดับท้องถิ่น และระดับโลกขึ้น โดยให้นักเรียนได้เรียนรู้ อภิปราย สืบค้น เพื่อให้นักเรียนของเธอได้เข้าใจความแตกต่างทางศาสนาและความเชื่อ มองเห็นความเชื่อในฐานะเครื่องมือผลิตซ้ำความไม่เป็นธรรม
ครูธนัญญามองว่า การสอนศาสนาจะต้องทำให้นักเรียนมีแนวคิดพหุวัฒนธรรมเป็นพื้นฐานให้ได้ก่อน ผ่านการเรียนรู้เรื่องความแตกต่างทางความเชื่อของแต่ละศาสนา ดังนั้นในชั่วโมงแรกๆ เธอจึงเลือกที่จะทำให้นักเรียนเข้าใจความเปลี่ยนแปลงของศาสนาว่ามีความเป็นพลวัตร ไม่ได้ตายตัวเสมอไป แต่ล้วนมีการเปลี่ยนแปลง ผสมผสานความเชื่อกันไปมา เธอกล่าวว่า
“เราเปิดคลิปพระในญี่ปุ่น ที่สามารถแสดงคอนเสิร์ตได้ แต่งหน้าได้ เปิดร้านเล่นบอร์ดเกมส์ได้ อยากให้เขา(นักเรียน) เข้าใจว่าพุทธที่เป็นอยู่ไม่ได้มีแบบเดียวหรือแนวเดียว เพราะที่ผ่านมานักเรียนก็จะเห็นพุทธเถรวาทในบางประเทศ ที่มีความเป็นอนุรักษ์นิยมค่อนข้างสูง เคร่งในพระวินัย แต่ในหลายประเทศกลับเลือกที่จะปรับไปตามยุคสมัย มีนิกายที่หลากหลาย และความเป็นพลวัตรส่งผลให้ศาสนาเป็นทางเลือกของคนในสังคมไปแล้ว ศาสนาในหลายประเทศจึงต้องมีการปรับตัว ”
เธออธิบายต่อไปว่า ความเชื่อทางศาสนาในแต่ละสังคม โดยเฉพาะสังคมไทยของเรา ก็ล้วนผสมผสานความเชื่ออื่นเข้าด้วยเสมอ ไม่ได้เป็นพุทธเพียวๆ อย่างเดียว ประเด็น “ผี พราหมณ์ พุทธ ”จึงเป็นกรอบสำคัญที่เธอยกมาให้นักเรียนวิเคราะห์ผ่านวัฒนธรรมความเชื่อในสังคม เช่น บวชนาค ศาลพระภูมิ ประเพณีลอยกระทง ฯลฯ ว่าสิ่งเหล่านี้มีแนวคิดความเชื่อใดเกี่ยวข้อง พร้อมกับวิเคราะห์ต่อว่า วัฒนธรรมความเชื่อเหล่านี้สะท้อนคุณค่าในสังคมอย่างไร เช่น ประเพณีชิงเปรต นักเรียนมองว่าเป็นการแสดงถึงความกตัญญูกตเวทีต่อบรรพบุรุษ และสร้างความสนิทสนมกลมเกลียวในหมู่ญาติ เป็นต้น
ไม่เพียงแค่แนวคิดพหุวัฒนธรรมเท่านั้น ครูธนัญญายังได้ใช้แนวคิด “ความเป็นธรรมทางสังคม” มากระตุ้นมุมมองของนักเรียน “ ครั้งหนึ่งนักเรียนตั้งคำถามขึ้นมาว่า ทำไมคนไทยถึงชอบไปขอหวยกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เราจึงเปิดโอกาสให้นักเรียนอภิปรายกัน นักเรียนเห็นว่า เพราะคนไทยอยากรวยทางลัด เราจึงตั้งคำถามต่อไปว่า แล้วเพราะอะไรถึงเป็นเช่นนั้น เรื่องเหล่านี้เกี่ยวกับปัญหาเชิงโครงสร้างที่ไม่เป็นธรรมอย่างไร รวมถึงกรณีที่มี การตั้งศาลพระภูมิบริเวณทางโค้ง แสดงถึงอำนาจทางความเชื่อที่เข้ามามีบทบาทในสร้างความปลอดภัยและความเชื่อมั่น สิ่งเหล่านี้สะท้อนถึงการจัดการของอำนาจรัฐ และการดูแลประชาชนอย่างไร”
เมื่อนักเรียนทำความเข้าใจศาสนาด้วยแว่นตาพหุวัฒนธรรมและความเป็นธรรมทางสังคมแล้ว เธอได้หยิบยกประเด็น “รัฐฆราวาสกับรัฐศาสนา” เพื่อมาพูดคุยกับนักเรียนผ่านเพลงเด็กเอ๋ยเด็กดี ว่าทำไมเราถึงต้องนับถือศาสนา ทำไมรัฐถึงอยากให้เรานับถือศาสนา แล้วการเป็นคนนับถือศาสนาเป็นเด็กดีของรัฐอย่างไร นักเรียนเห็นด้วยหรือไม่ รวมถึงมีกรณีต่างๆให้นักเรียนได้วิพากษ์จากหลากหลายแง่มุมทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับโลก
“เรามีเคสให้นักเรียนได้ไปสืบค้นและวิพากษ์ เช่น การห้ามขายสุราในวันสำคัญทางศาสนา ดราม่าภาพพระอุลตร้าแมน การเรียนการสอนพระพุทธศาสนาในหลักสูตรไทย ความขัดแย้งในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ พุทธสุดโต่งในพม่า กรณีของการบุกยิงชาร์ลีเอ็บโด ฯลฯ ทั้งหมดนี้เราให้เขาวิพากษ์ว่าคิดเห็นอย่างไร เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย เพราะอะไร โดยเขาต้องหยิบหลักการขึ้นมาวิพากษ์ด้วย เช่น สิทธิ เสรีภาพ พหุวัฒนธรรม ความเป็นธรรม ไม่ใช่วิพากษ์ลอยๆ”
ครูธนัญญา กล่าวทิ้งท้ายว่า “บางครั้งความเชื่อถูกใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างความเกลียดชัง และปฏิเสธไม่ได้ว่าความรุนแรงในเชิงโครงสร้างมีส่วนสำคัญในการหล่อหลอมให้เกิดอคติทางวัฒนธรรม คนในสังคมจึงมีการตีตรา เหมารวม และเลือกปฏิบัติต่อกัน โจทย์ของห้องเรียนวิชาศาสนาจึงต้องพยายามสร้างพื้นที่ให้นักเรียนได้มองเห็นถึงความแตกต่าง หลากหลาย รวมไปถึงการเคารพคุณค่าในความเป็นมนุษย์ มากกว่าจะใช้ความเชื่อเป็นกำแพงในการสร้างอคติต่อกัน ”

เขียนและเรียบเรียงโดย

อรรถพล ประภาสโนบล