ครูตระการ ทนานทอง ครูในเครือข่าย Thai Civic ล้านนา และ โรงเรียนสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ มองว่า การสร้างให้นักเรียนเป็นพลเมืองท้องถิ่นนั้น สามารถเริ่มต้นได้จากการเรียนรู้ประวัติศาสตร์จากชุมชนของนักเรียนเอง ผ่านการลงไปสัมภาษณ์พูดคุย วิเคราะห์ข้อมูล แล้วสร้างความรู้เป็นของตัวเองขึ้น

.

เรามองว่าทั้งแบบเรียนและหลักสูตรไม่สามารถนำสิ่งที่โดดเด่นในท้องถิ่นชุมชนมาเป็นโจทย์ในการเรียนรู้ โดยเฉพาะประวัติศาสตร์ท้องถิ่นที่ เลยทำให้เราลองคิดกิจกรรมในชั้นเรียนให้ไปเชื่อมโยงกับประเด็นเหล่านี้ ดังนั้นในการเรียนการสอนในวิชาประวัติศาสตร์ไทย ระดับชั้น ม.5 และประวัติศาสตร์สากลในชั้น ม.6 เราจึงเริ่มปูพื้นฐานให้นักเรียนเข้าใจเกี่ยวกับวิธีการทางประวัติศาสตร์เป็นพื้นฐานก่อน

แล้วจึงมีการเพิ่มเนื้อหาเกี่ยวกับท้องถิ่นให้นักเรียนได้เรียนรู้ควบคู่ไป ดังนั้นเวลาที่เด็กไปศึกษาหลักฐานทางประวัติศาสตร์มักจะเป็นสิ่งที่ไกลตัว เช่น ศิลาจารึกของสุโขทัย ซึ่งไม่ได้ช่วยทำให้เด็กมองว่ามีกาเรียนมีความหมายต่อเขา เราจึงลองเปลี่ยนให้เขาไปดูศิลาจารึก พุทธูป ดูประเพณี หรือหลักฐานบางอย่างที่อยู่ในหมู่บ้าน แล้วเอามาพูดคุยแลกเปลี่ยนกัน

.

 

นอกจากนี้เราได้ใช้เครื่องมือ Timeline เข้ามาเป็นส่วนสำคัญในการสอน เพื่อช่วยให้เด็กมองเห็นเส้นประวัติศาสตร์ของชาติและโลก มาเทียบกับช่วงเวลาในประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ตัวอย่างเช่น ในการสอนประวัติศาสตร์ไทยช่วงรัตนโกสินทร์ ที่ผ่านมาเด็กไม่รู้เลยว่ามันตรงกับสมัยของประวัติศาสตร์ล้านนานหรือสันกำแพงในช่วงใด แต่พอเขาได้ศึกษาจากการลงไปถามคนในของท้องถิ่น เขาก็ตั้งคำถามว่า ในช่วงเลิกทาสในรัชกาลที่ 5 ขณะนั้นในสังคมล้านนาและบ้านของเขามันมีการเปลี่ยนแปลงอะไร ซึ่งเขาก็พบคำตอบใหม่ที่ไม่ใช่จากแบบเรียน
.
นอกจากนี้อย่างเช่น ม.6 เราได้ส่งเสริมให้เขาเรียนรู้ผ่านโปรเจคให้เขาลงไปศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่น โดยใช้กระบวนการทางประวัติศาสตร์ แล้วให้เขาสร้างองค์ความรู้ตามที่เขาสนใจ โดยเราเป็นที่ปรึกษาให้ ซึ่งผลที่เกิดขึ้นเด็กไม่ใช่แค่ได้เรียนรู้เฉพาะแง่มุมทางสังคมและประวัติศาสตร์เท่านั้น แต่เขายังได้พัฒนาทักษะทางเทคโนโลยีควบคู่ไปด้วย ผ่านการเรียนรู้ในพื้นที่เพื่อผลิตองค์ความรู้ของตนเองออกมา เช่น อินโฟกราฟิค หนังสือออนไลน์ โมเดล เป็นต้น ซึงนี้ทำให้เขารู้สึกว่าเขาเป็นเจ้าของความรู้ที่เขาสร้างขึ้นมาเอง และกลายเป็นประสบการณ์ที่ห้องเรียนไม่สามารถสอนเขาได้

.

สุดท้ายจากที่เขามองวิชาประวัติศาสตร์ในแง่ลบ เป็นวิชาที่ไม่สนุก ไม่ท้าทาย กลายเป็นว่าเขาเริ่มมองในทางที่ดีขึ้น ที่ช่วยเปิดโอกาสได้เขาสร้างความรู้ใหม่ เปิดโลกทัศน์ในการเรียนรู้ และส่งเสริมให้เขาอยากจะค้นหาความรู้ในท้องถิ่นด้วยตัวเขาเอง นอกจากนี้พอปลายทางจากความรู้ที่เป็นนามธรรมมาได้เปลี่ยนเป็นผลงานที่รูปธรรม มาติดโชว์ในห้อง เขารู้สึกว่าเขาเป็นเจ้าของความรู้นั้น และยังเป็นแรงบันดาลใจให้น้องๆ อยากเรียนรู้อีกด้วย