ครูฮาบีบ หรือ อับดุลเล๊าะ กอแต จากเครือข่าย Thai Civic Education ได้หยิบยกประเด็นใกล้ตัวอย่างเรื่องการเมืองท้องถิ่น มาเป็นโจทย์สำคัญให้นักเรียนได้เรียนรู้การเป็นพลเมืองท้องถิ่นควบคู่ไปกับหลักการประชาธิปไตย

.

ในวิชาการเมืองการปกครองท้องถิ่น ซึ่งเป็นวิชาเพิ่มเติมนั้น เราอยากให้นักเรียนได้รู้จักการมีส่วนร่วมทางประชาธิปไตย และโชคดีมากในช่วงเวลาที่ผ่านมาตรงกับการเลือกตั้งท้องถิ่นพอดี เราได้ออกแบบกิจกรรมที่ให้เด็กได้จำลองการเลือกตั้งท้องถิ่น เพื่อให้เขาได้เข้าใจกระบวนการเลือกตั้งและมองเห็นปัญหาที่เกิดขึ้นในท้องถิ่นของตนเองผ่านนโยบายการหาเสียงเลือกตั้ง
.
รวมถึงชวนนักเรียนสำรวจดูว่าที่ผ่านมามีกระบวนการหาเสียงอย่างไรบ้าง ซึ่งเด็กๆบอกกับเราว่า ยังมีวัฒนธรรมซื้อเสียงกันอยู่ในท้องถิ่น เราจึงชวนเด็กคิดว่าจะทำอย่างไรให้วัฒนธรรมแบบนี้ให้ค่อยๆหายไป และการเลือกและตัดสินใจในการเลือกใครสักคนเข้ามาบริหารนั้นควรเป็นอย่างไร

ในคาบแรก เราเริ่มต้นด้วยการพูดคุยเรื่องป้ายหาเสียงและการหาเสียงว่ามีกี่พรรคที่ลงแข่งบ้าง ใครลงสมัครบ้าง เขาใช้วิธีการอะไรในการเลือกตั้งบ้าง มีการใช้ประโยคอะไรในการสื่อสาร มีความแตกต่างหรือไม่ระหว่างผู้สมัครคนใหม่และคนเก่า เมื่อเด็กได้วิเคราะห์ออกมาแล้ว ในคาบที่สองก็ให้เขาได้ลองตั้งพรรคขึ้นมา แต่โจทย์สำคัญก็คือว่าเขาต้องออกนโยบายที่คำนึงถึงบริบทสังคมปัตตานีที่เขาอยู่ ใน 4 ด้าน ได้แก่ เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม การศึกษา และวิเคราะห์ดูว่าแต่ละด้านมีจุดเด่น จุดด้อยอะไร
.
ซึ่งในช่วงนี้เป็นอะไรที่ท้าทายมาก เพราะเขาไม่ได้มีพื้นฐานเรื่องนโยบายสาธารณะมากนัก และต้องคิดเชื่อมโยงกับท้องถิ่น แต่ก็มีนโนบายที่น่าสนใจ เช่น เรื่องการศึกษา ที่เขามองว่าควรมีการพูดคุยเพื่องเพศศึกษาในโรงเรียน เป็นต้น

ในคาบสุดท้ายคือการนำเสนอ เราให้เขานำเสนอจากสิ่งที่ตัวเองออกแบบว่ามีนโยบายอะไรบ้าง เราไม่ได้ให้แค่นำเสนออย่างเดียว แต่ให้เขาได้สลายกลุ่มแล้วเปลี่นเป็นผู้มีสิทธิออกเสียงแทน เพื่อให้เขาตัดสินใจโหวตว่านโยบายแบบใดที่เขาเห็นด้วย โดยเรามีสติ้กเกอร์หัวใจให้เขาไปแปะ หลังจากนั้นเราก็ได้พูดคุยกันว่าทำไมถึงชอบหรือเห็นด้วย หรือนโยบายต่างๆที่เสนอมามีข้อดีข้อเสียอย่างไร ใครได้ประโยชน์จากนโยบายเหล่านี้ แล้วสุดท้ายในการออกนโยบายเราควรนึกถึงใครบ้าง
.
จากการเรียนรู้ครั้งนี้ ทำให้นักเรียนเริ่มมองเห็นว่า การเมืองท้องถิ่นมีผลต่อเขาในอนาคตอย่างไรบ้าง ดังนั้นจำเป็นอย่างมากที่ต้องคิดและวิเคราะห์ในการตัดสินใจเลือกผู้นำที่เข้าไปบริหาร นอกจากนี้เขาก็เริ่มตั้งคำถามกับนโยบายสาธารณะในปัตตานีมาขึ้น เช่น ลาดจอดรถ ใกล้ๆโรงพยาบาล เด็กชวนคุยว่า พอเขาสร้างขึ้นมา มีการเก็บค่าใช้จ่าย แต่กลับมีความแตกต่างระหว่างเจ้าหน้าที่กับประชาชนทั่วไป ที่ไม่เท่ากัน สุดท้ายใครได้ประโยชน์จากลานจอดรถนี้ ทั้งหมดนี้เหมือนกับว่าเขาได้กลับมาคิดทบทวนและตั้งคำถามกับนโยบายในท้องถิ่น