ครูฐาปณี วงศ์สวัสดิ์ จากเครือข่าย Thai Civic Education ได้สะท้อนว่า ที่ผ่านมาการสอนอาเซียนซ้ำซาก วนอยู่กับเรื่องเดิม เนื้อหาเดิม และไม่น่าสนใจ เป็นการเรียนอาเซียนไม่ได้ไปไกลกว่าการนั่งจำชื่อ คำทักทาย การแต่งกาย หรือการท่องจำ ด้วยเหตุผลนี้ จึงทำให้ครูฐาปณี ได้ลองออกแบบบทเรียนแบบใหม่ที่เชื่อมโยงกับเรื่องความเป็นพลเมืองขึ้นมา ผ่านประเด็นร่วมสมัยที่เกิดขึ้นในสังคมอาเซียน

เพราะจริงๆวิชานี้ควรเปิดโอกาสให้นักเรียนได้ออกมาพูด ออกมาคิด ออกมาแสดงความคิดเห็นในประเด็นใกล้ตัวซึ่งเกี่ยวข้องกับกรอบของกฎหมายระหว่างประเทศ ข้อตกลงที่มีร่วมกัน ปฏิญญา ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และการกีดกันหรือให้สิทธิต่างๆ ที่มาพร้อมข้อแลกเปลี่ยน เพื่อสร้างความตระหนักรู้ในตนเอง เกิดความรู้ ความเข้าใจ มาอธิบาย ถกเถียง และนำไปต่อยอดให้เห็นอำนาจในการต่อรองหรือข้อจำกัดของอาเซียนในการรับมือกับประเด็นที่เกิดขึ้นจริง
.
เช่น การค้ามนุษย์ การประท้วงทางการเมือง การแข่งขันทางเศรษฐกิจ หรือแม้แต่ประเด็นด้านวัฒนธรรม เพื่อนำไปสู่การเข้าใจรูปแบบการแก้ปัญหาระหว่างประเทศและการอยู่ร่วมกันบนความแตกต่างซึ่งเป็นอัตลักษณ์ของอาเซียน จึงทำให้เราเริ่มหยิบยกประเด็นต่างขึ้นมาพูดคุยโดยใช้แนวคิดพลเมืองอาเซียนและพลเมืองโลกมาเป็นฐานคิดและร่วมถกเถียงในชั้นเรียนผ่านประเด็นต่างๆ

การเริ่มต้นบทเรียนอาเซียนในรูปแบบใหม่ เราจึงเริ่มต้นด้วยการยกเอาประเด็น “การรัฐประหารในประเทศเมียนมาร์” มาพูดคุย เพราะอยู่ในความสนใจและเกิดขึ้นล่าสุด โดยเอาภาพการเผาธงอาเซียนมาเป็นตัวดำเนินเรื่อง โดยถกเถียงว่าในภาพเกิดอะไรขึ้น ซึ่งมีนักเรียนที่รู้และไม่รู้ เกิดการแลกเปลี่ยนระหว่างผู้เรียนผ่านกระบวนการค้นคว้า เมื่อทราบที่มาเบื้องต้น แล้วจึงค่อยๆขยายขอบเขตความคิดให้มองภาพที่ใหญ่ขึ้นว่าเพื่อพูดคุยว่าในประเทศของเขานั้นเกิดอะไรขึ้นบ้างและเพิ่มความท้าทายด้วยการตั้งคำถามว่าอาเซียนควรวางตัวเช่นไรกับเหตการณ์นี้ ควรเข้ามามีบทบาทในการแก้ไขความขัดแย้งหรือวางเฉยต่อเหตุการณ์ดังกล่าว จากนั้นให้นักเรียนได้ค้นคว้าข้อมูลที่ลึกซึ้งมากขึ้นโดยใช้กฎบัตรอาเซียน กฎหมายระหว่างประเทศ ข้อเจรจาตกลงที่มีอยู่จริงมาประกอบกระบวนการคิด วิเคราะห์และต่อยอดไปถึงเรื่ององค์กรระหว่างประเทศ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ การเจรจาที่อาจสามารถให้ช่วยเหลือประเทศเมียนมาร์ หรือการกดดันต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากนานาประเทศที่ส่งผลต่อเหตุการณ์ทั้งทางบวกและทางลบ ซึ่งนักเรียนได้เรียนรู้จากการค้นคว้าหาความรู้ การถกเถียง การตั้งคำถามและการร่วมแลกเปลี่ยนชุดข้อมูล แนวคิดที่ได้เรียนรู้มา

จากบทเรียนแรกที่เกิดขึ้น ทำให้การเรียนอาเซียนเปลี่ยนจากการท่องจำ มาเป็นการตั้งคำถาม นักเรียนได้ร่วมคิด วิเคราะห์ ทำให้เกิดความสนใจและพยายามทำความเข้าใจประเทศเพื่อนบ้าน และก็นำไปสู่การตั้งคำถามสะท้อนกลับมาที่ประเทศไทยกับการแสดงบทบาทต่อการรัฐประหารของเมียนมาร์ในเวทีโลกว่าเหมาะสมหรือไม่ และในฐานะพลเมืองอาเซียน และพลเมืองโลกนี้ นักเรียนมีความคิดเห็นอย่างไร หรือสามารถช่วยเหลือประเทศเมียนมาร์ได้อย่างไรบ้าง เพราะจุดมุ่งหมายของการเรียนรู้ที่อยากให้เกิดขึ้นกับผู้เรียนคือการสร้างทักษะ “ความเป็นมนุษย์” ซึ่งเริ่มจากการเห็นอกเห็นใจ เข้าใจ ไปสู่การมีส่วนร่วมในการตัดสินใจแก้ไขปัญหา เกิดการตั้งคำถามที่อาจนำไปสู่การสร้างความเปลี่ยนแปลงในสังคม

แน่นอนว่าเพียงประเด็นเดียว คาบเรียน 1-2 คาบอาจยังไม่สามารถสร้างทักษะหรือเปลี่ยนแปลงแนวคิดของผู้เรียนได้ทันที แต่การค่อยๆ หยิบยกประเด็นอื่นๆ มาร่วมถกเถียงในชั้นเรียนโดยให้ผู้เรียนมีโอกาสเลือกประเด็นที่ตนเองสนใจมาพูดคุย ทั้งการค้ามนุษย์ วิกฤติในทะเลจีนใต้ การแย่งชิงวัฒนธรรมร่วมต่างๆ หรือแม้แต่ประวัติศาสตร์กับความขัดแย้งของข้อมูลทางประวัติศาสตร์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทำให้ผู้เรียนเห็นโจทย์ความท้าทายใหม่ๆ ของคนในรุ่นของเขา ได้มีโอกาสขบคิดภาพอาเซียนและโลกอนาคตที่ตัวเองอยากเห็น เห็นความสัมพันธ์หรือข้อจำกัดที่เกิดขึ้นและได้มองเห็นเพื่อนมนุษย์ที่อยู่ร่วมโลก ในขณะที่เราเองในฐานะผู้สอนจะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงของผู้เรียนทีละน้อย ค่อยๆ ปรับปรุงการเรียนรู้ร่วมกับนักเรียน สร้างคาบเรียนอาเซียนที่ไม่ใช่แค่การเรียนเพื่อ “รู้” แล้วจบคาบไปเหมือนที่ผ่านมา


ออกแบบภาพโดย Chaipat

#thaiciviceducation