ห้องเรียนของอาจารย์พัทธ์ธีรา ได้หยิบยกเรื่องราวของคนไร้รัฐพลัดถิ่นมาเป็นประเด็นหลักในการสอน เพื่อพาให้ผู้เรียนได้สำรวจ ตั้งคำถาม และสะท้อนคิดกับคุณค่าความสำคัญของสิทธิมนุษยชนของตนเองและผู้อื่น

เราได้มีโอกาสสอนในวิชา “สังคม สงครามและสันติ (มสสศ 102)” เป็นวิชาที่วางอยู่บนมุมมองสหวิทยาการทางสังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ สิทธิมนุษยชน ความรุนแรงและสันติภาพ เป้าหมายก็เพื่อสร้างพลเมืองที่ตระหนักรู้เท่าทันและเป็นผู้ที่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงทางสังคมไปในทางที่สันติและเป็นธรรมมากขึ้น ซึ่งประเด็นหนึ่งที่หยิบมาสอนคือเรื่องของสิทธิคนไร้รัฐพลัดถิ่น เพราะเราจะเห็นข่าวการละเมิดสิทธิของพลเมืองที่อยู่ตามชายขอบชายแดนประเทศ ทั้งที่เป็นกลุ่มคนที่อยู่มานาน อย่างล่าสุดก็ที่แก่งกระจาน ก็จะมีกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงซึ่งเขาอาจจะไม่ได้มีบัตรประชาชนหมายเลขปกติเหมือนเรา นี่จึงเป็นหนึ่งในแนวคิดที่มาชวนคิดชวนคุยชวนสอนในวิชานี้ในหัวข้อเรื่องสิทธิคนไร้รัฐพลัดถิ่น
.
ประกอบกับตอนเราเรียนปริญญาเอก มีรุ่นพี่คนหนึ่งคือ อาจารย์ฐิรวุฒิ เสนาคำ ได้ทำให้เรามีประสบการณ์กับเรื่องคนไร้รัฐพลัดถิ่นเป็นคนไทย ซึ่งเป็นผลพวงมาจากการสร้างรัฐชาติสมัยใหม่ของไทยในตอนนั้นที่มีการขีดเส้นแบ่งพรมแดนอาณาเขตประเทศไทย และมีการจำแนกแยกนับว่าใครบ้างที่เป็นพลเมืองไทยโดยใช้ศาสนา ภาษา ชาติพันธุ์มาเป็นเกณฑ์ แล้วก็ออกบัตรออกเลขประจำตัวรับรองการเป็นพลเมือง เมื่อมีการแบ่งแยกเช่นนั้นก็มีผลกระทบคือ คนไทยกลุ่มหนึ่งซึ่งตกค้างในพม่าแต่เขาก็เรียกตัวเองว่าเป็นคนไทยแต่ไม่ได้ถูกนับว่าเป็นคนไทยจึงไม่ได้รับสิทธินั้นด้วย ทางพม่าเองก็ไม่ยอมรับมีการผลักดันออกนอกประเทศ อันที่จริงในมาเลเซียก็มีคนไทยที่ตกค้างอยู่เช่นกัน แต่ไม่ค่อยมีปัญหามากนักเนื่องจากถือสองสัญชาติได้บางคนก็เป็นพลเมืองของมาเลเซียไปแล้วแต่ยังพูดไทยได้อยู่ ส่วนคนไทยในพม่าที่ถูกผลักดันกลับหรือหนีกลับมาอยู่แถวจังหวัดระนอง ชุมพร หรือประจวบฯ ด้วยไม่ถูกนับและไม่มีบัตรประชาชนไทยแม้ว่าจะกลับมาอยู่เมืองไทยนานแล้วก็ตาม จึงถูกรัฐจัดให้เป็น “คนหมายเลขศูนย์” กล่าวคือ ถือบัตรประชาชนที่ขึ้นต้นด้วยเลข “ศูนย์” บ่งชี้สถานะว่าเป็นคนไร้รัฐ คนกลุ่มนี้มีอยู่จำนวนมากในสังคมไทยและมักถูกละเมิดสิทธิ ถูกกระทำความรุนแรงเอารัดเอาเปรียบราวกับไม่ใช่คนเท่ากันกับเราอยู่เสมอ กรณีของ คุณชัยภูมิ ป่าแส เยาวชนกลุ่มชาติพันธุ์นักกิจกรรมที่ถูกยิงเสียชีวิต เป็นต้น
.
ประกอบกับตอนที่ทำวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก เราทำเรื่องคนกลุ่มน้อยนิด (Micro-minority) ชาวคริสต์ในชายแดนใต้ เราก็จะเห็นประเด็นเรื่องการนับ ไม่นับใครเป็นพลเมือง แล้วมีผลต่อการเข้าถึงสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานอย่างไร และที่ชายแดนใต้ก็มีคนไร้รัฐพลัดถิ่น ที่ถูกละเมิดสิทธิ ถูกกระทำความรุนแรงทั้งจากเจ้าหน้าที่รัฐและจากคนในสังคมด้วยกัน ทำให้คนเหล่านั้นยิ่งถูกผลักไปอยู่ชายขอบมากขึ้น ทั้งหมดนี้ก็เป็นแรงบันดาลใจที่ติดตัวมา ก็ทำให้ตอนมาออกแบบห้องเรียนวิชานี้จึงได้ใส่ประเด็นนี้เข้าไป

ในกระบวนการจึงเริ่มด้วยการให้นักศึกษาได้ระดมสมองกันว่าคุณรู้จักใครบ้าง รู้จักคนกลุ่มไหนบ้างในสังคมไทย ซึ่งนักศึกษาก็จะกล่าวถึงคนหลากหลายกลุ่ม เช่น คนไร้บ้าน ผู้หญิง LGBT ขณะที่กลุ่มชาติพันธุ์ คนที่ไร้รัฐพลัดถิ่นจะไม่ค่อยมีใครนึกถึง มักจะหลุดหายไปจากห้องเรียนเราเสมอ อันนี้ทำให้เราก็เลยรู้สึกว่าเออ มันก็จริง มันเป็นประเด็นที่มันหายไป แล้วพอได้ชื่อกลุ่มคนที่เขารู้จัก เราก็จะคอยกระตุ้นให้เขาคิดให้มากที่สุดว่ารู้จักกลุ่มไหนบ้าง ให้เรียกชื่อให้ถูก แต่ถ้าเป็นกลุ่มชาติพันธุ์เขาก็จะเรียกชื่อไม่ค่อยถูก ซึ่งประเด็นนี้เราก็จะเน้นย้ำว่า การเรียกชื่อให้ถูกเป็นการเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ในตัวของเจ้าของชื่อ เป็นการแสดงให้เห็นถึงความใส่ใจและสำหรับคนกลุ่มน้อยที่ถูกหลงลืมหรือมองข้าม มันคือการเสริมพลังอำนาจ (empowerment) ในตัวเขาด้วยอีกทางหนึ่ง เคยมีนักศึกษาในห้องมาจากกลุ่มชาติพันธุ์ใน จ.เชียงราย เขาดีใจ ตาลุกวาวที่เราเรียกชื่อชาติพันธุ์เขาถูก นศ.สะท้อนว่า “ภูมิใจและดีใจที่อาจารย์เห็นและเรียกชื่อถูก”
.
ถัดมาให้เขาจับคู่แล้วลองเลือกกลุ่มคนที่เขาคิดว่าเขารู้จักน้อยสุดมากลุ่มหนึ่ง แล้วให้เขาลองคุยเกี่ยวกับเรื่องคุณลักษณะของคนกลุ่มนั้นๆ เช่น ที่อยู่ สภาพทางสังคม สิทธิต่างๆ อันนี้ก็เป็นความยากของเขาว่าเขาจะต้องคิด ว่าคนที่เขาเลือกที่รู้สึกว่าไม่ค่อยรู้จักมากที่สุดอยู่ตรงไหนอย่างไร หลังจากนั้นก็ให้กลับมาแลกเปลี่ยนกันในวงใหญ่ แล้วก็ลองคุยกันดูว่าคนที่เขารู้จักเพื่อนรู้จักไหม จุดนี้ทำให้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในห้องเรียน เช่น กลุ่มนี้รู้จักคนปกาเกอะญอ หรือกะเหรี่ยงคอยาวเพราะเคยไปเที่ยว เคยไปดูแล้วเห็นภาพแบบนี้ แต่อาจจะไม่ได้รู้จักมาก แต่ก็จะมีบางกลุ่มที่อาจจะมีความรู้มากกว่า ก็แลกเปลี่ยนเรียนรู้เติมกัน แล้วลองคุยกันว่าคนกลุ่มนี้สภาพความเป็นอยู่เป็นยังไง

หลังจากแลกเปลี่ยน ก็ชวนให้เขาเอาบัตรประชาชนของแต่ละคนออกมาดูว่าข้างหน้ามันประกอบไปด้วยอะไร ข้างหลังมันประกอบไปด้วยอะไร มีตัวเลขอะไร มีการระบุอะไร ให้ถกเถียงกันไปก่อน แล้วก็ถามเขาว่าบัตรมันมีประโยชน์อย่างไร มันช่วยคุณให้เข้าถึงอะไรและอย่างไรได้บ้าง ในเวลาที่คุณอยู่ในสังคมนี้ ก็จะมีบ้างที่บางคนไม่รู้ว่าบัตรประชาชนตัวเองทำอะไร อย่างไรได้บ้าง ตัวเลขข้างหน้าตัวเลขข้างหลังทำอะไรได้บ้าง นักศึกษาไม่ค่อยรู้ประเด็นพวกนี้ว่ามันเชื่อมโยงกับเรื่องสิทธิอะไรบ้างไหมในสังคม
.
จากนั้นให้ดูเรื่องบัตรประชาชน เราจะยังไม่สรุปอะไร แต่จะให้เขาดูหนังสั้นเรื่อง “คนหมายเลขศูนย์” พอดูเสร็จแล้วเราก็จะถอดบทเรียนร่วมกัน ให้เขาได้ลอง “สะท้อนอารมณ์ความรู้สึก” ออกมาก่อนว่ารู้สึกอย่างไร เพระสิ่งสำคัญที่จะทำให้ตระหนักถึงคุณค่าความสำคัญของสิทธิมนุษยชนของตนเองและคนอื่นได้ก็คือ คุณต้องเห็นคุณค่าและรู้สึกกับมันให้ได้ก่อนว่ามันสำคัญต่อคุณอย่างไรจะได้เข้าใจการเคารพปกป้องสิทธิของผู้อื่นได้ ถัดมาก็ให้เขาลองสมมติว่าถ้าเป็นตัวละครในครอบครัวคนไร้สัญชาติเขาจะรู้สึกอย่างไร แล้วคิดว่าตัวเองจะทำอะไรบ้าง เมื่อแลกเปลี่ยนแล้วก็ดึงเข้ามาสู่บทเรียนเรื่องของสิทธิมนุษยชน สิทธิของคนกลุ่มน้อย (minority rights) คนกลุ่มใหญ่ (majority rights) และถกเถียง(discuss) ในประเด็นว่าทำไมเราถึงต้องมีหลักการเรื่อง IPPCR หลักเรื่องสิทธิมนุษยชนสำหรับพลเมือง หลักนี้มันปกป้องคุ้มครองคนกลุ่มนี้ได้อย่างไร

เรารู้สึกประทับใจกับการสอนเรื่องนี้มาก เพราะก่อนที่จะมาเรียนหัวข้อนี้ นักศึกษาได้เรียนหัวข้อเรื่องสิทธิมนุษยชนทั่วๆไปก่อน เช่น สิทธิผู้หญิง สิทธิมนุษยชนสากล ซึ่งจะเป็นเรื่องที่พูดกันเยอะ แล้วถึงจะมาสิทธิคนกลุ่มน้อย สิทธิของพลเมืองคนไร้รัฐไร้บัตรไร้ใบ แต่พวกเขาไม่รู้สึกว่าอิน ไม่รู้สึกว่ามันสำคัญกับชีวิตเรามากขนาดนี้ กระทั่งมาเรียนรู้เรื่องการต่อสู้ของพลเมืองที่ไร้รัฐไร้บัตรไร้ใบ และที่สำคัญมาจากชีวิตจริง มาจากงานวิจัย และเหตุการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนในเรื่องก็เกิดขึ้นกับใครก็ได้ไม่ว่าจะเป็นคนไร้บัตร หรือมีบัตร เพียงแต่เมื่อเกิดขึ้นกับคนไร้บัตร สิ่งที่ยากคือ การเรียกร้องความเป็นธรรม
.
สิ่งที่สะท้อนทุกรุ่นเลยก็คือเขาเห็นความอยุติธรรม เขารู้สึกว่าถ้าสมมติว่าเขาไม่มีบัตร 1 ใบ เขาก็ไม่มีใครที่จะรับรองสิทธิ์เขา จะมีคำพูดที่สะท้อนออกมาว่า ดังนั้นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานแบบนี้มันก็ไม่ควรจะต้องมาถูกกีดกันหรือถูกเลือกปฏิบัติด้วยด้วยบัตรประชาชนเพียง 1 ใบ นักศึกษาส่วนใหญ่จะบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า “สิทธิมนุษยชน” เป็น “เรื่องของคนทุกคน” และที่คนทั่วไปต้องให้การเคารพต่อกัน แม้ว่าจะมีบัตรหรือไม่มีบัตร หรือมีการสนทนาว่าถึงประเด็นเจ้าหน้าที่รัฐกับการเข้าใจเรื่องสิทธิมนุษยชนอีกด้วย
.
กล่าวได้ว่า การเรียนในหัวข้อนี้ ด้วยสื่อและกระบวนการในห้องเรียนทั้งหมดนั้น กระตุ้นให้ผู้เรียนตระหนักถึงคุณค่าความสำคัญและมองเห็นประเด็นสิทธิมนุษยชนว่าเป็นสิ่งที่อยู่ใกล้ชิดติดรอบตัวมากขึ้น มองเห็นเป็นองค์รวม เป็นองคาพยพ มันไม่ใช่แค่สิทธิของตัวเอง แต่ว่าองค์ประกอบต่างๆ ในสังคมไม่ว่าจะเป็นรัฐ เจ้าหน้าที่รัฐ องค์กรเอกชนอื่น ๆ รวมทั้งนโยบายหรือกฎหมายต้องหนุนเสริมเติมเต็มการเข้าถึงสิทธิและก็ต้องปกป้องสิทธิของกันและทำให้คนตระหนักแล้วนำมาปฏิบัติเป็นวัฒนธรรมการเคารพสิทธิและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ให้กว้างขวางมากขึ้น


ออกแบบภาพโดย : Chaipat
#thaiciviceducation