ปรัชญาเป็นเรื่องของผู้ใหญ่จริงเหรอ ?
การสืบสอบปรัชญาคืออะไร เด็กสามารถเรียนรู้ได้ไหม ?
แล้วสิ่งนี้สำคัญอย่างไรกับกาสร้างพลเมืองประชาธิปไตย ?
.
บทสัมภาษณ์ Civic space ตอนที่ 10 อาจารย์วัชรฤทัย บุญธินันท์ จากสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา ม.มหิดล
ที่จะมาบอกเล่าถึง “กระบวนการสืบสอบปรัชญากับสร้างพลเมืองประชาธิปไตย”

เราอาจต้องกล่าวถึง Matthew Lipman ที่มองว่าทักษะการคิด การตั้งคำถาม การมีส่วนร่วมของนักศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยที่เขาสอนที่เขาเจอนั้นยังมีคุณภาพไม่พอ ทำให้เขาคิดว่าต้องสอนทักษะพวกเป็นพื้นฐานให้กับเด็กมากขึ้น เพื่อให้โตขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่หรือเป็นนักศึกษาที่มีคุณภาพในเรื่องของการคิด การสื่อสาร การตั้งคำถาม ดังนั้นจึงมองว่าการใช้ปรัชญามันน่าจะเป็นแนวทางที่เหมาะสมที่จะไปชวนเด็กคิดหรือคุยในประเด็นที่เป็นคำถามใหญ่ๆ คำถามกว้างๆ
.
หลายคนอาจจะเข้าใจว่าเด็กไม่สามารถคิดได้แบบลึกซึ้งได้ แต่ถ้าเราย้อนกลับไปดูจริงๆ ตัวเด็กเองจะเป็นคนที่ชอบตั้งคำถาม เช่น ทำไมพระอาทิตย์ขึ้นและตก ซึ่งบางครั้งผู้ใหญ่อาจจะอธิบายเรื่องนี้ในเชิงวิทยาศาสตร์ แต่สำหรับเด็กไม่ใช่แค่เรื่องวิทยาศาสตร์ แต่เขามีความรู้สึกที่อยากรู้จริงๆ ว่าทำไมพระอาทิตย์ถึงขึ้นและตก ทำไมถึงมีกลางวันกลางคืน ทำไมถึงมีเวลา เวลาคืออะไร เป็นต้น เราจึงจะเห็นว่า พอเราโตมา เราจะไม่ได้ยินผู้ใหญ่ถามคำถามพวกนี้ เพราะเราถูกความรู้ที่เป็นความรู้เชิงวิทยาศาสตร์อธิบาย ดังนั้นการสอนปรัชญาสำหรับเด็ก จึงเป็นการเปิดให้เขาสามารถคิด ถาม สงสัย จากสิ่งที่สนใจจริงๆ แล้วมีกระบวนการที่เอื้อให้มาสืบสอบหรือพูดคุย ซึ่งมันจะไปพัฒนาทักษะในเรื่องของ Critical thinking, Creative thinking, Caring thinking

สำหรับทักษะ Critical thinking เป็นการคิดแบบมีเหตุผล คิดแบบวิเคราะห์ หรือการคิดอย่างวิจารณญาณรอบด้าน ซึ่งมันไม่ใช่เฉพาะการไปวิพากษ์ทางลบอย่างเดียว แต่มันเป็นการคิดโดยการให้เหตุผล โดยการพยายามเข้าใจ ตั้งคำถามกับมัน ในส่วน Creative thinking หรือคิดแบบสร้างสรรค์ จะเป็นการให้ความสำคัญกับการคิดต่อยอด เมื่อมีคนให้เหตุผลอะไรก็ตาม เราอาจจะต่อยอดจากสิ่งที่เขาอธิบาย หรือแตกไปประเด็นออกไปในแง่มุมมองอื่น สุดท้ายคือเรื่อง Caring เป็นการใส่ใจในสิ่งที่กำลังถกเถียงกันอยู่ เหมือนเราให้ความสนใจกับประเด็นที่ถูกเลือกมาพูดคุย อันความหมายหนึ่งก็คือ การพยายามเข้าใจคนที่พูดว่าเขามองจากมุมไหนบ้าง ไม่ได้ไปโจมตี แต่ฟังแล้วก็พยายามเข้าใจ มีความเห็นอกเห็นใจ แสดงท่าทีที่เป็นมิตร
.
สิ่งนี้เป็นพื้นฐานของการสอนปรัชญาที่เป็นคำถามกว้างๆ ไม่ได้มีคำตอบเดียว แต่มันเป็นสิ่งที่ถกเถียงกันได้ แล้วยังสัมพันธ์กับคุณค่าในชีวิตประจำวันของเรา เช่น คำถามของเด็ก ก็จะเป็นเรื่องเพื่อน เรื่องการเล่น ความกลัว เรื่องผี ซึ่งล้วนมันเป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องกับชีวิตคน

 

ในงานวิจัย Philosophical enquiry as a pedagogy for teaching critical thinking and democratic citizenship in higher education เรานำแนวคิดนี้มาทำในระดับมหาวิทยาลัยและชุมชนจริงๆร่วมกับอาจารย์ เป็นการสร้างพื้นที่ชุมชนที่นำเอากระบวนการสืบเสาะทางปรัชญาไปใช้ เครื่องมือนี้จึงเป็นส่วนในการสร้างการมีส่วนร่วมในชั้นเรียน เพราะที่ผ่านมาปัญหาก็คือนักศึกษาไทยที่จบมาจากระบบการศึกษาขั้นพื้นฐานของไทย ไม่คุ้นเคยในการแลกเปลี่ยน การได้แสดงความคิดเห็น การได้ตั้งคำถาม ดังนั้นการทำให้เกิดชุมชนสืบเสาะทางปรัชญา สามารถช่วยพัฒนาความเป็นพลเมืองของนักศึกษาให้มีลักษะกล้าคิด ตั้งคำถาม ใช้เหตุผล ซึ่งถือเป็นลักษณะสำคัญของสังคมประชาธิปไตย
.
สำหรับกระบวนการ สิ่งแรกคือให้นักศึกษาดู stimulus หรือสิ่งเร้า ตัวกระตุ้นในชั้นเรียน เช่น เวลาจะเปิดประเด็นกับนักศึกษาเราจะมีอะไรมาให้ดู เช่น ภาพ หนัง คลิป หลังจากนั้นอาจารย์จะต้องให้นักศึกษาได้ระดมคำถามที่ไม่ใช่คำถามเชิงข้อเท็จจริง หรือไปค้นกูเกิ้ลแล้วก็เจอ แต่เป็นคำถามที่เรียกว่าเป็น big questions หรือเป็นคำถามที่เป็นปลายเปิด ที่อาจจะมีหลายคำตอบ มีข้อถกเถียงกันได้ แล้วในท้ายที่สุดมันจะมีกระบวนการที่เลือกคำถามที่ทุกคนอยากคุยมากที่สุด ซึ่งมันก็จะกลายเป็นประเด็นของวงพูดคุย
.
ในกระบวนการสนทนา จะมีกติกาหลักคือ ไม่ต้องพูดทุกคน ใครอยากพูดก็สามารถพูดได้ พร้อมกับอุปกรณ์บางอย่างเพื่อแสดงสัญลักษณ์ว่าเห็นด้วย หรือไม่เห็นด้วยในระหว่างที่เพื่อนกำลังพูดหรือหลังเพื่อนในวงพูดจบ เป็นต้น จุดตรงนี้ตัวอาจารย์จะเป็นคนชวนคนในวงพูดคุยว่า ทำไมถึงเห็นด้วยหรือไม่เห็น ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนในวง

ตัวอย่างห้องเรียนหนึ่งที่น่าสนใจ เป็นการพูดถึงประสบการณ์วิชาชีพของนักศึกษาปี 4 เขาก็ตั้งคำถามมาเรื่อง การลงโทษด้วยการตีในชั้นเรียนว่าเป็นสิ่งที่ควรทำหรือไม่ ซึ่งบรรยากาศในชั้นเรียนก็จะมีทั้งคนเห็นด้วย คนที่ยังคิดว่าจำเป็น แต่ว่ามีเงื่อนไข หรือบางคนไม่เห็นด้วย ทำให้เราเห็นว่าการถกเถียงที่เกิดขึ้นไม่ใช่การดีเบต แต่เป็นการเปิดให้ทุกคนได้ดึงประสบการณ์ของตัวเองออกมาแลกเปลี่ยนและสะท้อน ซึ่งในตอนท้ายอาจไม่ได้สรุปว่าอะไรถูกผิด แต่อาจจะมีคำตอบที่ดีมากกว่า หรือดีน้อยกว่าเท่านั้น ที่สำคัญ ทุกคนจะสามารถมองได้รอบด้านมากขึ้น ซึ่งคนที่บอกว่า มันมีเงื่อนไขบางอย่างที่อาจจะทำให้ครูต้องลงโทษโดยการตี แต่จริงๆแล้วไม่ได้อยากให้ต้องตี ดังนั้นต้องชวนมองต่อไปว่าแล้วมีปัจจัยอะไรบ้างที่เราต้องคำนึงถึง ถ้าเราไม่อยากจะลงโทษโดยวิธีนี้ เป็นการชวนมองให้มันรอบด้าน
.
สุดท้ายจากงานวิจัย เราพบว่า ผู้สอนหลายคนได้มีโอกาสทบทวนและสะท้อนบทบาทของตัวเองที่เคยต้องเป็นผู้บอกความรู้ และคำตอบในชั้นเรียน โดยเห็นประโยชน์ของการสร้างพื้นที่ที่จะให้เด็กเข้ามามีส่วนร่วมและฝึกทักษะการคิด การให้เหตุผล พร้อมกับเชื่อมั่นในศักยภาพของผู้เรียนที่ต้องอาศัยเวลาในการสืบสอบ ซึ่งในหลายประเด็นอาจจะยังไม่ได้คำตอบของบทเรียนในวันนี้ แต่กระบวนการนี้จะเอื้อให้พวกเขาคิดกับมันอยู่และตั้งคำถามต่อไป