เฉลิมชัย พันธ์เลิศ ผู้อำนวยการสถาบันสังคมศึกษา สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา สพฐ. ได้มาบอกเล่าให้เห็นภาพว่า ทิศทางหลักสูตรสมรรถนะที่กำลังจะเกิดขึ้นนี้ อาจเปลี่ยนมุมมองการสร้างพลเมือง โดยมุ่งเน้นให้ผู้เรียนเป็น Active Citizen ขณะเดียวกันบทบาทการสร้างพลเมือง อาจไม่จำกัดอยู่เพียงครูสังคมศึกษาและวิชาหน้าที่พลเมืองอีกต่อไป แต่ครูทุกคนก็สามารถสร้างพลเมืองได้เช่นกัน

Q 1 : ทำไมต้องเปลี่ยนเป็นหลักสูตรสมรรถนะ
.
หลักสูตรสมรรถนะเป็นปรากฏการณ์ทั่วโลก ที่มองว่าโลกปัจจุบันมันผันผวน ซับซ้อน ไม่แน่นอน คลุมเครือ แล้วการเรียนที่เป็นระบบเดิม ที่เน้นเนื้อหาจำนวนมาก ซึ่งอาจไม่มีความจำเป็นที่คุณจะต้องรู้เยอะรู้มากเหมือนเดิมแล้ว เนื้อหาจำนวนมากมันจึงปรับไปเป็น concept (แนวคิด) ใหญ่ๆ เพื่อใช้เวลาไปกับการนำแนวคิดนั้นไปฝึกปฏิบัติ ลองเอานำความรู้ไปใช้ในการงานและชีวิตในสถานการณ์ต่าง ๆ ถ้าอยากให้งานที่ทำมันดีมีคุณภาพมากขึ้นก็ค่อยกลับไป study เนื้อหาเพิ่ม ฝึกเพิ่มเพื่อให้ทำงานได้มีคุณภาพมากขึ้น และความสามารถเหล่านั้นก็สามารถไปปรับใช้กับเนื้อหาอื่นได้กว้างขวาง การทำงานแบบนี้น่าจะดีกว่า มันก็เลยเป็นที่ไปที่มาว่าทั่วโลกให้ความสนใจแนวคิดการออกแบบหลักสูตรฐานสมรรถนะ เป็นแบบของหลักสูตรแบบหนึ่งที่ให้ความสำคัญที่สมรรถนะของผู้เรียน ที่เป็นเป้าหมายของการจัดการศึกษา
.
การศึกษาฐานสมรรถนะมันเปลี่ยนโลกทัศน์การจัดการศึกษาใหม่ ไม่ใช่เฉพาะหลักสูตร หลักสูตรก็เพียงเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาทั้งระบบ ที่สำคัญคือ มันเปลี่ยนมุมมองเรื่องการศึกษาไปเลย ไปเน้นเรื่องการใช้ในชีวิตได้จริง คนเราควรทำการงาน ทำอะไรได้บ้าง ส่วนเนื้อหาที่เคยเป็นหลักมานาน ก็ปรับเป็นสื่อเพื่อใช้พัฒนาสมรรถนะ อย่างเช่นในการเรียนวิชาสังคม เรียนวิชาหน้าที่เต็มไปด้วยเนื้อหาจำนวนมาก แต่อาจจะนำไปใช้ได้มีสัก 20 เปอร์เซ็นต์ การศึกษาฐานสมรรถนะจะโฟกัสไปที่ว่าเนื้อหาส่วนที่เอาไปใช้ได้มันมีอะไร หลักสูตรก็จะวางระบบที่เน้นตรงนี้ก่อน

Q 2 : การสร้างพลเมืองภายใต้หลักสูตรสมรรถนะจะมีหน้าตาเป็นอย่างไร
.
หลักสูตรอิงมาตรฐานที่ใช้อยู่มีเป้าหมายคุณภาพอยู่ What’s children should know and be able to do เด็กควรจะรู้อะไรและทำอะไรได้ ก็ยังเน้นตัว know อยู่ ดังนั้นในหลักสูตรมันก็จะเน้นเนื้อหาค่อนข้างเยอะ บางอันมันก็เป็นมรดกเก่าตั้งแต่หลักสูตรเดิมก่อนหน้านั้นที่เน้นเนื้อหา ซึ่งเป็นมรกดที่ติดตัวครูมา พอมาเป็นหลักสูตรฐานสมรรถนะ รัฐ Alberta ประเทศ Canada เขียนไว้ชัดเลยว่าการศึกษาฐานสมรรถนะ A Shift from knowledge to action คือเน้น action การลงมือปฏิบัติเลย ดังนั้นหลักสูตรฐานสมรรถนะ keyword คือ What’s children should do ประโยคเดียวเลยว่าเด็กจะต้องทำอะไรได้ เรื่องสร้างพลเมืองก็ต้องตอบให้ได้ว่าเราปรารถนาจะเห็นว่าพลเมืองของเราเขาควรจะทำอะไรได้บ้าง
.
ในเอกสารร่างกรอบสมรรถนะหลักของไทยจะมีอยู่ 5 ด้าน ประกอบด้วยสมรรถนะการจัดการตนเอง การสื่อสาร การทำงานเป็นทีม พลเมืองเข้มแข็ง แล้วก็การคิดขั้นสูง ดังนั้นเมื่อมองเรื่องความเป็นพลเมืองมันมีสองความหมายคือ active citizen ความเป็นพลเมืองเข้มแข็งที่เป็นสมรรถนะหนึ่ง แต่ถ้าเรื่อง democratic citizenship education มันก็กินความหมายกว้างกว่าพลเมืองที่เข้มแข็ง มันต้องรวมคิดขั้นสูงด้วย มันต้องจัดการตัวเอง ต้องสื่อสาร ต้องรวมพลังทำงานเป็นทีม มีทุกสมรรถนะ ความจริงก็จะมีสมรรถนะอื่นๆ ด้วย แต่ขึ้นอยู่กับจะเลือกให้ความสำคัญกับสมรรถนะใดให้เป็นสมรรถนะหลัก

Q 3 : แล้วบทบาทของครูต่อการสร้างพลเมืองจะเปลี่ยนไปหรือไม่ ?
.
บทบาทครูจะเปลี่ยนไป เพราะว่า ที่ผ่านมาเราเป็น teaching about เกี่ยวกับเนื้อหาเรื่องพลเมืองมันก็จะเน้น content ที่อยู่ในวิชาหน้าที่พลเมืองและภารกิจการพัฒนาพลเมืองในความหมายนี้ ก็เป็นหน้าที่ของครูสังคมศึกษากับเวลาสัปดาห์ละ 2 ชั่วโมง ทำให้เราไปฝากความหวังทั้งหมดของเด็ก ของประเทศไว้กับครู 1 คนกับเวลา 2 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ซึ่งอันนี้ก็ไม่แฟร์ แต่ในมุมฐานสมรรถนะ เน้นไปที่ learning through คือมันต้องเป็นกิจกรรมที่ครูทุกคนสามารถพัฒนาเด็ก กิจกรรมให้เด็กได้แสดงความคิดเห็น ได้ถกเถียงกัน ได้แก้ปัญหา ได้ทำงานกลุ่ม ได้อภิปราย ทั้งหมดทั้งหมดนี้มันคือการพัฒนาความเป็นพลเมือง ซึ่งพอมองอย่างนี้ก็อยู่ในทุกวิชา ทุกกิจกรรม ทุกพื้นที่ ดังนั้นสมรรถนะของความเป็นพลเมืองมันจึงไม่ได้พูดในแง่ของวิชาหน้าที่พลเมืองอย่างเดียว
.
การเรียนการสอนแบบฐานสมรรถนะคือการให้ความสำคัญของการทำ ดังนั้นเนื้อหาอันเยอะแยะนั้นมันก็จำเป็นจะต้องหลอมตัว ปรับตัว ที่เป็นเนื้อหาย่อยๆมันจะเหลือแค่ concept มันจะหดตัวลงมา ซึ่งอันนี้มันเป็นจุดอ่อนของการศึกษาฐานสมรรถนะอย่างหนึ่งคือคนก็จะมองว่าเด็กอ่อนเนื้อหา แต่ถ้าเนื้อหามันได้เป็น key concept จริงๆ อย่างที่เราพูดเรื่องสิทธิมนุษยชน เรื่องรู้เท่าทันสื่อเป็นบิ๊กไอเดียใหญ่ๆ ไม่ต้องเป็นปลีกย่อย เป็นแว่นตาใหญ่ๆ ที่ครูใช้พูดคุยกับเด็ก มันจะช่วยสร้างให้เกิด deep learning เพราะเด็กจะได้เรียนผ่านตัวกระบวนการ เด็กก็จะได้ฝึกกระบวนการ ได้ถกเถียง ได้ทำงานกลุ่ม ได้แก้ปัญหา ซึ่งสิ่งพวกนี้มันสมรรถนะจำเป็น เป็นเรื่องการพัฒนาความเป็นพลเมือง ทีนี้หลักสูตรมันต้องปลดล็อคตรงนี้ ถ้าปลดล็อคจากเนื้อหาจำนวนมากลงก็จะได้มีเวลาฝึก โดยมีสมรรถนะหลักที่เป็นแกนในการพัฒนาผู้เรียนร่วมกัน และสมรรถนะเฉพาะหรือทักษะประจำวิชา ในวิชาทีเรียนก็เข้มแข็งขึ้น และพัฒนาสมรรถนะที่เป็นแกนร่วมกันไปพร้อมกันด้วย


ออกแบบภาพโดย Chaipat
ขอบคุณภาพถ่ายจาก eef

#thaiciviceducation