ตลอดประวัติศาสตร์ ผู้หญิงมีการต่อสู้เรียกร้องความเท่าเทียมทางเพศเสมอ แต่ทว่าในสังคมก็ยังผลิตซ้ำวาทกรรมหรือมายาคติบางอย่างให้ความไม่เท่าเทียมดำรงอยู่ ดังนั้นทางเราจึงได้รวบรวมวามเห็นของนักศึกษา ครู และอาจารย์ ที่จะชวนไปสำรวจมายาคติเกี่ยวกับผู้หญิงที่ควรถูกถอดรื้อ #แด่วันสตรีสากล

เกิดเป็นผู้หญิงต้องทำงานบ้านเป็น ทำอาหารเป็น

เราว่าวาทกรรมนี้ยังคงมีอยู่ในสังคมปัจจุบันมาตลอด ผู้หญิงต้องเป็นแม่บ้านแม่เรือน ต้องรู้จักทำงานบ้าน ต้องทำอาหารเป็น ส่วนผู้ชายก็ออกไปทำงานหาเงินอะไรแบบนี้ ซึ่งสังคมมักมองว่าผู้หญิงเป็นเพศที่อ่อนแอ แต่มันไม่จริงเลย เราว่าทุกคนมีความสามารถในแบบของตัวเอง ไม่ใช่ผู้หญิงทุกคนที่ถนัดเรื่องในบ้าน ยังมีผู้หญิงบางคนที่ถนัดจะทำงานนอกบ้านหรือทำอย่างอื่นมากกว่า เราอยากให้สังคมตระหนักว่าทุกเพศเท่าเทียมกันและมีสิทธิ์ที่จะเลือกได้ว่าอยากใช้ชีวิตอย่างไร โดยที่ไม่ได้เป็นการลดทอนคุณค่าของตัวเอง
.
มัลลิกา ฤทธิ์บุรี นักศึกษามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร

เป็นสุภาพบุรุษ/สุภาพสตรี

คำที่ตีกรอบว่าพฤติกรรมชายหญิงที่ดีต้องเป็นอย่างไร แต่แฝงไปด้วยการกดทับในทุกเพศ ผลักให้ผู้ที่มีอัตลักษณ์ตัวตนหรือพฤติกรรมการแสดงออกที่ต่างไปจากสังคมกำหนด รู้สึกถูกตีตราและแปลกแยก ไม่ว่าจะเรียกตนเองว่าเป็นเพศอะไร การแสดงออกที่สุภาพ เสียสละ ปฏิบัติต่อผู้คนในสังคมอย่างให้เกียรตินั้นถ้าทำสามารถทำและถูกชื่นชมในฐานะมนุษย์คนหนึ่งได้ ไม่ใช่เพราะถูกกำหนดมาแล้วว่าเป็นเพศนี้ต้องแสดงออกแบบนี้เท่านั้นจึงเหมาะสมและดี
.
ครูภาสินี รุ่งเรือง

ผู้นำควรเป็นหน้าที่ของผู้ชาย

แท้จริงผู้หญิงสามารถเป็นผู้นำที่ดีได้เช่นเดียวกันกับทุกคน มายาคติที่มีมุมมองว่า ผู้นำควรเป็นหน้าที่ของผู้ชายเป็นหลัก ควรถูกทำให้เปลี่ยนไป ทั้งนี้ ในศตวรรษที่ 21 มีผู้นำระดับชาติที่เป็นสตรีจำนวนมากขึ้น อย่างไรก็ตาม เรายังคงต้องการเห็นสตรีก้าวขึ้นมามีบทบาทในสังคมจำนวนมากขึ้น ปัจจุบันสตรีเป็นผู้นำชุมชน – ท้องถิ่น เป็นจำนวนมาก แต่ตัวเลขนี้ลดลงในระดับที่ขยายใหญ่ขึ้นไป
.
อาจารย์ชนินทร เพ็ญสูตร
คณะรัฐศาสตร์ฯ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่


ภาพโดย Chaipat Kaewjaras
#thaiciviceducation