เวลาเรามองผู้เรียน เราไม่สามารถมองว่าเขามาโรงเรียนเพียงตัวเปล่า แต่เด็กมีภูมิหลังทางวัฒนธรรม ความเชื่อ ความคิดหรือความเป็นชาติพันธุ์ของเขาข้ามเข้ามาในพื้นที่ของโรงเรียนด้วย

บทสัมภาษณ์ Civic space ตอนที่ 11 มองการสร้างพลเมืองเชิงวัฒนธรรม ผ่าน การจัดการศึกษาชายแดน อาจารย์วสันต์ สรรพสุข ที่พาให้เรากลับมาตั้งคำถามว่า เรานิยามความเป็นพลเมืองผ่านการจัดการศึกษาอย่างไร

เมื่อเราดูพื้นที่ชายแดนหรือการศึกษาชายแดน หากมองในเชิงบริบทของผู้คนแล้ว จะพบว่ามีความต่างกับการศึกษาในพื้นที่อื่น ๆ ยกตัวอย่างในพื้นที่ชายแดนจังหวัดเชียงราย มีบริบทพื้นที่ที่มีผู้คนข้ามไปข้ามมาเพื่อค้าขาย ปฏิสัมพันธ์ ติดต่อระหว่างกันเป็นเรื่องปกติ แม้จะมีเส้นแบ่งทางรัฐชาติขึ้นแล้วก็ตาม ดังนั้นย่อมส่งผลให้โรงเรียนมีความหลากหลายของผู้เรียนสูงมาก ซึ่งประกอบด้วย เด็กที่มีสัญชาติไทย ไม่มีสัญชาติไทย เด็กที่ข้ามมาจากฝั่งลาวและฝั่งพม่า ซึ่งมีทั้งแบบไปเช้าเย็นกลับ หรือมาอาศัยอยู่บ้านญาติที่ฝั่งไทย แล้วกลับบ้านช่วงปิดเทอม เช่น บางเด็กบางคนมาจากครอบครัวคนไทยที่ไปตั้งรกรากอยู่ที่เมืองลาว แล้วก็ส่งลูกหลานเข้ามาเรียน หรือเป็นลูกหลานเจ้าเมืองลาวส่งมาเรียนตอนเช้า จ้างคนมารับมาส่งที่โรงเรียน เย็นมารับกลับ เป็นต้น เพราะฉะนั้น เวลาเรามองผู้เรียน เราไม่สามารถมองว่าเขามาโรงเรียนเพียงตัวเปล่า แต่เด็กมีภูมิหลังทางวัฒนธรรม ความเชื่อ ความคิดหรือความเป็นชาติพันธุ์ของเขาข้ามเข้ามาในพื้นที่ของโรงเรียนด้วย
.
ขณะที่การจัดการเรียนการสอนในโรงเรียน กลับยังใช้หลักสูตรมาตรฐานเดียวกับส่วนกลาง ที่มีวัตถุประสงค์ที่มุ่งการเตรียมพลเมืองให้จงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ มากกว่าจะเป็นการจัดการศึกษาที่สอดคล้องกับบริบทเชิงพื้นที่ สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นว่าความรู้จากพื้นที่ ได้กลายเป็นความรู้ในระดับรอง ถูกจัดการโดยข้าราชการที่เป็นครูอยู่ภายใต้หลักสูตรชาติ เกิดกลไกลการตรวจสอบความเป็นพลเมืองผ่านการทดสอบและการประเมินต่าง ๆ ที่เข้มข้นมาก พร้อมกับสร้างให้เด็กบางคนกลายเป็นเพียงพลเมืองชั้นสอง ตามกรอบรัฐชาติ เพียงเพราะไม่มีสัญชาติ เด็กถือบัตรหมายเลขศูนย์ หรือมีวัฒนธรรมความเชื่อที่ต่างไปจากกระแสหลักของสังคม

ดังนั้นเราอาจต้องรื้อและมองการสร้างพลเมืองแบบใหม่ที่ไม่อิงกับความเป็นรัฐชาติและตามกฎหมายของรัฐ แต่ควรสร้างให้เขามีสำนึกของการเป็น “พลเมืองเชิงวัฒนธรรม” ซึ่งหลักคิดก็คือการที่ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะแตกต่างทางเชื้อชาติ ศาสนา ชนชั้น เพศ โดยไม่ถูกกีดกันโดยเอกสารที่เป็นเอกสารราชการ ด้วยการส่งเสริม 4 ส่วนที่สำคัญ ส่วนแรก สร้างสำนึกความหลากหลายชาติพันธุ์ ส่วนที่สอง สร้างอุดมการณ์ความเป็นชุมชนชายแดน ที่ไม่ได้กินขอบเขตเฉพาะในเขตใดเขตหนึ่งตามเส้นแผนที่ แต่เป็นชายแดนในฐานะความรู้สึกว่ามันเป็นชุมชนเดียว ส่วนที่สาม ส่งเสริมการเป็นพลเมืองโดยไม่จำเป็นต้องไปสมาชิกที่สังกัดรัฐชาติเท่านั้น เปิดโอกาสให้เขาสามารถสังกัดองค์กรต่าง ๆ ได้ เช่น เป็นสมาชิกของโรงเรียน กลุ่มภาคประชาสังคมต่าง ๆ ส่วนที่สี่ ความเป็นพลเมืองที่วางอยู่บนการเคารพความแตกต่าง

การสร้างพลเมืองเชิงวัฒนธรรม บทบาทครูจำเป็นที่ต้องปรับเปลี่ยนมุมมองของผู้เรียน โดยเปลี่ยนจากมองว่าตนเองเป็นเพียงวัตถุ ที่คอยรับสิ่งที่ครูสั่งสอนมา รับความเป็นพลเมืองมา ให้เขาได้กลายเป็นผู้กระทำการ ลุกขึ้นมาเคลื่อนไหวเรียกร้องผ่านกระบวนการ และนิยามความเป็นพลเมืองของตัวเอง ตัวอย่างหนึ่งที่น่าสนใจในพื้นที่เชียงของ จังหวัดเชียงราย มีเด็กที่ไร้สัญชาติในชุมชนอาข่า ลาหู่ ลื้อ รวมกันเป็นชุมชนเดียวกัน ส่วนใหญ่ไม่มีสัญชาติ แล้วก็เจอปัญหา ได้ลุกขึ้นมาตั้งกลุ่มทำกิจกรรมในชุมชนของพวกเขาและได้รับการสนับสนุนโดยกลุ่ม NGO กลุ่มหนึ่งในเชียงของ เขาพยายามตั้งกลุ่มขึ้นมาโดยใช้บ้านของตนเองที่ถูกทิ้งร้าง เพราะว่าพ่อแม่เขาเสียชีวิตหมดเลย ทำให้ต้องระเหเร่ร่อนไปอยู่กับ NGO จนสุดท้ายเขาก็อุทิศบ้านของตัวเองเพื่อหนุนสร้างเสริมสร้างกระบวนการต่าง ๆ ทักษะต่าง ๆ ให้เด็กในชุมชน ในการเรียกร้องทั้งสิทธิให้เด็ก สอนให้รู้เรื่องสิทธิ์ สะท้อนให้เห็นว่า เด็กกลุ่มนี้เขาลุกขึ้นมานิยามการเป็นพลเมืองของตัวเอง
.
ดังนั้นการสร้างความเป็นพลเมืองเชิงวัฒนธรรมจึงเป็นกลไกหนึ่งในสังคมประชาธิปไตยที่มีความหลากหลายสูง เพราะการที่จะบอกว่าตัวเองเป็นใคร เป็นสมาชิกหรือไม่ มันอยู่ที่ตัวปัจเจกที่จะตัดสินใจว่าตัวเองมีสิทธิ์ในการเลือกที่จะเป็นอะไร โดยที่ทุกความหลากหลายอยู่บนความเสมอภาคเท่าเทียมกัน หรือกล่าวได้ว่าการศึกษาควรทำให้ผู้เรียนมองเห็นประเด็นความหลากหลายอาจไม่พอ แต่ต้องส่งเสริมให้เกิดการเคารพในความแตกต่างควบคู่ไปด้วย