The Order of Terror: The Concentration Camp

พัทธ์ธีรา นาคอุไรรัตน์[1]

Wolfgang Sofsky. (1996). The Order of terror: The Concentration Camp, William Templer (Trans). Princeton, New Jersey: Princeton University Press., 356 pages.

It happened,

Therefore it can happen again…

It can happen everywhere.

(Primo Levi, The Drowned and the Saved)

มันได้เกิดขึ้นแล้ว

ดังนั้น มันสามารถเกิดขึ้นได้อีก…

(และ) มันสามารถเกิดขึ้นได้ทุกหนทุกแห่ง

 

ถ้อยความในหน้าแรกของหนังสือ The order of Terror: The Concentration Camp ของ Wolfgang Sofsky[2] ที่ได้รับการแปลจากต้นฉบับภาษาเยอรมันเป็นภาษาอังกฤษ เป็นที่สะดุดตาสะดุดใจของผู้เขียนตั้งแต่แรกหยิบมันขึ้นมาในบรรยากาศเหน็บหนาวและหดหู่หัวใจหลังจากที่ได้เหยียบย่ำไปในค่ายกักกันที่ Sachsenhausen Camp ประเทศเยอรมนี หนึ่งในค่ายกักกันอันโหดร้ายทารุณและมีการจัดการเพื่อการทารุณกรรมและการฆ่าอย่างเป็นระบบระเบียบชนิดที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประวัติศาสตร์มนุษย์ชาติ ทว่าเกิดขึ้นในสมัยที่นาซีเยอรมันยังเรืองอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด (Absolute power)

 

หนังสือเล่มนี้แบ่งออกเป็น 5 ส่วน ในแต่ละบทมีเนื้อหาที่ชำแหละให้เห็นระบบการจัดการอย่างเป็นระบบ เริ่มต้นด้วยการเกริ่นนำเข้าไปสู่ค่ายกักกันในวันที่ 22 มีนาคม 1933 ที่นักโทษคนแรกมาถึงที่ Dachau[3] ซึ่งเป็นโรงงานที่ถูกทิ้งร้างกว่ายี่สิบหลังที่ทรุดโทรมตั้งเรียงรางอยู่ ได้ถูกแปรสภาพมาเป็นที่ทำการของตำรวจที่เพิ่งถูกส่งมาทำงานที่นี่เพียงชั่วข้ามคืนก่อนหน้าที่นักโทษคนแรกจะมาถึงและมีเพียงแค่รั้วลวดหนามเท่านั้นที่ถูกติดตั้งขึ้นมาใหม่

 

ตำรวจที่ถูกส่งมามีหน้าที่จัดเตรียมรายชื่อ จดบันทึกรายชื่อของนักโทษที่ถูกส่งเข้ามาตามกระบวนการขั้นตอนอย่างเป็นระบบ ไม่มีการจัดเตรียมชุดสำหรับนักโทษ ไม่มีการล่ามโซ่ตรวน ไม่มีการตะโกน ไม่มีใครที่จะถูกปฏิบัติอย่างทารุณ ไม่มีใครคิดว่าจะต้องถูกกร้อนผมจนเกรียน เย็นวันนั้น อาหารมื้อแรกที่ถูกจ่ายแจกแก่นักโทษทุกคน คือ ชา ขนมปัง และเนื้อก้อนหนึ่ง และในเวลาอันสั้นพอที่อาหารทุกอย่างจะถูกส่งเข้าไปรวมกันในปาก นักโทษทั้งหมดก็ถูกนำขึ้นไปที่ชั้นลอยเพื่อจัดที่นอนซึ่งทุกคนต้องนอนกับพื้นคอนกรีตแข็ง ๆ ที่มีเพียงผ้าห่มบาง ๆ ซึ่งไม่มีทางที่จะสามารถปกป้องสภาพอากาศที่หนาวเหน็บได้เลยแม้แต่น้อย (p.3)

ชีวิต กฎระเบียบ การทำงานหนัก การถูกทดลองต่าง ๆ นานา ทัณฑ์ทรมาน และความตายอย่างแปลกประหลาดพิศดารด้วยวิธีที่รุนแรงในค่ายกักกันดำเนินไปราว 12 ปี กระทั่งวันที่ 29 เมษายน 1945 ที่กองทัพสหรัฐมาถึงที่ค่าย Dachau ก่อนที่ทหารอเมริกันจะเข้าไปในค่ายกักกันที่ถูกปิดประตูไว้ พวกเขาต้องใช้รถตัก ตักร่างของนักโทษที่ทั้งถูกยิงเสียชีวิตนักโทษเหล่านั้นพยายามจะหลบหนีออกไปจากค่ายเพื่อไปพบทหารอเมริกันหลังจากที่กระแสข่าวว่าเยอรมันพ่ายแพ้สงครามมาถึง ทว่าโชคร้ายเกินไป พวกเขาถูกรัวยิงจากหอตรวจการณ์ ในวันดังกล่าวท่ามกลางทหารอเมริกัน มีนักข่าวสาวคนหนึ่งชื่อ Marguerite Higgins ซึ่งในอีกสองสามวันต่อมาข่าวที่เธอเขียนบอกเล่าสภาพนักโทษที่ยังมีชีวิตอยู่ภายในค่ายกักกัน Dachau ที่ต่างร้องตะโกนด้วยเสียงที่แทบจะไม่ได้ยินเพราะถูกอดอาหารและถูกทรมาน (p.4) มานานก็ถูกเผยแพร่ออกไปทั่วโลก ในจำนวนนักโทษที่รอดชีวิตราว 33,000 คนนั้นมาจากหลายเชื้อชาติและหลายประเทศ เช่น รัสเซีย ฝรั่งเศส ยูโกสลาเวีย อิตาลี โปแลนด์ และมีชาวเยอรมันรวมอยู่ด้วย ทุกคนอยู่ในชุดลายทางขาวดำแบบม้าลาย และมีสภาพไม่ต่างจากสิ่งมีชีวิตที่อยู่บนดาวดวงอื่น หลายคนต้องเสียชีวิตหลังจากได้รับการปลดปล่อยเพียงไม่กี่วันเพราะรับประทานอาหารเกินจากปริมาณที่รับได้ เนื่องจากถูกจับอดอาหารมานาน[4] และอีกจำนวนมากก็ป่วยเป็นไทฟอยด์ เป็นต้น

จุดเด่นของหนังสือเล่มนี้ที่ Sofsky พยายามนำเสนอคือ การตั้งคำถามว่าเราจะสามารถเข้าใจวิธีที่อำนาจทำงานได้อย่างไร? เราสามารถอธิบายอำนาจได้อย่างไร? อย่างไรก็ดี Sofsky พยายามที่จะคลี่ให้เห็นปฏิบัติการอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด (Absolute power) ที่ก่อตัวขึ้นมาอย่างชนิดที่ไม่เป็นที่สงสัยหรือตั้งคำถามจากสังคมผ่านระบบการเลือกตั้ง และโหมกระหน่ำโฆษณาชวนเชื่อว่า “คอมมิวนิสต์” เป็นภัยคุกคามความมั่นคงปลอดภัยของเยอรมัน จากนั้นก็ลุกลามไปที่การปลุกระดมสร้างความเกลียดชังกลุ่มชาติพันธุ์อื่น ๆ โดยเฉพาะชาวยิว ทว่าไม่เพียงแค่ชาวยิวเท่านั้น คนที่คิดเห็นต่างจำนวนไม่น้อย รวมทั้งนักวิชาการ และคนเชื้อชาติอื่น ๆ ก็ถูกกวาดจับเข้าสู่พื้นที่ปฏิบัติการแห่งความสยดสยองด้วยอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดเช่นกัน ดังที่ Sofsky บรรยายให้เห็นตั้งแต่บทเริ่มต้น

ค่ายกักกัน หรือ คุกซึ่งเป็นพื้นที่ที่อำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดและการจัดการสมัยใหม่ของอำนาจได้นำมาทดลองปฏิบัติการอย่างทรงพลัง เริ่มต้นจากวันที่ 27 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1933 ซึ่งเป็นวันที่รัฐสภา Reichstag ถูกไฟไหม้ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ผู้นำนาซีเยอรมันที่เพิ่งได้รับการแต่งตั้งให้เป็นนายกรัฐมนตรีโดยประธานาธิบดีฮินเดนเบิร์ก ก็รีบประกาศว่า การลอบวางเพลิงดังกล่าว “เป็นแผนของพวกคอมมิวนิสต์” และฉวยใช้โอกาสดังกล่าวปลุกเร้าความหวาดกลัวต่อภัยคอมมิวนิสต์ นอกจากนี้ เขายังจูงใจให้ประธานาธิบดีฮินเดนเบิร์ก ใช้อำนาจตามมาตรา 48 แห่งรัฐธรรมนูญไวมาร์ ที่มอบอำนาจประธานาธิบดีในการใช้มาตรการทางทหารจัดการกับเหตุอันกระทบต่อความมั่นคงของรัฐอย่างร้ายแรง โดยสิทธิมนุษยชนบางประการที่ได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญจะถูกระงับไปด้วยผลของการบังคับใช้อำนาจนี้ด้วย

หลังเกิดเหตุเพียงไม่กี่ชั่วโมง เข้าสู่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ ประธานาธิบดีฮินเดนเบิร์ก ก็ยอมทำตามคำเสนอของฮิตเลอร์ ออกกฤษฎีกามอบอำนาจให้กับฮิตเลอร์ ทำให้ในขณะนั้น ชาวเยอรมัน รวมถึงสื่อต้องเสียเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การชุมนุม ความเป็นส่วนตัว รัฐยังมีอำนาจที่จะดักฟัง หรือคัดกรองการส่งข้อมูลใด ๆ โดยไม่ต้องรับผิดชอบต่อผลกระทบที่เกิดขึ้นกับประชาชน และตามติดมาด้วยการออกประกาศฉบับพิเศษต่าง เช่น วันที่ 23 มีนาคม ปีเดียวกันนั้น มีการประกาศ Enabling Act ซึ่งเปิดช่องให้การออกกฎหมายใด ๆ ในช่วงนั้นไม่ต้องผ่านสภา Reichstag

Sofsky ชี้ให้เห็นอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดในยุคนาซีเยอรมันว่าเป็นโครงสร้างอำนาจที่มีลักษณะเฉพาะ และปฏิบัติการอย่างเป็นระบบในค่ายผู้กักกันผู้ลี้ภัยอย่างเงียบงันและไม่ทำให้ผู้ปฏิบัติการควบคุมหรือกระทำทัณฑ์ทรมานตั้งคำถามกับสิ่งที่ตนได้กระทำ และเป็นระบบปฏิบัติการซึ่งไม่สามารถนำไปรวมกับประวัติศาสตร์การกดขี่ ทาส หรือ การกดขี่ด้วยระบบระเบียบสมัยใหม่ใด ๆ ได้รูปแบบการจัดการความน่ากลัวนี้ถูกแทรกใส่เข้าไปในสังคมการเมืองอย่างชนิดที่ทำให้คนมีส่วนร่วมในการกระทำการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เพื่อนมนุษย์ด้วยกันไม่มีแม้กระทั่งจิตสำนึกแห่งการยอมรับว่าได้ทำความผิดพลาดอย่างใหญ่หลวงเพียงไร ยิ่งกว่านั้นยังยืนยันการทำตามกฎระเบียบและถูกต้องตามลำดับขั้นตอนที่ปรากฏในเอกสารคู่มืออย่างเคร่งครัดแสดงให้เห็นอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดที่แฝงฝังอยู่ในระเบียบกฎเกณฑ์ที่พบได้ในการบริหารจัดการองค์กรราชการสมัยใหม่

ระหว่างที่ผู้เขียนไปเยือนค่าย Sachsenhausen Campวิทยากรนำคณะของเราเดินผ่านสวนที่อยู่ด้านหน้าติดกับประตูค่ายกักกันซึ่งครั้งหนึ่งเคยถูกใช้เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจของภรรยาและลูกของผู้คุมขังนักโทษ และบางครั้งก็ใช้เป็นที่จับจ้องมองการทำงานและการถูกลงโทษของนักโทษในค่ายเพื่อความเพลิดเพลิน ยิ่งทำให้เห็นว่า ปฏิบัติการอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดที่ทำงานอย่างแนบเนียนนั้นได้เข้าสิงสถิตในเนื้อตัวร่างกายของผู้ที่เห็นดีเห็นงามกับนาซีเยอรมันจนไม่เหลือสามัญสำนึกความเป็นมนุษย์นั้นน่ากลัวเพียงใด

 

หนังสือเล่มนี้มีคุณูปการยิ่งต่อนักการศึกษาตลอดจนผู้ปรารถนาจะเรียนรู้บทเรียนจากประวัติศาสตร์เพื่อทำงานในเชิงป้องกันมิให้ความรุนแรงถึงตายอย่างสยดสยอง อย่างเป็นระบบ และอย่างแนบเนียนได้มีโอกาสเกิดขึ้นอีก

ดาวน์โหลด pdf


[1] อาจารย์ประจำสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล นักวิชาการในเครือข่ายการศึกษาเพื่อสร้างพลเมืองประชาธิปไตย (Thai Civic Education)

[2] Sofsky เป็นนักสังคมวิทยาที่อุทิศตนให้กับงานวิพากษ์อำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดและการข่มขู่คุกคามเสรีภาพทางการเมืองและสังคม สำเร็จปริญญาเอกจาก Universität Göttingen

[3] ที่ Dachau ถือเป็นค่ายกักกันแห่งแรกหลังจากที่ฮิตเลอร์ขึ้นสู่อำนาจได้เพียง 51 วัน

[4] ในค่าย Dachau นี้มีอาคาร 6 หลังที่มีลักษณะคล้ายกับอาคารหมายเลข 61 ในค่าย Buchenwald ที่เป็นอาคารสำหรับทดลองให้การอดอาหารของนักโทษในค่าย

 


พัทธ์ธีรา นาคอุไรรัตน์ อาจารย์และบรรณาธิการบริหารวารสารวิชาการสิทธิและสันติศึกษา สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ต้องมนต์เสน่ห์แห่งขุนเขาป่าไม้และสายน้ำในชายแดนใต้ ชอบงานขบคิดขีดเขียนอ่านและตั้งคำถามเพื่อขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงไปสู่สังคมที่เป็นธรรม