When:
April 20, 2017 – April 21, 2017 all-day
2017-04-20T00:00:00+07:00
2017-04-22T00:00:00+07:00
Where:
สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา
ตำบล ศาลายา อำเภอ พุทธมณฑล นครปฐม 73170 ประเทศไทย

บทบาทของอุดมศึกษาในยุคประชาธิปไตยถดถอย กับหนทางในการสร้างพลเมืองสู่สังคม

อุดมศึกษามีบทบาทและหน้าที่ที่สำคัญและมีลักษณะเฉพาะในทุกสังคม ซึ่งขอบเขตบทบาทของอุดมศึกษานั้นก็ยังคงเป็นที่ถกเถียงกันอย่างต่อเนื่อง แต่เดิมมหาวิทยาลัยในตะวันตกต่างก่อกำเนิดขึ้นในบริบทและอุดมการณ์ที่ต่างกัน มีเป้าประสงค์ของอุดมศึกษาที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการให้การศึกษาแบบศิลปะศาสตร์ (liberal arts education) เพื่อพัฒนาคุณลักษณะของพลเมือง การมุ่งศึกษาวิจัย และการสร้างความเป็นเลิศในสาขาเฉพาะทาง ไปจนถึงการให้อุดมศึกษาเป็นแหล่งในการแสวงหาความรู้แบบเบ็ดเสร็จ และการสร้างความรู้เพื่อรับใช้สังคม ปัจจุบัน อุดมศึกษาถูกคาดหวังให้มีบทบาทในการผลิตองค์ความรู้และเทคโนโลยีเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งมหาวิทยาลัยในประเทศไทยก็ได้ให้ความสำคัญกับการให้การศึกษาเพื่อการมีงานทำของบัณฑิตรวม เน้นการจัดการเรียนการสอนและการวิจัย โดยเป็นไปเพื่อตอบสนองความต้องการของภาคเอกชนและอุตสาหกรรม อย่างไรก็ตามการพัฒนาให้บัณฑิตมีทักษะและความรู้ที่ตรงต่อความต้องการต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศยังคงเป็นความท้าทายของอุดมศึกษาไทย

ในช่วงกว่าหนึ่งทศวรรษที่ผ่านมา ปฏิเสธไม่ได้ว่าประเทศไทยต้องเผชิญกับปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ความขัดแย้งและความรุนแรงในสังคม ซึ่งส่งผลให้เกิดการแบ่งแยกระหว่างประชาชนกลุ่มต่างๆ การถดถอยทางเศรษฐกิจและประชาธิปไตย และรัฐบาลมีความจำเป็นต้องเตรียมพลเมืองสำหรับสังคมที่มีความสลับซับซ้อนและมีผู้คนที่มีความแตกต่างหลายหลายในวิธีคิดและวิถีชีวิตมากขึ้น ในขณะเดียวกันมหาวิทยาลัยในประเทศไทยยังไม่ได้ให้ความสำคัญมากนักกับการทำให้การเรียนรู้ในระดับอุดมศึกษาตอบโจทย์ของการสร้างพลเมืองที่มีทักษะและความรู้ ที่จำเป็นในสังคมประชาธิปไตยและการสร้างพลเมืองที่ใส่ใจในเรื่องความเป็นธรรม

ด้วยเหตุนี้ สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ ศูนย์ประสานงานเครือข่ายการศึกษาเพื่อสร้างพลเมืองประชาธิปไตย (Thai Civic Education Center) และมูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท (FES) จึงได้จัดเวที “สัมมนาสาธารณะ บทบาทของอุดมศึกษาในยุคประชาธิปไตยถดถอย” ในวันที่ 20-21 เมษายน 2560 ห้องประชุม 101 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา เพื่อเวทีนำเสนอผลการวิจัยและแลกเปลี่ยนในประเด็นบทบาทของอุดมศึกษาทั้งในและต่างประเทศ โดยมีวิทยากรทั้งในและต่างประเทศเข้าร่วม ได้แก่ Dr. Joshua Forstenzer, University of Sheffield ดร. อรสา ภาววิมล, คณะกรรมการการอุดมศึกษา Ms. Jun Morahashi, UNESCO ดร. วัชรฤทัย บุญธินันท์, สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา คุณ อัสริน แก้วประดับ, สมาพันธ์แรงงานรัฐสัมพันธ์ คุณ อดิสร เหล่าพิรุณฬห์, โครงการ Young Southeast Asian Leaders Initiative สถานฑูตอเมริกา ดร.ไพลิน ภู่จีนาพันธุ์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รศ.สมใจ ศิริโภค มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ รศ.นายแพทย์ สุวัฒน์ เบญจพลพิทักษ์ มหาวิทยาลัยมหิดล Dr. David Zyngier, Monash University ดร.ศรีประภา เพรชมีศรี, AUN-HRE Convener อาจารย์ ดิญะพร วิสะมิตนันท์ มหาวิทยาลัยทักษิณ และ รศ.ดร.ชาลี เจริญลาภนพรัตน์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งถือเป็นโอกาสที่ดีอีกครั้งของสังคมไทย ในการทบทวนบทบาทของอุดมศึกษาในฐานะเป็นแหล่งสร้างพลเมืองให้กับสังคมไทยต่อไป