ณัฏฐเมธร์ ดุลคนิต ศึกษานิเทศก์ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษากรุงเทพฯ เขต 1 เห็นว่า ที่ผ่านมาครูทั้งประเทศได้มีการรับฟังแนวทางการจัดการเรียนด้วย DLTV จาก สพฐ. ไปเบื้องต้นแล้ว ซึ่งการเรียนด้วยDLTV ได้กลายเป็นตุ้นทุนหลักจากส่วนกลางที่จัดสรรมาให้โรงเรียน และเป็นต้นทุนให้คุณครูในแต่ะละโรงเรียนนำไปใช้ในการบริหารจัดการในรูปแบบออฟไลน์และออนไลน์ โดยมีผู้อำนวยการโรงเรียนเป็นผู้สนับสนุน
.
จึงมองว่า ถ้าโรงเรียนต้องออกแบบการเรียนรู้ คงไม่สามารถสอนตามตัวชี้วัดได้ดังเช่นเคย หรือการเรียงเนื้อหาลำดับแบบเดิมคงเป็นเรื่องยาก ประกอบการจัดเรียนการสอนของโรงเรียนนั้นยังสามารถพิจารณาดูว่าสิ่งใดบ้างของ DLTV ที่คุณครูจะหยิบยกมาใช้ เนื่องจาก DLTV ไม่ได้มีส่วนแค่เป็นวีดีโอเท่านั้น แต่ยังมีส่วนประกอบอื่นเช่น เอกสารประกอบบทเรียน จุดนี้จึงเป็นหน้าที่ของศึกษานิเทศก์ที่จะต้องเข้าไปช่วยคุณครูในเรื่องนี้เหล่านี้ แต่เมื่อทาง สพฐ. มีสื่อสารในภาพรวม ที่ดูเหมือนจะเน้นหลักไปที่การเรียนการสอนผ่าน DLTV แล้วให้โรงเรียนปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด ผลทำให้มีความกังวลต่อครู ผู้ปกครอง และนักเรียน
.
ศน. ณัฏฐเมธร์ สะท้อนว่าปัญหาเหล่านั้น เกิดจากระบบการศึกษาของไทยตั้งต้นจากกระทรวงฯ ซึ่งต่างจากหลายประเทศที่ตั้งต้นจากโรงเรียนและก็จบที่โรงเรียน จึงทำให้อำนาจการตัดสินใจของโรงเรียนไม่สอดคล้องกับพื้นที่บริบทโรงเรียน ผู้อำนวยการโรงเรียนก็เลยต้องรอคำสั่งจากส่วนกลาง เพราะทุกคนกลัวผิดไปหมด โรงเรียนกลัวว่าถ้าทำไปแล้วจะไม่ถูกต้อง จะมีความผิด ก็ไม่กล้าตัดสินใจ ปัญหานี้สัมพันธ์กับโครงสร้างการบริหารที่เอาอำนาจการตัดสินใจไปไว้ที่ส่วนกลาง ไม่ได้อยู่บนหลักของกระจายอำนาจ เราเลยมีโครงสร้างการบริหารตามลำดับขั้นจากส่วนกลาง เลยทำให้โรงเรียนลำบากใจในการตัดสินใจ และมีอำนาจอย่างจำกัด ทั้งที่จริงโรงเรียนควรมีความยืนหยุ่นในการปฏิบัติ เช่น เวลาเรียน สามารถเวลาเรียนออนไลน์สามารถนำมานับรวมกับเวลาเรียนปกติได้หรือไม่ เป็นต้น เพราะโรงเรียนมีบริบทต่างกันออกไป

__

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. เรวณี ชัยเชาวรัตน์ รองผู้อำนวยการโรงเรียนสาธิต มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี มองว่าโรงเรียนสาธิตได้รับผลกระทบแทบไม่ต่างจากโรงเรียนรัฐ ตั้งแต่การมอบตัวของนักเรียนชั้น ม. 1 ก็ยังไม่สามารถทำให้เรียบร้อยได้ ขณะที่ผู้ปกครองก็มีความกังวล เข้ามาพูดคุยสอบถามกับทางโรงเรียนถึงแนวทางการจัดการเรียนรู้ โดยเฉพาะนักเรียนชั้น ม.1 ส่วนการเลื่อนเปิดภาคเรียนไปเป็น 1 กรกฎาคม เป็นโจทย์ใหญ่ของโรงเรียนที่ต้องคิดว่าโรงเรียนจะมีมาตราการจัดการเรียนรู้และช่วยสนับสนุนการเรียนรู้ของนักเรียนอย่างไร เพราะฉะนั้นบทบาทบุคลากรในโรงเรียนจึงเป็นสิ่งสำคัญมาก ทำให้สิ่งแรกที่ทางโรงเรียนทำก็คือทำแบบสอบถามกับนักเรียน ซึ่งพบว่านักเรียนมัธยมที่มาตอบค่อนข้างไม่มีคอมพิวเตอร์ โน๊ตบุ๊ค แท็บเล็ต หรือโทรศัพท์มือถือที่จะสนับสนุนการเรียนของพวกเขาได้เลย
.
และยังเห็นว่า การการเรียนออนไลน์หรือทางโทรทัศน์ ผู้ปกครองส่วนใหญ่ต้องไปทำงาน จึงทำให้ผู้ปกครองค่อนข้างกังวลกับประสิทธิภาพการเรียนรู้ของนักเรียนว่าจะไม่ดีเท่าที่ควร เพราะฉะนั้นโรงเรียนมองว่าการเรียนคงไม่ใช่เป็นการสื่อสารทางเดียว แต่ต้องทำให้เกิดการโต้ตอบกับนักเรียนด้วย เป็นผลให้ทางโรงเรียนออกแบบการเรียนรู้คู่ขนานกันระหว่างออนไลน์ออฟไลน์ ในด้านออนไลน์เลือกใช้โปรแกรม ZOOM เข้ามาจัดการเรียนรู้ เพื่อให้นักเรียนได้เจอกันกับเพื่อนๆและครู อยู่ที่ 18-22 เป็นช่วงสัปดาห์ ส่วนออฟไลน์ได้มีการจัดให้ผู้ปกครองแต่ละห้องมารับสมุดหนังสือ แบบฝึกหัด มอบหมายในแต่ละสัปดาห์ว่านักเรียนจะต้องทำอะไรบ้างที่มันอยู่ในหนังสือแบบเรียนของพวกเราบ้าง ที่สำคัญต้องเป็นหน่วยการเรียนรู้ที่ให้นักเรียนไทำเองได้ ขณะที่ที่พ่อแม่ไม่อยู่
.
อาจารย์เรวณี เสนอว่า การจะรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้ โรงเรียนต้องมีความเชื่อมั่นในตัวนักเรียน ส่วนผู้ปกครองควรเชื่อมั่นในตัวครู ขณะเดียวกันทางนโยบายควรมีการจัดสรรเวลาให้คุณครูได้ทำงานเพื่อนักเรียนอย่างเต็มที่ ไม่ควรจะสร้างความกดดันให้คุณครู และภายในโรงเรียนเองควรมีการสื่อสารร่วมกัน เพื่อเปิดใจเปิดพื้นที่ให้ครูที่ไม่ถนัดเทคโนโลยีได้เรียนรู้ รวมถึงสื่อสารกับผู้ปกครองเพื่อหาแนวทางร่วมกัน
.
ทั้งหมดจะช่วยสนับสนุนการเรียนรู้ของนักเรียนอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะหากเรายังติดอยู่กับความกังวล ความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจเช่นที่ผ่านมา คุณครูก็จะกังวลว่าจะต้องรายงานผลให้ผู้บริหารรู้ ผู้บริหารก็มีความกังวลว่าต้องเก็บข้อมูลอย่างเพื่อส่งส่วนกลาง การจะคิดออกแบบแนวทางเพื่อสิ่งที่ดีที่สุดก็จะไม่เกิดขึ้น นอกจานี้เราควรมีระบบการเตรียมคุณครูรุ่นใหม่ที่จะเข้ามาในระบบเพื่อเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงนี้ควบคู่ไปด้วย

ครูกิติยาพร พงศ์แพทย์ จากโรงเรียนอนุบาลบ้านบึง จังหวัดชลบุรี เล่าว่าบริบทโรงเรียนั้น ผู้ปกครองนักเรียนมีความกังวลเป็นอย่างมาก เข้ามาพูดคุยสื่อสารกับครูในเรื่องการเรียนของนักเรียน เช่น ขอให้นักเรียนทำใบงานแทนการเรียนออนไลน์หรือทางทีวี เพราะเนื่องจากบริบทตัวผู้ปกครองเองต้องออกไปทำงาน หรือในช่วงเช้าที่ออกอากาศ ผู้ปกครองก็กังวลเช่นกันว่า เมื่อไปทำงานแล้ว ตัวนักเรียนเขาจะเรียนรู้ทันเพื่อนหรือไม่ สิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยสำคัญที่โรงเรียนควรมีการพูดคุยกับผู้ปกครองเพื่อหาทางออกร่วมกัน
.
นอกจากนี้ครูกิติยาพร มีความเห็นต่อกรณี การเก็บข้อมูลซึ่งไม่ว่าจะเป็นทั้งจากทางโรงเรียน หรือทางภาครัฐควรมีกรอบแนวทางการสำรวจที่ชัดเจนกับตัวผู้ปกครองและตัวนักเรียน ที่ต้องคำนึงถึงอารมณ์ความรู้สึกของผู้ให้ข้อมูลด้วย เพราะที่ผ่านมามีการเก็บหลายรอบหลายครั้ง ส่งผลให้เกิดความไม่สบายใจขึ้นตามมา

ศิริภา ไชยนุ้ย ผู้อำนวยการโรงเรียนนิคมสร้างตนเองพัฒนาภาคใต้ 11 จังหวัดยะลา เห็นว่า นโยบายจากส่วนกลางแบบเดียวนำมาซึ่งความเหลื่อมล้ำ จากบริบทที่ทำงานอยู่พบว่านักเรียนไม่ได้ความพร้อมของอุปกรณ์และเทคโนโลยี เช่น บางครอบครัวไม่มีสัญญาณอินเตอร์เน็ต บางครอบครัวไม่มีสมาร์ทโฟน บางบ้านมีอุปกรณ์ก็ชำรุด เป็นต้น ทั้งนี้เพราะโรงเรียนอยู่ในพื้นที่อำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา ซึ่งพื้นที่โรงเรียนตลอดจนเขตบริการแทบจะไม่มีสัญญาณโทรศัพท์ ประกอบกับผู้ปกครองส่วนใหญ่มีอาชีพทำสวน รับจ้างกรีดยาง และรับจ้างทั่วไป อีกทั้งธรรมชาติการเรียนรู้ของนักเรียนที่ไม่สามารถอยู่กับบทเรียนนานๆได้ ดังนั้นการจัดการเรียนรู้ออนไลน์และทางทีวีจึงเป็นข้อจำกัดมากในพื้นที่
.
ด้วยสถานการณ์เช่นนี้ ผู้อำนวยการศิริภา จึงมองว่า โรงเรียนจำเป็นต้องลงไปพูดคุยในพื้นที่อย่างจริงจัง เพื่อหาแนวทางร่วมกับผู้ปกครองและชุมชนว่าจะเดินหน้ากันอย่างไร รวมถึงได้มีการร่วมประชุมกันกับคุณครูภายในโรงเรียน ซึ่งทางโรงเรียนได้มีแนวคิดว่า เราจะต้องส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ที่บ้านตามบริบทความเป็นจริงของนักเรียน และไม่สร้างภาระค่าใช้จ่ายให้กับนักเรียน เพราะฉะนั้นทางโรงเรียนได้ให้โอกาสผู้ปกครองและนักเรียนตัดสินใจเลือกเรียนตามบริบทตามความสามารถ โดยที่ทางโรงเรียนจะสนับสนุนในส่วนของแบบฝึกและใบงานต่างๆลงไปแจกจ่ายให้กับนักเรียน แล้วกำหนดช่วงเวลาในการที่จะมาพบปะแลกเปลี่ยน รวมถึงยังได้มีการประเมินสถานการณ์เป็นระยะเพื่อปรับเปลี่ยนตามบริบทควบคู่ไปด้วย

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ อรรถพล อนันตวรสกุล ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน เริ่มต้นกล่าวถึงบทเรียนต่างประเทศกับการรจัดการศึกษาในช่วงโควิด- 19 ซึ่งแต่ละประเทศนั้นมีโจทย์และแนวทางการรับมือแตกต่างกันออกไป บางประเทศมีระบบพูดคุยเพื่อตอบคำถามทางโทรศัพท์กับนักเรียนและผู้ปกครอง แต่ถ้านักเรียนยังไม่เข้าใจ จะมีคุณครูจากโรงเรียนขับรถมาถึงหน้าบ้าน หรืออย่างประเทศญี่ปุ่นได้มีการกลับมาเปิดโรงเรียนตามเดิม แต่มีการจัดโต๊ะเพื่อเว้นระยะห่างในห้องเรียน ส่วนสิงค์โปรมีการจัดการเรียนการสอนที่เรียกว่า Home -based Learning ขึ้น ขณะที่บางประเทศก็มีการเปิดโรงเรียนบางส่วนให้ครอบครัวที่พ่อแม่ไม่พร้อมดูแลลูกที่บ้านได้มาเรียนที่โรงเรียน เพราะแม่ต้องเป็นทำงานนอกบ้าน
.
การรับมือสิ่งที่เกิดขึ้นนี้เป็นความท้าทายของการจัดการศึกษาว่าจะทำอย่างไรให้เกิดความมั่นใจ และนักเรียนเข้าถึงการศึกษาอย่างครอบคลุมทุกคนและมีคุณภาพ โดยต้องคำถึงถึงความหลากหลายของนักเรียนเป็นหลัก เพราะฉะนั้นเบื้องต้น บุคลากรที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องก้าวออกมาจากพื้นที่ของความกลัว ความเคยชินแบบเดิม แล้วขยับมาสู่พื้นที่เรียนรู้มากขึ้น เพราะไม่มีสิ่งใดชี้ชัดว่าสถานการณ์จะจะกลับไปดีดังเดิมได้โดยเร็ว
.
อาจารย์อรรถพล ยังได้สะท้อนอีกว่า ที่ผ่านมาการจัดการศึกษาอยู่ภายใต้ความกลัวมานานเกินไป ผลทำให้ไม่เห็นพลังของการตัดสินใจต่อเรื่องนี้ การตัดสินใจต่างๆ เลยถูกทำให้อยู่ภายใต้กติกาวิธีการเดียวกันทั้งหมด ดังจะเห็นได้ว่า แม้โรงเรียนเอกชนหรือโรงเรียนนวัตกรรมที่ดูเหมือนจะมีอำนาจตัดสินใจได้ในระดับหนึ่ง ก็ยังคงจะเคร่งครัดปฏิบัติตามโรงเรียนของรัฐ แสดงว่าตอนนี้เรามีปัญหาในการเป็นผู้นำการตัดสินใจ
.
นอกจากนี้ได้เน้นย้ำว่า การจัดการเรียนการสอนไม่สามารถพิจารณาจากเพียงแค่ว่านักเรียนมีอินเทอร์เน็ตหรืออยู่ในพื้นที่เขตเมืองได้ เพราะว่า แม้เด็กจะอยู่ในเขตเมืองมีอินเตอร์เน็ต แต่ถ้าสำรวจไปลึกๆ จะพบว่า นักเรียนเหล่านี้ไม่มีความเร็วอินเทอร์เน็ตที่ดาวน์โหลดข้อมูลเพียงพอสำหรับการเรียน อีกทั้งยังมีเด็กนักเรียนจำนวนหนึ่งต้องแบกรับภาระร่วมกับพ่อแม่เป็นคนขับมอเตอร์ไซค์ส่งอาหารหรือรับงานพิเศษ ทำให้พวกเขาไม่ได้โฟกัสที่การเรียนเป็นหลัก ดังนั้นการให้นักเรียนมานั่งเรียนการสอนออนไลน์สามารถทำได้ยาก
.
รวมถึงวิธีคิดที่มองว่าการจัดการศึกษาด้วยการเรียนทางออนไลน์หรือทางโทรทัศน์ด้วยวิธีเดียวเป็นปัญหาเช่นกัน เพราะส่งผลให้ให้วันหนึ่งนักเรียนต้องแบกรับการเรียนที่หนักถึง 7 วิชา ซึ่งเป็นอะไรที่หนักมาสำหรับการเรียนที่ผ่านหน้าจอ ดังนั้นแล้วโรงเรียนไม่ควรพยายามเดินหน้าจัดการศึกษาแบบเดิมที่เปลี่ยนจากสถานที่โรงเรียนเป็นบ้าน เพราะการจัดการศึกษาไม่ใช่เช่นนั้น ดังที่นักวิชาการอเมริกาหลายคนเขียนบทความย้ำว่า “อย่างทำทุกอย่างที่ทำกับที่โรงเรียนมาทำที่บ้าน”
.
อาจารย์อรรถพลเสนอว่า เราควรคำนึงถึงการจัดการเรียนการสอนในลักษณะการเรียนทางไกลมากขึ้น (Remote Learning) ซึ่งมีทั้งผสมผสานระหว่างออนไลน์และออฟไลน์ โดยการออกแบบการเรียนรู้ที่มีบ้านเป็นตัวตั้ง และเน้นการประเมินติดตามการเรียนรู้ รวมถึงต้องหาวิธีการให้เกิดความหลากหลายที่สุดเท่าที่สามารถทำได้ เพื่อให้นักเรียนสามารถเรียนรู้ได้จริงเพราะฉะนั้นผู้ออกแบบการสอนทางไกลต้องคำนึงด้วยว่าเด็กนักเรียนภายใต้การดูแลเป็นอย่างไร และควรมีระบบแบใดสนับสนุนพวกเขา และอย่างไรบ้างที่พ่อแม่สามารถติดต่อสื่อสารได้ ส่วนครูเองก็เป็นช่วงเวลาท้าทายครั้งใหญ่ที่จะต้องเตรียมการสอนในแบบที่ไว้ใจนักเรียนมากขึ้น
.
สถานการณ์ช่วงนี้มีครูหลายคนเริ่มทำการปรับเปลี่ยนบทเรียน เช่น พานักเรียนลงไปสำรวจชุมชนด้วยการใส่หน้ากากอนามัยลง เข้าไปคุยกับผู้ใหญ่ในชุมชนแบบรักษาระยะห่าง หรือครูบางคนก็มีการสร้างชุดการเรียนแบบออฟไลน์ให้นักเรียนเรียนรู้ เป็นต้น แต่อย่างไรสิ่งเหล่านี้ไม่สามารถที่ครูคนเดียวจะทำได้ แต่ต้องอาศัยการพูดคุยทั้งโรงเรียน เพราะไม่เช่นนั้นแล้วนักเรียนก็จะไม่มีเวลาส่วนตัวช่วงที่เขาอยูที่บ้านเลย หากครูแต่ละคนต่างมีช่องทางติดต่อหรือวิธีการไปคนละช่วงเวลา
.
สุดท้ายเชิงนโยบายควรมีการกระจายอำนาจสู่โรงเรียนแล้วให้คุณครูได้มีการพูดคุยหาแนวทางออก เกิดวัฒนธรรมองค์กรร่วมกันที่ผลักดันพื้นที่เรียนรู้ และจุดนี้จะเป็นบทพิสูจน์และความท้าทายของผู้บริหารโรงเรียนมากขึ้นด้วย ที่สำคัญผู้กำหนดนโยบายควรความมีความไว้เนื้อเชื่อใจมากขึ้น และเข้ามาช่วยเหลือสนับสนุนทรัพยากรให้ครูและโรงเรียนได้จัดการเรียนการสอนอย่างเต็มที่


สรุปเวที EDU WEBINAR “ปรับเรียนเปลี่ยนรู้” ครั้งที่ 1 “ผลกระทบวิกฤตโควิด-19: โรงเรียนควรจะเดินหน้าต่ออย่างไร?” เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2563 จัดโดย ‘มูลนิธิการศึกษาเพื่อสร้างพลเมืองไทย’ (Thai Civic Education Foundation) และภาคีเครือข่ายด้านการศึกษา

อ่านฉบับเต็มได้ที่ : https://th.city/Pq1cJn

#ปรับเรียนเปลี่ยนรู้
#TCEWebinar
#EDUWebinarseries