คิดว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ จะสร้างการเปลี่ยนแปลงอะไรให้กับสังคมไทยบ้าง ?

แม้กติกาในการเลือกตั้งครั้งนี้จะมีข้อกังขาว่าถูกออกแบบมาเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับกลุ่มผู้มีอำนาจ จึงอาจยังไม่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ในเชิงโครงสร้าง   แต่ก็นับเป็นโอกาสและความหวังที่พลเมืองจะได้ส่งเสียงและกำหนดทิศทางอนาคตของประเทศด้วยตนเองบ้าง

เราบอบช้ำมากพอแล้ว กับอนาคตที่ไม่ได้เลือก การเลือกตั้งในครั้งนี้จึงเหมือนเป็นการปลดล็อก ให้พลเมืองได้ออกมาแสดงพลังในฐานะเจ้าของประเทศ และนับเป็นก้าวสำคัญที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในระยะยาว ในช่วงที่ผ่านมาเราได้เห็นปรากฏการณ์ที่พลเมืองตื่นตัวมากขึ้นในการมีส่วนร่วมทางการเมืองผ่านช่องทางต่างๆ รวมไปถึงได้เห็นบรรยากาศคึกคักที่แต่ละพรรคการเมืองต่างแสดงวิสัยทัศน์และจุดยืนในการพัฒนาประเทศ จึงนับเป็นช่วงเวลาสำคัญที่สังคมไทยกำลังได้เรียนรู้และเติบโตเพื่อก้าวสู่สังคมประชาธิปไตยอย่างแท้จริง

คิดเห็นอย่างไรกับที่เค้าบอกว่า ครูต้องเป็นกลางทางการเมือง?

เกิดความสงสัยในคำว่า “ความเป็นกลาง”หลายอย่างเลยค่ะ

อย่างแรก ครูต้องเป็นกลางทางการเมือง “แบบไหน ?”

หากความเป็นกลางคือการถูกสั่งให้ห้ามพูด ห้ามแสดงความคิดเห็นทางการเมือง แบบนี้ยิ่งทำให้เราสูญเสียโอกาสในการเรียนรู้วัฒนธรรมประชาธิปไตย ขาดพื้นที่ในการถกเถียงกันเพื่อหาทางออก และขาดโอกาสในการเรียนรู้การเคารพความแตกต่างทางความคิด

อย่างที่สอง การเมืองเป็นเรื่องการจัดสรรผลประโยชน์ของคนในประเทศ แต่เหตุใดจึงคาดหวัง ให้ครูต้องเป็นกลางทางการเมือง ?

เพราะในสังคมประชาธิปไตยทุกคนมีสิทธิ เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ครูเองก็เป็นพลเมืองคนหนึ่งในสังคม และบทบาทครูก็สำคัญมากในการสร้างพื้นที่ประชาธิปไตยให้เกิดขึ้นในชั้นเรียน ครูสามารถชวนนักเรียนพูดคุยถึงหลักการประชาธิปไตย และหยิบยกนโยบายของพรรคการเมืองต่างๆ มาชวนนักเรียนวิเคราะห์และถกเถียงกันเพื่อหาทางออกให้กับสังคม ซึ่งสุดท้ายแล้วนักเรียนจะตัดสินใจเลือกพรรคใด ฝ่ายใด นั่นก็เป็นสิทธิที่นักเรียนพึงได้รับ

ดังนั้นดิฉันจึงคิดว่าครูควรยึดหลักการประชาธิปไตยมากกว่าความเป็นกลางทางการเมืองค่ะ