ต้องยอมรับว่าการสอนเรื่อง 24 มิถุนายน 2475 เป็นเรื่องท้าทายในสังคม แต่อย่างไรก็ดี การสอนเรื่องดังกล่าวสามารถสอนโดยใช้วิธีชี้ชวนให้เป็นประเด็นถกเถียงในชั้นเรียน
.
กล่าวคือ ชักชวนให้นักเรียนใช้สิทธิในการเข้าถึงข้อมูล นำข้อมูลหลายๆ ด้านที่เกี่ยวข้องกับตัวละครในประวัติศาสตร์ดังกล่าว มาศึกษา พูดคุย แลกเปลี่ยน โดยครูไม่ควรเป็นผู้สรุปเรื่องราว แต่เปลี่ยนบทบาทจากผู้เล่าประวัติศาสตร์เป็นผู้อำนวยการเรียนรู้ ชักชวนให้เกิดการคิด และแลกเปลี่ยนข้อมูล ให้นักเรียนมีพื้นที่การเรียนรู้ และเป็นผู้ตัดสินใจสรุปเรื่องราวต่างๆ ซึ่งจะเป็นการกระตุ้นความคิด ขยายผลให้นักเรียนค้นคว้า สืบค้นข้อมูล วิเคราะห์ และสังเคราะห์ข้อมูลอย่างมีวิจารณญาณด้วยตนเอง และเป็นการเตรียมพร้อมนักเรียนให้สามารถเรียนรู้เพิ่มเติมได้เมื่อมีประสบการณ์หรือได้รับข้อมูลอื่นๆ เพิ่มขึ้นในอนาคต
.
ครูฐาปณี วงศ์สวัสดิ์ โรงเรียนชะอวดวิทยาคาร

เนื่องจาก เหตุการณ์ 24 มิถุนายน 2475 เป็นเหตุการณ์ที่มีการถกเถียงกันค่อนข้างยาวนาน ซึ่งนักประวัติศาสตร์หรือนักวิชาการ อาจจะมีมุมมองหรือการตีความที่ต่างกันออกไป แต่ในฐานะครูผู้สอน การเริ่มต้นสอนเรื่องนี้ ทำได้โดยการหยิบประเด็นความแตกต่างหรือขัดแย้งกันของชุดข้อมูล มาเป็นประเด็นเริ่มต้นถกเถียงในชั้นเรียน เช่น คณะราษฎรชิงสุกก่อนห่ามหรือไม่?
.
จากนั้นให้เวลานักเรียนไปค้นข้อมูลหรือหลักฐานเพิ่มเติม สู่การตั้งคำถาม ถึงแนวคิดที่นักเรียนเลือกจะเชื่อ เชื่อเพราะเหตุใด เชื่อมโยงถึง การพยายามลบพื้นที่ความทรงจำ มรดกของคณะราษฎรที่กำลังเป็นข่าวในปัจจุบัน เช่น ข่าวหมุดคณะราษฎรที่หายไป ข่าวการทำลายอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ ซึ่งการหยิบประเด็นเหล่านี้มา การสอนประวัติศาสตร์ทางการเมือง คงไม่ใช่เรื่องของการท่องจำอีกต่อไป แต่อาจจะเป็นการตั้งคำถามถึงการกระทำของรัฐไทยที่พยายามเปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์
_
ครูวุฒิชัย พันธ์ทรัพย์
โรงเรียนธัญบุรี

การเปลี่ยนแปลงการปกครอง ปี ๒๔๗๕ มีความสำคัญและความซับซ้อนทั้งในมิติการเมืองการปกครองและประวัติศาสตร์ไทยร่วมสมัย สิ่งแรกคือครูผู้สอนจะต้องทบทวนว่าตนเองเข้าใจ และมีมุมมองเรื่องนี้อย่างไร ที่ผ่านมาครูมักสอนตามเนื้อหาในแบบเรียน หรือใช้มายาคติที่เคยได้รับมาส่งต่อให้กับผู้เรียน การสอนอาจเริ่มต้นง่ายๆ ด้วยสัญลักษณ์ที่ถูกสร้างหรือเคยปรากฏอยู่เช่น อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย หรือหมุดคณะราษฎร ถามนักเรียนเพื่อทดสอบความรู้ความเข้าใจเดิมต่อสิ่งเหล่านี้ ว่าคืออะไร มีความหมายอย่างไร
.
ครูพาไปทำความเข้าใจความหมายที่ซ้อนเร้นไว้ในแต่ละอย่าง และร่วมกันถอดรื้อมายาคติที่ผู้เรียนและสังคมยังมีความเข้าใจอยู่ เช่น การปฏิวัติเป็นการชิงสุกก่อนห่าม กลุ่มคณะราษฎรกระหายอำนาจและยึดอำนาจไว้กับกลุ่มตนเองเพียงลำพัง เป็นต้น โดยการนำเสนอบทความหรือข้อมูลอย่างหลากหลายด้าน ให้ผู้เรียนได้ตั้งคำถามและวิพากษ์ประเด็นดังกล่าว โดยปกติการสอนมักมุ่งทำความเข้าใจ เหตุปัจจัย ลำดับเหตุการณ์ และผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงอยู่แล้ว แต่การถอดรื้อมายาคติและการสอนเชิงการวิพากษ์จะทำให้ผู้เรียนเข้าใจเนื้อแท้ของเหตุการณ์สำคัญ การตัดสินใจของผู้ทำการเปลี่ยนแปลง และพลวัตที่ส่งผลต่อความเข้าใจเหตุการณ์นี้ในสังคมไทยได้เป็นอย่างดี

ว่าที่เรือตรีธนวรรธน์ สุวรรณปาล
ครูสังคมศึกษา โรงเรียนราชดำริ


ออกภาพโดย Chaipat Kaewjaras