geo literacy เป็นเครื่องมือที่สำคัญของการศึกษาเพื่อสร้างความเป็นพลเมือง

ในประเด็นของการวิเคราะห์ปัญหาที่เกิดจากการแสวงหาผลประโยชน์ที่ไม่เท่าเทียม

ในทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อลดความขัดแย้งและความรุนแรงที่จะเกิดขึ้น

 

ครูจักรกฤษณ์ คิดว่า กระบวนเรียนรู้ภูมิศาสตร์ (geo literacy) สัมพันธ์กับการศึกษาเพื่อสร้างพลเมืองอย่างไร

สำหรับผมแล้ว กระบวนเรียนรู้ภูมิศาสตร์ หรือ geo literacy เป็นการจัดการศึกษาที่สามารถช่วยพัฒนานักเรียนให้เข้าใจปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นบนโลกที่มีความสัมพันธ์กับที่ตั้ง เข้าใจระบบธรรมชาติและการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสิ่งแวดล้อม เพื่อนำไปสู่การพัฒนาความสามารถในการคิดอย่างเป็นระบบและการตัดสินใจเพื่อสร้างสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนในฐานะพลเมืองไทยและพลเมืองโลก ซึ่ง geo literacy มีส่วนสำคัญในการเตรียมนักเรียนเพื่อเป็นพลเมืองในศตวรรษที่ 21 เพราะ geo literacy จะช่วยให้นักเรียนได้เรียนรู้ร่วมกันผ่านสิ่งที่เป็นปัญหา การปรับเปลี่ยนมุมมองและทัศนคติ การคิดร่วมกันอย่างเป็นระบบนำไปสู่การตัดสินใจอย่างมีเหตุผลโดยคำนึงถึงบริบทของสิ่งแวดล้อมโดยรอบที่มีผลกระทบต่อทุกภาคส่วน

geo literacy จึงเป็นเครื่องมือที่สำคัญของการศึกษาเพื่อสร้างความเป็นพลเมืองในประเด็นของการวิเคราะห์ปัญหาที่เกิดจากการแสวงหาผลประโยชน์ที่ไม่เท่าเทียมในทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อลดความขัดแย้งและความรุนแรงที่จะเกิดขึ้น และเพื่อให้มีส่วนร่วมในขับเคลื่อนการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมถึงวัฒนธรรมของชุมชนและท้องถิ่น ตลอดจนการพัฒนาคุณภาพชีวิตอันจะนำไปสู่ความสมดุลระหว่างมนุษย์กับสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน

 

จะทำอย่างไรจึงจะขยายขอบเขตความเข้าใจเกี่ยวกับการเรียนการสอนภูมิศาสตร์ในกลุ่มเพื่อนครู ให้ไกลไปกว่ามิติเรื่องลักษณะทางกายภาพ ดิน ฟ้า อากาศ อาชีพตามเขตภูมิอากาศ แต่เชื่อมโยงกับความเป็นพลเมืองได้ด้วย

ผมคิดว่า สิ่งแรกที่จะต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับการเรียนการสอนภูมิศาสตร์ของครูก่อนเลย คือ ครูต้องปรับทัศนคติของตนเองเพื่อให้เข้ากับมโนทัศน์ของ geo literacy ผ่านการเรียนรู้จากการ PLC และแหล่งเรียนรู้อื่นๆ เพื่อให้นักเรียนตระหนักในการเรียนรู้ภูมิศาสตร์ที่เริ่มมองจากสาเหตุปัญหาไปหาการป้องกันแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอันเกิดจากการกระทำของมนุษย์กับการเป็นพลเมืองทั้งในฐานะพลเมืองของชุมชนและท้องถิ่น พลเมืองไทย และพลเมืองโลก”

การปรับทัศนคติ ว่า “การเรียนการสอนภูมิศาสตร์ไม่ใช่เป็นเพียงการสอนตามหนังสือเพื่อให้รู้ว่า สิ่งนั้นอยู่ตรงไหน ประเทศนั้นอยู่ที่ใดในแผนที่ หรือแม่น้ำสายนั้นสายนี้ไหลผ่านประเทศใดบ้าง การมีความรู้ในที่ตั้งของสิ่งต่างๆเหล่านั้น เป็นเพียงขั้นแรกของการทำความเข้าใจภูมิศาสตร์ทางกายภาพ แต่สิ่งที่ต้องทำความเข้าใจต่อจากนั้น คือ “ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมส่งผลต่อการสร้างสรรค์วัฒนธรรมและวิถีการดำเนินชีวิตของมนุษย์อย่างไร” และถ้าหากเกิดปัญหาที่เกี่ยวกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกับมนุษย์ขึ้น นักเรียนจะร่วมกันแก้ไขได้อย่างไรในฐานะที่เป็นผู้ได้รับผลกระทบหรือเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย

เมื่อครูทำความเข้าใจในมโนทัศน์ของการเรียนการสอนภูมิศาสตร์ที่เน้น geo literacy ได้แล้วถึงจะสามารถนำมาเชื่อมโยงกับความเป็นพลเมืองให้นักเรียนได้ โดยครูผู้สอนต้องเปิดใจรับในกระบวนการใหม่ และการเรียนรู้จากแหล่งเรียนรู้ต่างๆ โดยเฉพาะการเรียนรู้ผ่านกระบวนการของชุมชนแห่งการเรียนรู้ หรือ PLC ที่ต้องแลกเปลี่ยนประสบการณ์ซึ่งกันและกัน ซึ่งครูจะต้องเชื่อมโยงความรู้จากเรื่องง่ายๆหรือปัญหาที่นักเรียนมองเห็นได้ชัดเจน เช่น เรื่อง “ขยะในโรงเรียน” ที่ดูเหมือนว่านักเรียนร้อยละ 70-80 หากพูดถึงความเป็นพลเมือง พวกเขาก็จะนึกเรื่องการเก็บขยะเพื่อให้โรงเรียนเกิดความสะอาด แต่สิ่งเราควรปลูกฝังเข้าไปในประเด็นของการเป็นพลเมือง คือ จะเสนอแนวทางแก้ปัญหาเรื่องนี้ร่วมกันอย่างไร ซึ่งจะต้องเน้นให้นักเรียนได้เรียนรู้ร่วมกัน คิดร่วมกันอย่างเป็นระบบนำไปสู่การตัดสินใจเพื่อเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่างให้เกิดขึ้นในโรงเรียนในฐานะที่เป็นพลเมือง