โดย รศ.ดร. ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์

ในเมื่อคนเรามีความแตกต่างหลากหลาย สังคมประชาธิปไตยควรมีหน้าตาแบบไหนจึงจะทำให้เราอยู่ต่อไปด้วยกันได้?

อคติในสังคมทำให้เราให้คุณค่าของ “ความแตกต่าง” ไม่เท่ากัน เราอดทนอดกลั้นกับความแตกต่างไม่ได้ และผลักให้คนที่คิดต่างและไม่เหมือนเราอยู่ในขั้วตรงข้ามเสมอ การตีตราประณาม กีดกัน และบังคับให้เกิดการหลอมรวมนำมาซึ่งความทุกข์ ความรุนแรงและความแตกแยกในสังคม ยกตัวอย่างเช่น วัฒนธรรมในโรงเรียนที่เน้นการบังคับหลอมรวมให้นักเรียนทุกคนมีลักษณะเหมือน ๆ กัน ความกดดันเพื่อให้เป็นที่ยอมรับในสังคมโรงเรียน ทำให้เราไม่สามารถมองเห็นและยอมรับความแตกต่างที่แต่ละปัจเจกบุคคลพึงมีได้

ประชาธิปไตยในลักษณะการยึดเสียงข้างมากเป็นหลัก 1คน1เสียง ใช้ระบบตัวแทน และเน้นการเลือกตั้ง อาจไม่ได้เป็นทางออกเสมอไป ประชาธิปไตยลักษณะนี้อาจตายไปแล้ว เพราะในที่สุดแล้ววิธีและระบบการเลือกตั้งทำให้เกิดช่องโหว่ ก่อให้เกิดปัญหาว่าด้วยเรื่องเสียงข้างมาก (adversarial democracy) สร้างความรู้สึกความเป็นผู้ชนะและผู้แพ้ และภาวะความเป็นศัตรูกัน

หากกล่าวถึง ประชาธิปไตยในฐานะวิถีชีวิต คือการร่วมกันคิด ให้เหตุผล ชักจูงโน้มน้าว เคารพซึ่งกันแลกัน การพยายามหาจุดที่ทุกฝ่ายรับได้ และที่สำคัญคือการมีความอดทนอดกลั้น เป็นสิ่งจำเป็นในการอยู่ร่วมกันในสังคมพหุวัฒนธรรมที่มีความแตกต่างหลากหลาย สังคมที่ให้ค่านิยมกับเสรีภาพนั้นต้องมีความอดทนอดกลั้นอยู่คู่กันด้วย ความอดทนอดกลั้นจะเป็นหลักประกันที่ช่วยให้เราอยู่ในสังคมที่มีความหลากหลายได้มากขึ้น

มากไปกว่านั้น เราควรสำรวจความคิดและการกระทำของเราอยู่ตลอดเวลา ว่าเรากำลังรักษาฐานของการให้คุณค่าที่ไม่เท่าเทียมกันไว้อยู่ด้วยหรือไม่? เรากำลังหล่อเลี้ยงความเหลื่อมล้ำบางประการอยู่หรือไม่? หากเราสามารถให้คุณค่าประชาธิปไตยในฐานะวิถีชีวิตเช่นนี้ได้ มองเห็นคุณค่าของกันและกันจากทั้งมิติของความเหมือนและความต่าง เราจะสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุขมากขึ้น

 

ดาวน์โหลด pdf

จดบันทึกแบบภาพ โดย ชลิพา จาก Inskru -พื้นที่แบ่งปันไอเดียการสอน

จดบันทึกโดย นพวรรณ เลิศธารากุล