วันประชาธิปไตยสากล 15 กันยายน คาดหวังให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสังคมไทยอย่างไรบ้าง?

ผศ.ดร.พรไทย ศิริสาธิตกิจ: คำว่า “ประชาธิปไตย” นั้นเมื่อเคลื่อนออกมาจากหนังสือในตำรามาสู่ตัวคน ประชาธิปไตยจะถูกสร้างสรรค์และต่อเติมความหมาย ผ่านปฏิบัติการทางสังคม (social practice) ของผู้คนในสังคมทันที

ในแง่นี้ประชาธิปไตยจึงเป็นเงื่อนไขที่สำคัญต่อการสร้างระบบความสัมพันธ์ของคนในสังคม อาทิ ในสังคมไทย เราจะมีระบบโรงเรียนแบบไหน เราจะแต่งกายไปโรงเรียนแบบไหน เราจะจ่ายภาษีในอัตราเท่าไหร่ ใครจะจ่ายค่ารักษาพยาบาลหรือใครไม่ต้องจ่าย สิ่งเหล่านี้ล้วนถูกกำหนดผ่านรัฐในกรอบประชาธิปไตยแบบไทย ๆ ดังนั้นด้วยฐานคิดที่ว่านี้ การร่วมกำหนดนิยามของคำว่าประชาธิปไตย จึงยิ่งทวีความสำคัญ เพราะหากเรามีอำนาจในการร่วมกำหนดนิยามความหมายของประชาธิปไตย นั้นเท่ากับว่าเรามีอำนาจในการกำหนดนิยามสิทธิของตัวเราด้วย

“ประชาธิปไตย” จึงต้องเป็นคำที่ไม่มีความหมายตายตัว (Stereotype) ที่ถูกกำหนดจากใครคนใดคนหนึ่ง อย่างตามใจชอบ แต่ประชาธิปไตยควรดำรงอยู่ท่ามกลางการมีส่วนร่วมสร้างสรรค์ความหมายของผู้คนที่หลากหลาย พลังสร้างสรรค์ที่ว่าก็ไม่สามารถเกิดขึ้นลอย ๆ หากแต่เกิดขึ้นจากลงมือปฏิบัติของผู้คนในสังคมนั้นเอง “ประชาธิปไตยทำเอง” เช่นนี้นี่ละครับที่เราควรคาดหวังให้เกิดขึ้นในสังคมไทย เพราะหลายปีมานี้เราต่างเห็นอยู่ชัดเจนแล้วว่า “ประชาธิปไตยแบบทำแทน” นั้นไม่ใช่ทางเลือกในการสร้างรัฐที่สอดคล้องกับบริบทสังคมไทยอีกต่อไป

 

บทสัมภาษณ์พิเศษ ผศ.ดร.พรไทย ศิริสาธิตกิจ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ หนึ่งในเครือข่าย Thai Civic Education เนื่องในวันประชาธิปไตยสากล (International Day of Democracy)

#thaiciviceducation #dramocraticcitizenship #democracyday