โดย ธนาภรณ์ พรหมภัทร์ – ขิม
นักเรียนโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยมหาสารคาม
_
ในเวทีเสวนา “ พลเมืองประชาธิปไตยและพลังขับเคลื่อนสังคมของเยาวชน(Democratic Citizens and Civic Engagement of the Youth)

รับชมวีดีโอปาฐกถาได้ที่ : https://bit.ly/3m0oOXn

เราจะมาพูดในประเด็นเรื่องพลเมืองประชาธิปไตยและความเป็นธรรมทางสังคม พลเมืองในฐานะที่เราจะพูดถึงเป็นพลเมืองแบบ active citizen พลเมืองนั้นไม่ใช่แค่การที่เราเกิดมา พลเมืองนั้นไม่ใช่แค่เรื่องของประชากร พลเมืองนั้นที่เราไม่ได้ตระหนักถึงเพียงแค่เรื่องของจำนวนเท่านั้น แต่ว่าพลเมืองที่เราจะมาพูดคุยและถกเถียงกันเป็นพลเมืองในรูปแบบที่ว่าเราเป็นคนที่เกิดมาแล้วมีหลักคิด มีปฏิสัมพันธ์กับรัฐ มีปฏิสัมพันธ์กับระบบและมีความสัมพันธ์ในฐานะที่เราเป็นคนที่จะขับเคลื่อนประเทศและนโยบายของประเทศ
.
ซึ่งสิ่งที่กล่าวไปในข้างต้นก็คือความเป็น democratic citizen ความเป็น active citizen สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากว่าระบบทางการเมืองที่มีอำนาจและมีส่วนร่วมในการประกอบสร้างพวกเราทุกคนในประเทศนั้นไม่มีความเป็นธรรมและยังไม่มีความเป็นประชาธิปไตย พลเมืองที่หวงแหนในเรื่องของสิทธิของตัวเอง ติดตามเรื่องราวทางการเมืองเพราะคิดว่าการเมืองนั้นเป็นเรื่องใกล้ตัว คิดว่าเนื้อตัวร่างกายของเราไม่สามารถแยกออกขาดจากการเมืองได้ สิ่งเหล่านี้เป็นหลักคิดและเป็นผลผลิตของประชาธิปไตย ประชาธิปไตยนั้นเป็นระบอบที่ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับประชาชนคือผู้ตรวจสอบและถ่วงดุลกัน ไม่ใช่ความสัมพันธ์แบบเจ้านายและลูกน้องแต่อย่างใด ซึ่งการปกครองในรูปแบบอื่น ๆ จะไม่ก่อให้เกิดหลักคิดแบบนี้อย่างแน่นอน
.
ยกตัวอย่างหากเราเกิดมาในประเทศที่เป็นเผด็จการเราจะไม่รู้สึกเลยว่าความสัมพันธ์ระหว่างเรากับผู้ปกครองมีปัญหาอะไรกันบ้าง ทุกคนจะมัวแต่ทำหน้าที่ของตัวเองและทุกคนก็แค่ตระหนักเพียงว่าเราต้องทำตามคำสั่ง ชีวิตเราจึงจะมีสุข เมื่อความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับประชาชนเป็นแบบเจ้านายและลูกน้องมันจะไม่ก่อให้เกิดสิ่งที่เรียกว่าการเรียนรู้ หรือว่ามันจะไม่ก่อให้เกิดสิ่งที่เรียกว่าการปรับตัว ซึ่งสิ่งเหล่านั้นถือเป็นคุณสมบัติของพลเมือง ถามว่าทำไมมันจึงไม่ก่อให้เกิด เพราะในระบอบเผด็จการออกแบบมาให้เรา ไม่สามารถที่จะเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง เพราะว่าเขาออกแบบมาแล้วว่าเราต้องเรียนรู้อะไรบ้าง เราต้องเชื่ออะไร เราต้องรักอะไร เรามีหน้าที่อะไรบ้าง และเมื่อเรายอม ท้ายที่สุดมันจะทำให้เรามองข้ามจุดบอดของรัฐและเลี่ยงที่จะวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐไป
.

แต่ถ้าหากความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับประชาชนในระบอบประชาธิปไตยคือการที่ประชาชนมีสิทธิ์ที่จะตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจรัฐ มีการปรับเปลี่ยนวาระของรัฐบาลเป็นวาระวาระไป มีการวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐ นโยบายของรัฐออกแบบมาเพื่อรองรับและเกื้อหนุนประชาชน ตรากฎหมายมาเพื่อคุ้มครองประชาชน ให้ความสำคัญต่อเรื่องสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค เมื่อความสัมพันธ์เป็นแบบที่เราสามารถตรวจสอบและถ่วงดุลกันได้ ทุกคนมีอำนาจต่อกัน มันจะเป็นหลักการที่ทำให้ประเทศชาตินั้นสามารถพัฒนาไปอย่างพร้อมเพรียงกันได้ในทุกภาคส่วน

ดังนั้น หากเรามีประชาธิปไตยและมีความเป็นธรรมทางสังคมที่มีเป้าหมายเพื่อสร้างความเสมอภาคให้กับคนในสังคม ประชากรจึงจะเป็นพลเมืองได้ เพราะหากเราไม่มีระบอบที่เป็นประชาธิปไตย เราเป็นเผด็จการและเรายังไม่มีความเป็นธรรมทางสังคม อย่างเช่นการใช้อำนาจรัฐข่มขี่ การใช้อำนาจรัฐจำกัดในส่วนของ freedom of speech ทำให้ประชาชนนั้นไม่กล้าที่จะ active เพราะความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับประชาชนเป็นไปในรูปแบบของการกดขี่และลิดรอนโดยการใช้อำนาจ เมื่ออำนาจนั้นได้ลิดรอนกดขี่และทำลายความรู้สึกปลอดภัยของประชาชนมันจะเกิดพลเมืองขึ้นได้ยากเพราะว่าเมื่อเราไม่รู้สึกปลอดภัยที่จะใช้สิทธิของเรา มันก็จะไม่เกิดความ active มันก็จะไม่เกิดความขบคิดภายในตัว ซึ่งสิ่งนี้นั้นเป็นปัญหาที่รัฐไทยกำลังเผชิญอยู่นั่นเอง
.
การที่พลเมือง active นั้นเป็นเรื่องของการสร้าง เพราะฉะนั้นถ้าเราทำให้มันเกิดมันจึงจะเกิด และหากเราไม่ได้ทำให้มันเกิดมันก็จะไม่เกิด ไม่มีกฎหมายข้อไหนที่ตราไว้ว่าเราทุกคนจะต้องเกิดมาและเป็นพลเมืองที่ active หรือหากคุณไม่เป็น active citizen คุณจะเสียเงิน มันไม่ใช่ มันเป็นเรื่องของคุณธรรม เป็นเรื่องของจิตใจที่ว่าถ้าเรารู้สึกปลอดภัยแล้ว เรารู้สึกว่าการเมืองนั้นเชื่อมโยงกับเรา ถ้าเรารู้สึกว่าการเมืองกับเรานั้นมีความสัมพันธ์ในรูปแบบที่ว่าคนต่างมีผลประโยชน์ต่อกัน ต่างคนต่างเกื้อหนุนกัน มันจะเปิดโอกาสให้คนสามารถเป็นพลเมืองที่ active ได้ มันจะเปิดโอกาสให้คนนั้นสามารถที่จะคิดถึงคนอื่นมากกว่าตัวเองได้ ถ้าสมมติว่าบริบทของสังคมหรือความคิดที่อยู่ในสังคมเป็นความคิดแบบเผด็จการ ผู้คนในสังคมจะนึกถึงแต่ตัวเองและเห็นแก่ตัว เพราะคนจะคิดว่าถึงเราจะช่วยเหลือกันไปอย่างไร เราจะเกื้อกูลกันไปอย่างไรมันก็ไม่ได้ทำให้ชีวิตเราดีขึ้น เพราะชีวิตของเรานั้นต่างตัดขาดกัน พอสังคมเป็นไปในบริบทของเผด็จการ มันทำให้ความสัมพันธ์ของรัฐกับคนนั้นตัดกัน คนกับคนก็ตัดกัน ซึ่งสิ่งเหล่านี้ทำให้จริยธรรมนั้นไม่ได้เกิดขึ้น คนจะรู้สึกว่าเราไม่จำเป็นที่จะต้องอยู่ร่วมกัน เราไม่จำเป็นที่จะต้องพึ่งพากัน
.
เช่นในประเทศไทยตอนนี้ คุณธรรมนั้นไม่ได้สำคัญเท่ากับระบบอุปถัมภ์ ยกตัวอย่างการที่มีคนซื้อสิทธิ์ขายเสียงในการเลือกตั้งท้องถิ่น ถามว่าเค้าซื้อสิทธิ์ขายเสียงไปเพื่ออะไร ก็เพื่อที่จะทำให้ตัวเองนั้นมีตำแหน่ง มีตำแหน่งก็เพื่อที่จะมาจุนเจือผลประโยชน์ส่วนตัว เพราะฉะนั้นเรื่องคุณธรรมจึงถูกผลักออกไปให้เป็นเรื่องรองและมีเรื่องหลักเป็นเรื่องของผลประโยชน์ส่วนตนนั่นเอง พอเรามาลองพิจารณาว่าทำไมเขาจึงนึกถึงแต่ผลประโยชน์ส่วนตัว ก็จะพบว่าเพราะตัวเขานั้นต้องเอาชีวิตรอดในระบบที่เป็นระบบอำนาจนิยม ในระบอบศักดินา ในระบบอุปถัมภ์ที่กำลังกดขี่เขาและตัวเราทุกคนอยู่ เขาจึงไม่มีสิทธิ์เลือก เพราะระบบที่แย่นั้นทำให้มนุษย์เรานึกถึงแต่ตัวเองเป็นสำคัญเรื่องอิกนอแรนท์เองก็เช่นกัน เป็นอีกหนึ่งบทพิสูจน์ในระบบที่แย่ที่ทำให้เราเห็นว่าระบบไม่ได้ทำให้เรามั่นใจว่าเราออกมาเรียกร้องแล้วเราจะได้อะไร ระบบที่แย่มันทำให้มนุษย์ไม่ได้คิดว่าเราต้อง Active มันไม่ได้ทำให้มนุษย์คิดว่าเราต้องออกมาเรียกร้องเพื่อสิทธิของตัวเอง มันทำให้เราคิดเพียงแค่ว่าเราต้องเอาตัวรอดเท่านั้นเอง

แต่หากบริบทของสังคมมีหลักคิดแบบประชาธิปไตยมันจะเปิดโอกาสให้คนได้มีปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนกับคน และนอกเหนือจากนั้นยังเปิดโอกาสให้คนได้มีปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนกับรัฐอีกด้วย คนเราเองก็จะได้พูดคุยกันมากขึ้น พอเราได้พูดคุยกันมากขึ้นเราก็จะได้ตรวจสอบความเชื่อของตัวเอง ได้เห็นความคิดเห็นที่หลากหลาย ความเชื่อของเราจะถูกตรวจสอบและเราเองก็จะตรวจสอบความเชื่อของคนอื่นอยู่เสมอ เราจะเห็นอกเห็นใจกันมากขึ้น เราจะรับฟังกันมากขึ้น เราจะได้ฝึกเพื่อที่จะอยู่ร่วมกัน บรรยากาศเหล่านี้นั้นทำให้คนมีผัสสะที่ว่าเรานั้นคือ Active Citizen
.
พอเราพูดถึงการมีคุณธรรม การคิดเห็นต่อส่วนรวมในบริบทนี้คือเราไม่ได้หมายถึงว่าเราจะต้องแบ่งข้าวแบ่งน้ำให้ใครเท่าไหร่ เราไม่ได้คิดไปถึงจิตอาสา ในบริบทที่เราจะพูดถึงคือหลักจริยธรรมที่มันอยู่ในมนุษย์ นั่นหมายถึงในแง่ของการรับฟัง การอดทนอดกลั้น รับฟังความคิดเห็นที่หลากหลาย การที่เราจะไม่ตัดสินใครด้วยบรรทัดฐานส่วนตัว ทั้งนี้คือการเห็นถึงความแตกต่างหลากหลายของกลุ่มคนผ่านการพูดคุย ผ่านการเจรจาในชีวิตประจำวัน นี่ก็ถือเป็นอีกหนึ่งความรับผิดชอบของพลเมืองเช่นกัน ดังนั้นเราจึงสามารถกล่าวได้อีกครั้งว่าระบบที่ดีอย่างประชาธิปไตยจะทำให้เกิดบรรยากาศของความ active และสิ่งที่ตามมามันก็คือทำให้คนนั้นเกิดการฝึกฝนที่จะอดทน การให้คุณค่าเกี่ยวกับศีลธรรม การให้คุณค่ากับความเป็นธรรม สิ่งเหล่านี้ก็จะตามมา หากถามว่าทำไมระบบถึงทำให้เกิด เพราะเราต้องมีปฏิสัมพันธ์ต่อกันและเรามีปฏิสัมพันธ์ต่อรัฐนั้น โอกาสที่มันจะเกิดความวุ่นวายมันก็มีอยู่ ซึ่งสิ่งที่จะทำให้มันไม่วุ่นวายก็คือการที่เรายอมรับความแตกต่างหลากหลาย เรายอมรับความคิดเห็นที่หลากหลายและเราเห็นอกเห็นใจกัน
.
เพราะฉะนั้นเรื่องนี้มันจึงต้องควบคู่กันไปทั้งในระบอบการปกครองที่ดีและเรื่องของความเป็นธรรมทางสังคม เพราะอัตลักษณ์ของกลุ่มคนนั้นมีความลื่นไหลและหลากหลายอย่างมาก เป้าหมายเรื่องความเป็นธรรมทางสังคมจึงไม่ใช่แค่การเรียกร้องสิทธิอันหนึ่งที่เบ็ดเสร็จเด็ดขาดแต่เป็นการชี้ให้เห็นถึงความแตกต่างหลากหลายของกลุ่มคนที่มีอยู่อย่างหลากหลาย นอกเหนือจากนั้นระบบที่ดีนั้นก่อให้เกิดบรรยากาศในการขบคิดในเรื่องของศีลธรรม

อย่างเช่นการขบคิดในเรื่องที่ว่ากลุ่มความหลากหลายทางเพศนั้น ควรมีสิทธิ์ที่จะทำการสมรสเหมือนกัน ผู้หญิงควรจะได้มีสิทธิ์ในการทำแท้งโดยเสรี คนฐานะต่างกันควรเสียภาษีเท่ากันหรือไม่ อย่างไร ทั้งหมดนี้คือการถกเถียงในเรื่องของจริยธรรมทั้งนั้น มันคือการถกเถียงเพื่อก่อให้เกิดความเป็นธรรมให้ได้มากที่สุด แต่บรรยากาศการถกเถียงนี้จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อเรามีระบบที่เอื้อต่อการถกเถียง ซึ่งนั่นจะไม่ใช่ระบบเผด็จการอย่างแน่นอน ทุกประเด็นสังคมไม่ว่าจะเป็นประเด็นในเรื่องของการศึกษา เรื่องกฎหมาย เรื่องนโยบาย เรื่องสวัสดิการหรือเรื่องอะไรก็ตาม มันควรจะเกิดการถกเถียงและถูกชั่งน้ำหนักทางศีลธรรมก่อนที่เรานั้นจะมาปรับใช้อย่างเป็นรูปธรรม
.
ดังนั้นพลเมืองจะเกิดขึ้นได้ก็ต้องดูด้วยว่าเราอยู่ในระบบแบบไหน ผู้คนมีปฏิสัมพันธ์กันไหม คนกับรัฐมีปฏิสัมพันธ์กันในรูปแบบใด ทุกอย่างล้วนเป็นการสร้างให้เกิดทั้งสิ้น เมื่อสภาพแวดล้อม เมื่อกรอบคิดของคนเกิดไปในทิศทางนั้น ๆ จึงจะเกิดความ active ตามมา เกิดบรรยากาศการมีส่วนร่วมตามมา เกิดบรรยากาศการถกเถียงในเรื่องของความเป็นธรรม เกิดบรรยากาศการถกเถียงเกี่ยวกับคุณค่าประเด็นต่าง ๆ ทางสังคมตามมา แล้วคนที่จะมาขบคิด ว่าเรื่องนั้นสมควรแบบนั้นเรื่องนี้สมควรแบบนี้ควรจะให้คุณค่าเรื่องไหนในแบบไหนนั่นก็คือพลเมืองที่เป็นผลผลิตของระบบที่ดีนั่นเอง

ยกตัวอย่างเรื่องบรรยากาศในสังคมที่ใกล้ตัวก็คือเรื่องบรรยากาศของการศึกษา การศึกษาไทยที่อยู่ในโลกทัศน์แบบเผด็จการและการศึกษาไทยที่เราคาดหวังที่จะให้เกิดในอนาคตคือการศึกษาที่อยู่ในโลกทัศน์แบบประชาธิปไตยมีความแตกต่างกันอย่างมาก การศึกษาในโลกทัศน์แบบเดิมนั้นเน้นแค่เรื่องที่ว่าเราต้องท่องจำ ต้องเชื่อ เราต้องบูชา เน้นในเรื่องพิธีกรรมและเน้นในเรื่องวัฒนธรรมของการเป็นทาสเป็นสำคัญ การศึกษาแบบนี้ก็จะผลิตคนอีกแบบหนึ่งที่กลายเป็นคนที่ passive เพราะผลผลิตของการศึกษานี้ไม่ได้หล่อหลอมให้เราคิด ไม่ได้หล่อหลอมให้เราตั้งคำถาม แต่การศึกษาในโลกทัศน์แบบใหม่ที่ถูกฝึกให้คิดว่าอย่าเพิ่งไปเชื่ออะไรแบบนั้น อย่าเพิ่งไปเชื่ออะไรง่าย ๆ หรือถูกหล่อหลอมให้คิดว่าทุกคนมีสิทธิ์ที่จะกำหนดความเชื่อของตัวเองได้ บรรยากาศแบบนี้มันจะก่อให้เกิดคนที่ active นั่นเอง เป็นคนที่ตั้งคำถามอยู่ตลอดเวลา แม้กับเรื่องของความเชื่อของตัวเองโดยปริยาย สิ่งที่สำคัญคือ active citizen จะมาพร้อมกับการพูดคุยแลกเปลี่ยนเรื่องของคุณค่าความดีความงามและคุณธรรมประจำสังคมนั้น ๆ อยู่เสมอว่าวัฒนธรรมนี้ที่เป็นสิ่งที่ดีงาม สังคมที่มีมานาน เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป เราจะเปลี่ยนแปลงมันไปในทิศทางไหน
.
วัฒนธรรมและกรอบคิดนั้นเป็นรากฐานที่สำคัญในการสร้างประชาธิปไตย การให้ความสำคัญกับการสร้างสภาพแวดล้อมที่เป็นประชาธิปไตย การสร้างวัฒนธรรมการแสดงความคิดเห็น การสร้างวัฒนธรรมการขบคิดเกี่ยวกับความเป็นธรรมทางสังคมเป็นเรื่องที่สำคัญในการสร้างพลเมือง ดังนั้นสถาบันต่าง ๆ ที่เป็นเบ้าหลอมและเป็นผู้มีส่วนร่วมในการประกอบสร้างพวกเราทุกคนจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะสร้างสภาพแวดล้อมแห่งประชาธิปไตยเพื่อสร้างพลเมืองสู่สังคม เมื่อเราพูดถึงบรรยากาศแบบนั้น การเกิดขึ้นของงานสัมมนาในครั้งนี้ก็ก่อให้เกิดบรรยากาศที่ดีที่เอื้อต่อการสร้างพลเมือง และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าบรรยากาศแบบนี้จะเกิดขึ้นอย่างเป็นปกติและเกิดขึ้นในทุกหย่อมหญ้าของสังคมไทยเรา