สอนเพื่อประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน : แนวคิดการศึกษาเพื่อความเป็นพลเมืองประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนศึกษา Education for Democratic Citizenship and Human Right Education (EDC/HRE)
.
ความท้าทายของโลกในศตวรรษที่ 21 ความขัดแย้งทางชาติพันธุ์ การเหยียดเชื้อชาติ เพศ การก่อการร้าย สิ่งแวดล้อม ผู้อพยพ ความเหลื่อมล้ำ และการผงาดของระบอบอำนาจนิยม สิ่งนี้เป็นสิ่งที่นักเรียนในฐานะพลเมืองต้องเผชิญหน้าอยู่ทั่วทุกมุมโลก การศึกษาเพื่อความเป็นพลเมืองประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนศึกษา เป็นแนวคิดการศึกษาที่มองว่าการศึกษาควรส่งเสริมให้นักเรียนในฐานะพลเมืองรุ่นใหม่เข้าไปมีส่วนร่วมในชุมชนที่พวกเขาอาศัยอยู่บนหลักประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน ผ่านการทำความเข้าใจปัญหาหรือความท้าทายที่เผชิญอยู่ พร้อมกับส่งเสริมให้นักเรียนกล้าลุกขึ้นมาสร้างการเปลี่ยนแปลงสังคมให้ไปทางที่ดีขึ้น
.
ในหนังสือ Educating for democracy (Vol. I) อธิบายว่าโดยภาพรวมนั้น การศึกษาเพื่อความเป็นพลเมืองประชาธิปไตย (EDC) และสิทธิมนุษยชนศึกษา (HRE) เป็นแนวคิดการจัดการศึกษาที่สนับสนุนนักเรียนในบทบาทพลเมืองรุ่นใหม่ให้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของสังคมซึ่งถือเป็นชุมชนทางการเมือง และมีส่วนรวมบนหลักประชาธิปไตย เพราะฉะนั้นการจะเข้าไปมีส่วนร่วมได้เราจำเป็นต้องสร้างนักเรียนที่มีความรู้ ความเข้าใจ ทักษะ คุณค่า และทัศนคติเป็นพื้นฐานสำคัญ
.
การศึกษาเพื่อความเป็นพลเมืองประชาธิปไตย และสิทธิมนุษยชนศึกษา เป็นแนวคิดที่ต่างส่งเสริมซึ่งกันและกัน EDC มุ่งเน้นพื้นฐานหลักสิทธิทางประชาธิปไตย ความรับผิดชอบ และการเข้าไปมีส่วนร่วม ซึ่งล้วนสัมพันธ์กับความเป็นพลเมืองในมิติการเมือง สังคม เศรษฐกิจ กฎหมาย และวัฒนธรรม ดังนั้น EDC จึงมุ่งที่บทบาทพลเมืองรุ่นใหม่ในชุนชนและสังคมเป็นสำคัญ ขณะที่ HRE คือการตระหนักถึงสิทธิมนุษยชน และหลักพื้นฐานเสรีภาพในทุกแง่มุมของชีวิต ในฐานะปัจเจกและอัตลักษณ์ ความต้องการ อิสรภาพ และความรับผิดชอบ ซึ่งประกอบด้วยแนวคิดสำคัญ (Key concept) ในการจัดการเรียนรู้ ดังนี้
.
1.อัตลักษณ์ (Identity)
2.ความหลากหลาย และพหุนิยม (Diversity and Pluralism)
3.ความรับผิดชอบ (Responsibility)
4.ความขัดแย้ง (Conflict)
5.หลักนิติธรรม (Rule and Law)
6.การปกครองและการเมือง (Government and Politics)
7.ความเท่าเทียม (Equality)
8.อิสรภาพ (Liberty)
9.สื่อ (Media)
.
ดังนั้น การสร้างให้นักเรียนมีบทบาทพลเมือง จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องสร้างให้พวกเขารู้และเข้าใจสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยจากแนวคิดสำคัญทั้ง 9 แนวคิดอย่างเชื่อมโยงระหว่างกัน ผ่านการฝึกฝนในห้องเรียนและการปฏิบัติเชิงประสบกาณ์ในชีวิตโรงเรียน ในหนังสือ Educating for democracy (Vol. I) ได้นำเสนอแนวทาง EDC/HRE มาปรับใช้สู่การสอนและการเรียนรู้บนหลักการดังนี้
.
1)สอนเกี่ยวกับประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน

สร้างให้นักเรียนเข้าใจเกี่ยวกับความหมาย ความสำคัญ หลักการของประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน และเรียนรู้ที่จะปกป้องหรือส่งเสริมคุณค่าประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนได้ และเข้าใจระบบรัฐธรรมนูญและระบบกลไกทางการเมืองว่าทำงานอย่างไร
.
2) สอนเพื่อประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน

สนับสนุนให้นักเรียนเข้าไปมีส่วนร่วมในชุมชนของตนเอง ฝึกฝนในเรื่องสิทธิมนุษยชน คุณค่าประชาธิปไตย เช่น เคารพทุกสียงแม้จะไม่เห็นด้วยก็ตาม มีส่วนร่วมในกระบวนการทางการเมืองแบบทางการ นอกจากนี้ ควรมีการปลูกฝังนิสัยคุณค่าของประชาธิปไตย และสิทธิมนุษยชน ในทุกวันของชีวิตและกิจกรรม เพื่อให้เกิดความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งและส่วนสำคัญของสังคม และสามารถที่จะมีส่วนรวม และสร้างความเปลี่ยนแปลงได้
.
3)สอนผ่านประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน

ส่งเสริมสภาพแวดล้อมทางการเรียนรู้ให้กับนักเรียน มีกระบวนการสอนและการเรียนรู้ที่นักเรียนได้ฝึกฝนบนหลักสิทธิมนุษยชน เช่น เสรีภาพของความคิดและการแสดงออก มีส่วนร่วมในการบริหารโรงเรียน ฝึกฝนความรับผิดชอบ การแก้ปัญหาอย่างสันติบนความขัดแย้ง เป็นต้น
.
การศึกษาเพื่อความเป็นพลเมืองประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนศึกษา จึงไม่ใช่แค่เรื่องทางเนื้อหาความรู้เพียงอย่างเดียว แต่มันคือวิถีชีวิตในทุกวัน ซึ่งเป็นทั้งกระบวนการและเป้าหมายที่การศึกษาควรสร้างให้เกิดขึ้นกับนักเรียนอย่างจริงจัง เพื่อที่พวกเขาจะเติบโตเป็นพลเมืองที่กล้ายืนหยัดบนหลักความถูกต้อง และลงมือเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้นกว่าเดิม


เขียนโดย อรรถพล ประภาสโนบล
_
อ่านเพิ่มเติม
https://www.living-democracy.com/…/volume-1/introduction/

#thaiciviceducation