Civic classroom ตอนที่ 4 การสอนประชาธิปไตยไม่ใช่แค่เนื้อหา อ.อภัยชนม์ สัจจะพัฒนกุล คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม อาจารย์ที่สอนให้นักศึกษาครูมองเห็นเรื่องการเมืองและประชาธิปไตยที่ตั้งต้นจากหลักสูตรการศึกษา และสิ่งใกล้ตัว ด้วยคำถามๆง่ายๆว่า “สังคมแบบไหนที่เราจะอยู่ หรือสังคมในอุดมคติของเรามันมีหน้าเป็นแบบไหน”

การศึกษาเพื่อสร้างพลเมืองในระบอบประชาธิปไตยเป็นโจทย์ที่ท้าทายหนึ่งของการศึกษาไทยในช่วงของการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองในประเทศ และท่ามกลางสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลง ดังนั้นโจทย์ในการจัดการเรียนการสอนเพื่อสร้างพลเมืองในระบอบประชาธิปไตยในประเทศที่ไม่เป็นประชาธิปไตยและประชาธิปไตยได้กลายเป็นสิ่งน่ารังเกียจของคนบางส่วนในสังคมจึงเป็นความท้าทายอย่างยิ่งต่อผู้สอน
.
ในฐานะที่รับผิดชอบ “วิชาการศึกษาเพื่อสร้างพลเมืองในระบอบประชาธิปไตย” ซึ่งเป็นวิชาศึกษาทั่วไปของทางมหาวิทยาลัยที่นักศึกษาทุกคณะจะต้องมาลงเรียน อีกทั้งวิชานี้ก็กลายเป็นวิชาบังคับในหลักสูตร 4 ปีใหม่ของคณะครุศาสตร์ ทำให้โจทย์ในการจัดการเรียนรู้เป็นเรื่องท้าทายอย่างยิ่งในทุกปีเพราะธรรมชาติของนักศึกษาในแต่ละคณะ แต่ละสาขาล้วนมีความหลากหลายทั้งด้านการแสดงออก ทักษะพื้นฐาน ตลอดจนมุมมองและวิธีคิด เราจึงตั้งเป้าหมายกว้างๆโดยแบ่งกลุ่มเป้าหมายออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรก นักศึกษาจากคณะอื่นๆ นอกครุศาสตร์ เป้าหมายหลักจะเป็นการพัฒนาสมรรถนะความเป็นพลเมืองที่มุ่งเน้นความเป็นธรรมทางสังคมให้พวกเขาสามารถคิดเชิงโครงสร้างได้ เห็นพลังของพลเมืองในการเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้นอย่างสร้างสรรค์ ส่วนกลุ่มที่ 2 ซึ่งเป็นนักศึกษาจากคณะครุศาสตร์นอกจากเราจะต้องพัฒนาสมรรถนะความเป็นพลเมืองของพวกเขาแล้วเราก็ต้องชวนเค้าให้มองลึกไปถึงประเด็นทางการศึกษาและการออกแบบการสอนในฐานะครูผู้สร้างพลเมืองอีกด้วย
.
สำหรับการพัฒนานักศึกษาครู สิ่งแรกที่สำคัญ คือเราต้องทำให้เขาเห็นความสัมพันธ์ระหว่างการเมืองกับการศึกษา ทำไมการศึกษาจึงได้ชื่อว่าเป็นเครื่องมือทางการเมือง ซึ่งต้องเรียนรู้บนฐานของการศึกษาเชิงวิพากษ์ ยกตัวอย่างเช่น การให้ผู้เรียนตั้งคำถามเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการศึกษา เชื่อมโยงไปยังเป้าหมายการศึกษา และต่อเนื่องไปถึงหลักสูตร การวัดและประเมินผล สิ่งเหล่านี้กลายเป็นเครื่องมือทางการเมืองได้อย่างไร โดยเฉพาะครูสังคมศึกษาเราจะตั้งคำถามเลยว่าหลักสูตรแกนกลางที่พวกเราจะสอนกันเนี่ยสุดท้ายปลายทางหลักสูตรกำลังเพิ่มหรือลดอำนาจให้แก่ใคร ดังนั้นเขาจะออกแบบการจัดการเรียนรู้อย่างไร หรือเข้าไปมีส่วนร่วมการเปลี่ยนแปลงสังคมการเมืองที่เขาอยู่อย่างไรผ่านเจตจำนงทางสังคมที่เขาให้คุณค่า ซึ่งสุดท้ายเราไม่ได้สอนครูให้ไปสอนให้เด็กท่องจำเนื้อหาและทำข้อสอบ เรามองครูเป็นนักปฏิบัติการทางสังคม คือนักเปลี่ยนแปลงสังคมผ่านการศึกษา

ประเด็นที่สองในหลักการสอน เรามองว่าการสอนเรื่องประชาธิปไตยมันไม่ใช่การสอนที่เน้นเรื่องเนื้อหา แต่เป็นการเรียนรู้บนฐานประสบการณ์ที่เชื่อมโยงกับชีวิตของนักศึกษาตามบริบทแวดล้อมที่เขาพบเจอ ดังนั้นคาบแรกที่เจอกันก่อนที่เราจะชวนเขาไปเรียนรู้เรื่องต่างๆ ของประชาธิปไตย คือเราให้นักศึกษาออกแบบเป้าหมายการเรียนของตัวเองก่อนในการเรียนครั้งแรก มีการให้ตั้งเป้าหมายร่วมกันว่าเรามาเรียนวิชานี้ไปเพื่ออะไรมีเนื้อหามีเรื่องใดที่เขาสนใจเป็นพิเศษ และให้เขาลองตั้งคำถามอะไรก็ได้ที่เขาสนใจเกี่ยวกับประชาธิปไตยและสังคม แล้วเราก็ให้เขาตั้งเป้าหมายในการเรียนจากตรงนั้น ดังนั้นเมื่อจบการเรียน เราให้เขาได้สะท้อนว่าเขาเจอคำตอบตามที่เขาตั้งไว้หรือไม่ ที่สำคัญในการสอน เราอยากให้เขามีส่วนร่วมในการออกแบบการเรียนรู้ของตัวเขาเอง ให้เขารู้สึกว่าเขาคือเจ้าของการเรียนรู้ด้วยตัวเอง การเรียนการสอนของเราจึงไม่ได้ใช้เนื้อหาเป็นตัวตั้งและต้องตะบี้ตะบันสอนให้ครบจบเนื้อหา แต่เรามองว่าวิชานี้คือพื้นที่ของการเรียนรู้ แลกเปลี่ยนมุมมอง และเติมเต็มระหว่างกัน โจทย์ของเราจึงอยู่ที่ว่านักศึกษาต้องการเรียนรู้อะไร และเราจะทำให้เขาเห็นวิธีการเรียนรู้ของตัวเอง เห็นวิธีคิดของตัวเอง เห็นทัศนคติของตนเอง และสุดท้ายคือต้องเห็นพลังพลเมืองของตนเอง
.
ประเด็นถัดมา การสอนเรื่องประชาธิปไตยเป็นสิ่งใกล้ตัว เราสร้างให้ห้องเรียนเป็นพื้นที่ของคำถามตั้งคำถามชวนคิดต่อแล้วก็หาคำตอบ เป็นอย่างนี้ไปเรื่อย ยกตัวอย่างเช่น เราอาจเริ่มต้นกับคำถามที่ว่า “สังคมแบบไหนที่เขาอยากจะอยู่ หรือสังคมในอุดมคติของเขามันมีหน้าเป็นแบบไหน” เพื่อทำให้เห็นว่าการสอนในเรื่องของการสร้างพลเมืองในระบอบประชาธิปไตยไม่ใช่เรื่องไกลห่าง แต่เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของตัวเขาที่ต้องเรียนรู้ในฐานะพลเมืองซึ่งเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย เราจึงให้ความสำคัญอย่างมากกับการสอนจึงให้เขาตระหนักในความสำคัญของแนวคิดเรื่องสิทธิและความรับผิดชอบทางสังคม เมื่อเขามีสิทธิที่อยู่ในสังคมนี้อะไรคือความรับผิดชอบต่อสังคมที่เกิดควบคู่ไปด้วย ขณะที่คำว่า“หน้าที่” เรามองว่าคำนี้มีปัญหามาก เป็นแนวคิดเชิงอำนาจนิยมที่ใช้กดทับพลังของพลเมืองไม่ต่างจากแนวคิดเชิงชนชั้นวรรณะ ทำหน้าที่ตามสถานะของปัจเจก เช่น นักศึกษามีหน้าที่เรียนหนังสือไม่ต้องยุ่งเรื่องการเมือง แนวคิดแบบนี้มีปัญหาต่อสังคมประชาธิปไตยมาก เพราะถ้าเราดูในต่างประเทศการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนไม่ได้อยู่ที่ช่วงวัย นักเรียนประถมก็สามารถออกมาเคลื่อนไหวทางสังคมเพื่อต่อสู้เรื่องโลกร้อนได้ ดังนั้นการสอนหน้าที่พลเมืองและสอนเฉพาะ “หน้าที่” โดยละเลยเรื่องของ “สิทธิ” จึงเป็นปัญหาสำคัญที่ทำให้การสอนพลเมืองไม่ประสบความสำเร็จ
.

ดังนั้นแล้ว การให้โจทย์นักศึกษาครูคิดถึงเป้าหมายการสร้างความเป็นพลเมือง เป็นสิ่งที่เราพยายามทำให้นักศึกษาตั้งคำถามว่าเขากำลังสอนนักเรียนเพื่อสร้างพลเมืองในในลักษณะแบบไหนควบคู่ไปด้วย

ประเด็นต่อมา มองปัญหาสังคมการเมืองในเชิงโครงสร้างด้วยการเริ่มต้นคำถามที่ว่าสังคมการเมืองแบบใดที่เขาอยากอยู่ เพราะการศึกษาเพื่อสร้างพลเมืองหัวใจพื้นฐานมันคือการทำให้ผู้เรียนรู้จักที่ตั้งคำถามกับสิ่งรอบตัว จนเห็นชัดถึงความสัมพันธ์เชิงปัจเจกกับเชิงโครงสร้าง ดังนั้นการสร้างพลเมืองที่รู้จักตั้งคำถามจะเป็นสิ่งพื้นฐานในการผลักดันให้เขาลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงสังคม ยกตัวอย่างเช่น ลองให้เขาตั้งคำถามเกี่ยวกับสังคมว่าสำหรับเขาปัญหาอะไรสำคัญที่สุด เขาคิดว่าปัญหานั้นเกิดมาจากอะไร ทั้งจากมุมตัวปัจเจกบุคคลและเชิงโครงสร้าง ซึ่งแน่นอนว่าในสังคมไทยเราก็ถูกสอนมาว่า การขาดจิตสำนึกคือสิ่งที่ทำให้สังคมแย่ แต่เราชวนเขาคิดและตั้งคำถามมากขึ้นว่า เป็นจริงเสมอหรือไม่ เช่น โครงสร้างรายได้ ความเหลื่อมล้ำ การจัดสรรงบประมาณ การกระจายทรัพยากรที่ไม่เป็นธรรม การบริหารงานของรัฐบาลเกี่ยวข้องกับปัญหาเหล่านั้นหรือไม่
.
การทำให้ผู้เรียนคิดเชิงโครงสร้างได้จึงเป็นกลไกสำคัญให้เห็นว่าพวกเขาในฐานะพลเมืองมีสิทธิและอำนาจในฐานะเจ้าของประเทศและพวกเขาก็มีส่วนร่วมในการสร้างหรือผลักดันนโยบายทางการเมืองเพื่อแก้ปัญหา
ไม่เพียงให้แค่ให้เขาแลกเปลี่ยนจากบริบทในไทย เราชวนให้เขามองในบริบทต่างประเทศควบคู่ไปด้วย สำรวจดูวิธีคิดมุมมองของประเทศต่าง เช่น ประเทศเป็นประชาธิปไตยหลายๆประเทศ เขามีปัญหา แล้วเขาจัดการอย่างไร ซึ่งถ้าเป็นนักศึกษาครูเขาก็จะตั้งต้องตั้งคำถามว่าทำไมการศึกษาบ้านเรามันล้มเหลว แล้วพวกเขาในฐานะครูเขาจะทำอย่างไรเพื่อเปลี่ยนแปลง ซึ่งตอนแรกเขาก็เพียงว่า ปัญหาการศึกษาเกิดมาจากนักเรียนไม่ขยันไม่ตั้งใจเรียน แต่พอเปิดคลิปการศึกษาฟินแลนด์เขาเริ่มแลกเปลี่ยนกันว่า การศึกษาฟินแลนด์มีวิธีคิดมัน มีการใช้มุมมองหรือชุดคุณค่าไม่เหมือนกับของไทย เพราะฉะนั้นเขาจะใช้หลักคุณค่าใดเขามาประเมินสิ่งนั้น
ซึ่งการสอนของเรา เราเลือกใช้ชุดคุณค่าของหลักสิทธิมนุษยชนในการให้เขาประเมินเพื่อตัดสินบางสิ่งบางอย่างเช่นเขาเสนอว่าจะแก้ปัญหาแบบนี้ เราก็ต้องเขาต่อว่าแบบนี้กำลังละเมิดสิทธิความเป็นมนุษย์หรือไม่
.
ประเด็นสุดท้าย เราต้องสร้างการบูรณาการข้ามศาสตร์วิชา เราต้องบูรณาการหลายอย่างเพื่อให้นักศึกษามีวิธีหลากหลายมุม เราจึงมีเครื่องมือการคิดทั้งจากทางมนุษย์ศาสตร์ สังคมศาสตร์ ประวัติศาสตร์ให้ ตัวอย่างเช่นการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 เราก็จะใช้เครื่องมือไทม์ไลน์มาให้เขาจัดระบบความคิดตั้งแต่ 2475 ไล่มาถึงก่อน 2500 ให้ได้ แล้วชวนเขาวิเคราะห์ผ่านหลักฐานจากหลายแง่มุม เหตุการณ์แต่ละเหตุการณ์เกิดอะไรขึ้นส่งผลอย่างไรหากเราเป็นคนในช่วงเวลาดังกล่าว และใช้เครื่องมือทางมานุษยวิทยาลงไปสัมภาษณ์ชาวบ้าน คนใช้แรงงาน แรงงานเพื่อนบ้าน กลุ่มชาติพันธุ์ ฯลฯ เพื่อศึกษามุมมองและการรับรู้เกี่ยวกับประชาธิปไตย เป็นต้น
.
ทั้งหมดเราใช้คำถามเป็นตัวเดินเรื่องหรือดำเนินกิจกรรม โดยเฉพาะคำถามที่เกี่ยวข้องกับความเป็นพลเมืองและการต่อรองอำนาจในฐานะประชาชน เช่น คุณเห็นด้วยหรือไม่ว่าเสียงของทุกคนไม่ควรเท่ากัน เสียงของคนดีย่อมมีค่ากว่าคนทั่วไป เสียงของคนกรุงเทพฯ ควรมีคุณภาพมากกว่าเสียงของคนต่างจังหวัด คนเราไม่ควรเท่ากัน? ประชาธิปไตยเป็นของนอกไม่เหมาะกับสังคมไทย คณะราษฎรชิงสุกก่อนห่ามจริงหรือไม่ ทำไมคนบางส่วนจึงคิดว่าการรัฐประหารคือทางออกของสังคมไทย ฯลฯ ซึ่งคำถามทั้งหมดต้องถูกตอบบนหลักการและเหตุผล เราเปิดโอกาสให้เขาได้คิดเกี่ยวข้องกับการเมือง เพื่อให้เกิดกระบวนการเรียนที่ตัวเขาเองคิดได้และแลกเปลี่ยนกับเพื่อน สุดท้ายแล้วเรื่องการเมือง เรื่องพลเมืองก็จะใกล้ตัวเขามามากขึ้น เขาจะเริ่มตระหนักว่าทำไมรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งจึงสำคัญ ประชาธิปไตยและการเลือกตั้งสำคัญอย่างไรกับความเป็นพลเมืองของเขา มันอาจไม่ใช่แค่กระบวนการเลือก ส.ส. แต่คือการสะท้อนว่าเราสามารถทุกคนมีสิทธิมีเสียงเท่าเทียมกัน มีความเป็นคนเหมือนกันที่จะอยู่ในประเทศนี้ได้อย่างมีศักดิ์ศรี
.
สุดท้ายเมื่อเรามองไปถึงการวัดและประเมินผล วิชาพลเมืองเรามองได้หลายแบบ แต่เรามองที่ความเปลี่ยนแปลงจากการสะท้อนของเขา นักศึกษาหลายคนคิดเชิงโครงสร้างเป็น มองเห็นคุณค่าของประชาธิปไตยมากขึ้น นักศึกษาหลายคนให้ความสำคัญต่อการเลือกตั้งมาก มีความต้องการที่จะไปใช้สิทธิของตน หลายคนที่เรียนกับเราไปทำงานให้กับองค์กรภาคประชาสังคมเพื่อสังเกตการเลือกตั้ง หรือบางคนก็เข้าไปร่วมการชุมชน หรือเป็นแกนนำเพื่อเรียกร้องสิทธิก็มี สะท้อนให้เห็นว่าตื่นตัวทางการเมืองของนักศึกษามีมากขึ้น ส่วนนักศึกษาครูก็มีการมองการศึกษาในมุมมองที่ต่างออกไปจากเดิม เริ่มวิเคราะห์วิพากษ์เนื้อหาที่ต้องสอนมากขึ้น เปิดกว้างทางความคิดมากขึ้น ออกแบบการจัดการเรียนรู้ที่ให้พื้นที่กับผู้เรียนมากขึ้น และนั่นก็เป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญว่าเขาได้เห็นตัวเขาเองในฐานะพลเมืองเป็นส่วนหนึ่งที่จะเปลี่ยนแปลงสังคมได้


ออกแบบภาพโดย Chaipat Kaewjaras
#thaiciviceducation
#civicclassroomTCE