รู้สึกอย่างไร ตื่นเต้นไหมกับการได้ใช้สิทธิ์ครั้งแรก

ผมต้องบอกเลยว่า การได้ใช้สิทธิ์เลือกตั้งน่าจะเป็นหนึ่งในความปรารถนาที่จะแสดงออกทางการเมืองของคนรุ่นใหม่ซึ่งผมก็เป็นหนึ่งในนั้น โดยเฉพาะการใช้สิทธิ์ครั้งแรกที่เป็นการตัดสินระหว่างการเลือกเผด็จการกับประชาธิปไตยซึ่งอยู่ในสภาวะการเมืองที่ไม่ได้ปกติ จึงทำให้รู้สึกร่วมและความตื่นตัวสูงต่อการเลือกตั้งมาตั้งแต่
การประกาศเลื่อนการเลือกตั้ง กระบวนการคัดเลือกและสรรหาสมาชิกรัฐสภาทั้ง ส.ส. และ ส.ว. ที่ดูเหมือนจะไม่มีความชัดเจนและบริสุทธิ์ใจ โดยเฉพาะการเลือก ส.ว. ที่ไม่ได้ใช้เสียงโดยตรงจากประชาชน หรือแม้แต่กรณีของกองทัพที่มีท่าทีต่อการเลือกตั้ง

ไม่สามารถอธิบายความรู้สึกต่อการเลือกตั้งครั้งนี้ได้อย่างชัดเจนว่ารู้สึกตื่นเต้นหรือรู้สึกเฉยเมย แต่ถ้าจะให้เลือกใช้คำที่แสดงถึงความรู้สึกต่อการเลือกตั้งครั้งนี้ก็ต้องบอกว่ามัน “หน่วง” ไม่รู้ว่าควรที่จะดีใจ เสียใจ หรือวิตกกังวลต่อการเลือกตั้งครั้งนี้ดี เพราะเราไม่รู้ว่าสิทธิ์ที่เราใช้ไปในการเลือกตั้งเป็นสิทธิ์จริงๆ หรือสิทธิ์ปลอมๆ ที่ให้มาประกอบกับการเลือกตั้งที่เป็นเพียงการจัดฉากเท่านั้น

 

คิดว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ จะสร้างการเปลี่ยนแปลงอะไรให้กับสังคมไทยบ้าง

ผมต้องอธิบายก่อนว่าก่อนที่จะพูดถึงการเลือกตั้งซึ่งจะนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงของสังคมไทย จะต้องคาดการณ์ก่อนว่เราจะได้รัฐบาลฝั่งไหน เพราะตอนนี้เราเห็นได้ชัดเจนมากว่าพรรคการเมืองแบ่งออกเป็น 2 ฝ่าย คือ ฝ่ายที่ยังสนับสนุนผู้นำและรัฐบาลปัจจุบัน กับฝ่ายที่ไม่สนับสนุนผู้นำและรัฐบาลปัจจุบันและต้องการจัดตั้งรัฐบาลใหม่

ถ้าหากการเลือกตั้งครั้งนี้ฝ่ายผู้นำและชุดรัฐบาลปัจจุบันได้รับการสนับสนุนให้เป็นรัฐบาลบริหารประเทศต่อ ผมก็คิดว่าจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงอะไรให้กับสังคมไทยมากนัก เพราะเราก็เห็นได้จากผลงานที่ผ่านมาตลอดช่วงเวลาเกือบ 5 ปี ในการบริหารประเทศ สังคมไทยไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ควรจะเป็นหรือเปลี่ยนแปลงไปในทางที่คาดหวัง มิหนำซ้ำบางอย่างถูกวนกลับมาเหมือนพายเรือในอ่าง บางอย่างเหมือนถอยหลังเข้าคลอง จึงคิดว่าถ้าหากได้รัฐบาลชุดปัจจุบันการบริหารประเทศก็คงเป็นไปตามยุทธศาสตร์ชาติ

แต่ถ้าหากเราได้รัฐบาลใหม่ที่จัดตั้งขึ้นจากพรรคการเมืองอีกฝั่งนึง อันนี้น่าคิดว่าพรรคการเมืองที่ได้เป็นรัฐบาลจะสามารถทำตามนโยบายที่ประกาศหาเสียงไว้ได้มากน้อยแค่ไหน ถ้าสามารถทำได้ตามนโยบายที่หาเสียงไว้ ผมคิดว่าสังคมไทยน่าจะมีการเปลี่ยนแปลงไปในระดับหนึ่ง โดยเฉพาะเศรษฐกิจฐานรากจะมีความมั่นคงมากขึ้น นอกจากนี้อาจจะทำให้ชุดความคิดใหม่หรือองค์ความรู้ใหม่อาจจะเกิดขึ้นกับประชาชน ซึ่งเป็นฐานคิดของสังคมสมัยใหม่ที่ไม่ยึดติดอยู่กับวัฒนธรรมอนุรักษ์นิยมของสังคมไทยแบบเดิมก็เป็นได้ แต่อย่างไรก็ดี สิ่งสำคัญที่สุดในครั้งนี้นอกเหนือจากความรู้สึกที่มีต่อการเลือกตั้ง คือ เราจะต้องออกไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งเพื่อเป็นการยืนยันว่าเราเคารพในหลักการและกระบวนการของระบอบประชาธิปไตย ถึงแม้ว่าการเลือกตั้งครั้งนี้จะไม่เป็นไปตามความรู้สึกหรือความคาดหวังของเราแต่เราก็ต้องยอมรับผลของมันในฐานะคนที่อยู่ในสังคมประชาธิปไตย

ผมเองไม่ได้คาดหวังว่าการเลือกตั้งครั้งนี้จะทำให้ประเทศไทยเปลี่ยนแปลงไปในระดับที่ว่าเป็นประเทศประชาธิปไตยอย่างสมบูรณ์แบบ แต่ผมหวังเพียงว่าการเลือกตั้งครั้งนี้จะทำให้รัฐบาลใหม่รู้สึกว่าสิทธิ์ที่พวกเราใช้ไปในการเลือกตั้งนั้น รัฐบาลต้องให้ความสำคัญกับคนในประเทศ ไม่ใช่ในแค่ฐานะของชาวบ้าน ราษฎร หรือประชาชน แต่เป็น “พลเมือง” ที่จะมีส่วนร่วมในการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงประเทศไปพร้อมกับรัฐบาล

 

คิดเห็นอย่างไรกับที่เค้าบอกว่า ครูต้องเป็นกลางทางการเมือง

ผมต้องเริ่มต้นกับคำถามที่ผมเคยถามผ่านโลกสังคมออนไลน์ไปเมื่อไม่นานมานี้ว่า…”ข้าราชการที่เป็นกลางทางการเมือง”…มีจริงด้วยเหรอ ? และถ้าจะให้ผมตอบผมก็คงตอบว่า…”ไม่มีจริงหรอกครับ”

อันที่จริงผมเห็นด้วยกับ “ความเป็นกลางทางการเมืองของครู” ที่จะต้องไม่ชี้นำคนอื่นให้คิดตามที่ตัวเองคิด เชื่อตามที่ตัวเองเชื่อ รู้สึกตามที่ตัวเองรู้สึก หรือความชอบต่อบุคคล หรือพรรคการเมืองใด ๆ เพราะมันจะทำให้เป็นการชี้นำคนอื่นที่ไม่สมควรแก่การปฏิบัติ ซึ่งถ้าจะว่ากันจริง ๆ แล้วในหลักการสิทธิตามระบอบประชาธิปไตยคนทุกคนจะมีสิทธิ์ของตนเองในการที่จะใช้สิทธิ์เลือกใครก็ได้ ชอบหรือไม่ชอบใครก็ได้อยู่แล้ว

แต่การที่ใช้อำนาจ ระเบียบ ข้อปฏิบัติทางราชการมากำหนดหรือสั่งการแล้วบอกว่า ครูต้องเป็นกลางทางการเมืองเป็นสิ่งที่ผมรับไม่ได้ เพราะจากคำตอบของผมที่ตอบไว้ ผมก็ยังยืนยันว่าข้าราชการที่เป็นกลางทางการเมืองไม่ได้มีอยู่จริง หรือแม้แต่กรณีตัวอย่างของข้าราชการบางหน่วยงานที่ดูเหมือนจะแสดงท่าทีที่มีผลต่อการเมืองมากกว่าข้าราชการครูก็ยังแสดงความคิดเห็นต่อนโยบายทางการเมืองอย่างชัดเจนได้เหมือนกัน

ไม่เห็นด้วยกับการที่จะมากำหนดหรือสั่งการให้ “ครูเป็นกลางทางการเมือง” โดยห้ามแสดงความคิดเห็นทางการเมือง หรือวิพากษ์วิจารณ์การเมือง บุคคลทางการเมือง พรรคการเมือง หรือนโยบายของพรรคการเมืองใด ๆ เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องปัจเจกบุคคลและเป็นสิทธิของคนเป็นครูเช่นเดียวกัน ในเมื่อคนทุกคนมีสิทธิทางการเมืองเหมือนกัน ทำไมจะแสดงความคิดเห็นทางการเมืองไม่ได้

ถ้าการแสดงความคิดเห็น หรือการแสดงออกทางการเมืองของครูไม่ได้มีจุดประสงค์เพื่อเป็นการชี้นำคนอื่น ผมก็ถือว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องส่วนตัวของครู ไม่ได้ถือว่าครูคนนั้นไม่ได้เป็นกลางทางการเมืองหรือเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแต่อย่างใด