ครูชมภ์พลอย จิตติแสง ครูสอนวิชาสังคม ที่นำเอาประเด็นทางสังคมจากรอบตัวเด็ก มาเป็นโจทย์สำคัญให้นักเรียนได้เห็นความสำคัญของการเมืองผ่านการตั้งคำถาม แลกเปลี่ยน และเชื่อมโยงกับความไม่เป็นธรรมจากประสบการณ์ในชีวิตของนักเรียน

เรามองว่า การสอนเรื่องการเมือง ควรเริ่มจากการทำให้เด็กตั้งคำถามถึงปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคมจากสิ่งที่อยู่ในกระแสสังคมหรือสิ่งที่ใกล้ตัวนักเรียน เช่น การวิ่งขอรับบริจาค การเข้าคิวนานเพื่อรอรับการรักษา เป็นต้น เพราะว่าเรื่องต่าง ๆ เหล่านี้เกี่ยวข้องกับปัญหาเชิงโครงสร้างที่เหลื่อมล้ำ ดังนั้นการสอนควรทำให้นักเรียนเห็นว่าโครงสร้างทางการเมืองและสังคมส่งผลกระทบต่อตัวนักเรียนอย่างไร แล้วทำอย่างไรให้ความเหลื่อมล้ำนั้นหายไป หรือพูดอีกแบบก็คือว่าการแก้ปัญหาเชิงปัจเจก เช่น การบริจาค การไปออกรายการปลดหนี้ สิ่งเหล่านี้มันเป็นการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนหรือไม่

โดยปกติเวลาสอน จะหยิบยกประเด็นทางสังคมเข้ามาพูดคุยอยู่แล้ว เพื่อให้นักเรียนมองเห็นภาพได้ชัดเจน บางทีเนื้อหาในหนังสืออาจจะทำให้นักเรียนไม่เข้าใจหรือนึกภาพไม่ออก แต่พอเราหยิบสิ่งที่กำลังเป็นกระแสในสังคมมาเปรียบเทียบ นักเรียนจะมองภาพออก ตัวอย่างเหตุการณ์ที่เป็นประเด็นทางสังคมที่ใช้สอนในห้อง คือ ในช่วงนั้นมีการวิ่งของตูน บอดี้แสลม ผ่านหน้าโรงเรียน เราก็เลยลองนำประเด็นนี้มาคุยในห้องเรียน จนนำไปสู่คำถามว่า “ทำไมตูนต้องวิ่ง ?” จนกลายเป็นบทสนทนาต่อออกไปเรื่อย ๆจากนักเรียน
.
เช่น วิ่งเพราะต้องการเครื่องมือแพทย์ แล้วก่อนหน้านี้ใครวิ่งเพื่อเครื่องมือแพทย์ แล้วเครื่องมือแพทย์ต้องมาจากการวิ่งอย่างเดียวหรือว่าเราต้องทำอย่างไร ก็เลยชวนนักเรียนคุย จากนั้นก็ชวนนักเรียนสำรวจคอมเม้นจากโพสต์ที่มีทั้งมองว่า การแก้ปัญหาด้วยการวิ่งถือเป็นสิ่งที่ดี ขณะบางคอมเม้นชี้ว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นมาจากโครงสร้างทางสังคมในการจัดสรรงบประมาณสาธารณะสุข เมื่อนักเรียนเห็นคอมเม้นทั้ง 2 ส่วนนี้ เราก็ชวนนักเรียนคุยต่อว่าเขาเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับคอมเม้นใดบ้าง

มีการแชร์ประสบการณ์ของนักเรียน จากการที่ผู้ปกครองต้องไปนั่งรอหมอตั้งแต่เช้า กว่าจะได้รับการรักษาจากแพทย์ก็ต้องใช้เวลานาน เมื่อนักเรียนแชร์เสร็จ เราชวนคิดว่าปัญหาเหล่านี้มาจากอะไร เด็กตอบว่า “ ถ้าเขามีเงินจะไม่มาโรงพยาบาลรัฐบาล แต่จะไปเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลเอกชนแทน” จึงถามต่อไปเรื่อยๆว่าแล้วไปโรงพยาบาลเอกชนคือคนรวยเหรอ และถ้าไปโรงพยาบาลรัฐบาลคือจน แล้วอะไรทำให้เขามีเงิน เด็กจึงตอบว่า “เพราะเขาขยันทำมาหากิน” เราจึงถามกลับว่าแล้วพ่อของนักเรียนไม่ขยันใช่ไหม ซึ่งมันทำให้เกิดคำถามต่อๆไปเรื่อยๆ
.
สุดท้ายนักเรียนเริ่มมองเห็นว่า การบอกว่าต้องขยันเท่านั้นถึงจะเอาชนะความจนได้นั่นไม่จริงเลย ทั้งที่พ่อแม่ของเขาก็ขยันทำงานมากกว่า 8 ชั่วโมง แต่ก็ยังจนอยู่ ยังไม่มีโอกาสการรับการรักษาจากรัฐที่ดี ซึ่งเขามองว่าเแท้จริงแล้วเป็นปัญหาของระบบเชิงโครงสร้าง ถึงการกำหนดนโยบายของรัฐในการดูแลประชาชนมากกว่า ปัญหาบางปัญหามันไม่สามารถแก้ได้ที่ตัวของเขา มันต้องมีอะไรบางอย่างเข้ามาจัดการปัญหานั้น
.
หลังจากนักเรียนเรียนเรื่องเหล่านี้ไป เขากล้าที่จะบอกว่าต้องการเรียนเรื่องลักษณะนี้อีก อยากรู้เรื่องนี้ อยากรู้อะไรที่เป็นประเด็นทางสังคมมากขึ้น ซึ่งเมื่อก่อนเรื่องเหล่านี้เคยถูกบอกว่าเป็นเรื่องของผู้ใหญ่ที่ซับซ้อน แต่พอได้เรียนในห้องเรียนกลับกลายเป็นว่าเขาเกิดความสนใจในประเด็นสังคมมากขึ้น แล้วมองว่าการเมืองมันไม่ใช่เรื่องยากและไกลตัวอีกต่อไป แต่มันเป็นสิ่งที่เราสังเกตได้ เพียงตั้งคำถามกับสังคมที่เกิดขึ้น


ภาพโดย Chaipat Kaewjaras
#thaiciviceducation