เนื่องในวันแห่งความรัก หลายคนอาจมีคำถามว่า เราจะสร้างให้นักเรียนมีความรักในความยุติธรรมได้อย่างไร ทักษะ Emphaty หรือ การเข้าใจความรู้สึกผู้อื่น ถือเป็นหนึ่งทักษะสำคัญที่จะช่วยให้นักเรียนได้เข้าใจความหลากหลาย การถูกเลือกปฏิบัติ หรือความไม่เป็นธรรมผ่านโลกของผู้อื่น ซึ่งจะนำมาสู่การลงมือเพื่อสร้างสังคมที่ยุติธรรม

ดังนั้น Civic Space ตอนที่ 2 จึงได้รวบรวมความเห็นของผู้ทำงานด้านการศึกษา ที่บอกเล่าถึงความสำคัญของทักษะดังกล่าว ที่สามารถสร้างการเรียนรู้ได้จากเหตุการณ์โลกปัจจุบัน

เหตุการณ์ : การฆ่าและทำร้ายมนุษย์ผิวเผือก
.
เหตุการณ์การฆ่าและทำร้ายมนุษย์ผิวเผือกเพื่อนำชิ้นส่วนไปทำเครื่องรางในประเทศแทนซาเนียโดยเชื่อว่าจะนำความโชคดีมาสู่ผู้ที่ครอบครอง เนื่องจากเป็นเหตุการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงที่เกิดขึ้นในยุคปัจจุบัน ครูควรสอนให้นักเรียนได้เข้าใจว่าอัตลักษณ์ที่หลากหลายระหว่างบุคคลนั้นไม่ใช่สิ่งที่ผิดและไม่มีใครควรถูกทำร้ายเพียงเพราะแตกต่างไปจากคนอื่น อีกทั้งสอนให้นักเรียนได้ตระหนักถึงสิทธิมนุษยชนที่ทุกคนบนโลกจะต้องได้รับอย่างเท่าเทียมกันไม่ว่าจะอยู่มุมไหนของโลกก็ตาม
__
ครูจิราภา แย้มเกสร
โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ ปทุมธานี

เหตุการณ์: บุกรัฐสภาของผู้ชุมนุมประท้วงที่สนับสนุนนายโดนัลด์ ทรัมป์
.
เหตุการณ์การบุกรัฐสภาของผู้ชุมนุมประท้วงที่สนับสนุนนายโดนัลด์ ทรัมป์ ที่ไม่ต้องการให้นาย
โจ ไบเดน ได้รับการรับรองให้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา จนทำให้เกิดเหตุการณ์รุนแรง มีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต

ผู้สอนต้องทำความเข้าใจกับผู้เรียนให้เห็นถึงว่าความแตกต่างทางความคิดไม่ใช่สิ่งที่ผิด เพราะความขัดแย้งเป็นธรรมชาติ ความแตกต่างกันเป็นเรื่องธรรมดา แต่ความรุนแรงเป็นปัญหาทางสังคมที่ไม่ควรจะเกิดขึ้น ฉะนั้นการจัดการเรียนรู้ที่ทำให้ผู้เรียนเกิดความแตกต่างทางความคิด การเคารพซึ่งกันและกัน การตระหนักในสิทธิ เสรีภาพของตนเอง จะนำไปสู่การสร้างทักษะการเห็นอกเห็นใจผู้อื่นได้
__
ครูนวคุณ สาณศิลปิน
โรงเรียนหัวหิน ช่วยราชการ
โรงเรียนวังไกลกังวล ในพระบรมราชูปถัมภ์ 

เหตุการณ์ : ทุนนิยมกับการการทำลายธรรมชาติ
.
ประเด็นร่วมสมัยที่น่าสนใจในการสอนให้นักเรียนมีทักษะ empathy คือประเด็นเกี่ยวกับปัญหาสิ่งแวดล้อม ที่สะสมมาจากการกระทำของมนุษย์จากระบบทุนนิยมและการใช้ทรัพยากรจากการทำอุตสาหกรรมหรือเกษตรเชิงเดี่ยว เพราะโลกเป็นทรัพยากรที่มนุษย์ทุกคนต้องใช้ร่วมกัน

ดังนั้นการใช้ทรัพยากรโดยไม่คำนึงถึงผลกระทบ หรือไม่คำนึงถึงคนในรุ่นต่อ ๆ ไปจึงไม่ควรเกิดขึ้น ในการสอนควรเน้นให้ผู้เรียนวิเคราะห์ผลได้-ผลเสียจากการใช้ทรัพยากร และวิพากษ์ถึงผลกระทบต่อพื้นที่อื่น ๆ ที่ส่งผลต่อความเสียหายถึงกันได้ ซึ่งจะช่วยให้นักเรียนมี Empathy ในการใช้ทรัพยากรในระดับปัจเจกสู่ระดับโลก รวมถึงส่งต่อแนวคิดของการพัฒนาที่ยั่งยืนได้อีกด้วย
__
เอกภพ พรหมสุทธิรักษ์
ศึกษานิเทศก์ 


ภาพโดย Chaipat Kaewjaras

#thaiciviceducation