ซัมซู สาอุ อาจารย์สาขาวิชาการบริหารและการจัดการการศึกษาอิสลาม คณะวิทยาการอิสลาม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ผู้ขับเคลื่อนเครือข่าย Thai Civic Education ที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เขามองว่า การสร้างครูต้องไม่ใช่แค่สอนได้อย่างเดียวเท่านั้น แต่ครูต้องเข้าใจเรื่องสิทธิความเป็นพลเมือง มองเห็นความไม่ยุติธรรมทางสังคม และเข้าไปมีบทบาทสำคัญในการผลักดัน

เนื่องจากนักศึกษาที่สอนเป็นนักศึกษาศึกษาศาสตร์ และที่ทราบกันดีว่าความเป็นครูที่ผ่านมา ถูกทำให้เป็นอนุรักษย์นิยมมานาน จึงเป็นโจทย์ว่า เราจะต้องพานักศึกษาตั้งคำถามถึงบทบาทครูกับการการเปลี่ยนแปลงสังคม ผ่านคำถามสำคัญที่ว่า ครูจะมีบทบาทอย่างไรในการส่งเสริมสิทธิ เสรีภาพ การวิพากษ์วิจารณ์ได้อย่างไร เพราะมองว่าครูไม่ใช่สอนเรื่องเนื้อหาเท่านั้น แต่ต้องสอนเรื่องความคิดทางสังคมควบคู่ไปด้วย ดังนั้นเราจึงให้ความสำคัญกับหลักคิดที่ว่า “ครูเป็นผู้สร้างพลเมือง”
.
วิชาความเป็นพลเมืองและจิตสาธารณะ จึงได้ออกแบบมาเพื่อให้นักศึกษาครู ได้มองเห็นความเป็นพลเมือง ที่เริ่มจากความเป็นพลเมืองแบบประชาธิปไตยว่าแท้จริงคืออะไร แล้วเกี่ยวข้องกับความรับผิดชอบทางสังคมอย่างไร แล้วถัดมาเป็นแนวคิดการสร้างพลเมืองในสังคมที่เชื่อมไปสู่พลเมืองโลก

บรรยากาศช่วงแรกนักศึกษาที่เข้ามาเรียน อาจไม่ได้ตั้งคำถามกับตัวเองมากนักว่าเขาจะเป็นครูแบบไหน เราจึงมีคำถามว่า เขาจะเป็นครูที่สอนเนื้อหาอย่างเดียว หรือเปลี่ยนแปลงสังคมควบคู่ไปด้วย ดังที่เปาโล แฟร์เสนอว่า ครูต้องเข้าใจเรื่องสิทธิ เสรีภาพ และความคิดทางการเมืองควบคู่ไปกับบทบาทการสอนด้วย
.
ดังนั้นวิธีการเราจึงเริ่มต้นด้วยการนำเอาประเด็นทางสังคมเข้ามาสอน อย่างเช่น แฮ็ซแท็ก #ผู้นำโง่เราจะตายกันหมด แล้วถามนักศึกษาว่าคืออะไร ทำไมถึงเกิดขึ้น แล้วก็ให้นักศึกษาได้ตั้งคำถาม ให้เขาเข้าไปดูว่าในทวิตเตอร์ว่ามีการพูดถึงอย่างไรบ้าง เป็นการสำรวจเพื่อนำมาพูดคุย ว่าจริงๆแล้วสังคมให้ความสำคัญเรื่องของการเมืองอยู่มาก แต่ครูกลับทำไมไม่ได้เท่าทัน หรือไม่ได้ถูกสอนให้ตระหนักถึงเรื่องเหล่านี้ ซึ่งเรื่องนี้มันเกี่ยวข้องกับความเป็นพลเมือง และครูมีบทบาทสำคัญในการสร้างพลเมือง แต่การไปสร้างได้ ครูต้องเข้าใจเรื่องความเป็นพลเมืองของตัวเองด้วย

หลังจากนั้นเรานำกรอบพลเมือง 3 แบบของ JOEL WESTHEIMER ที่ประกอบด้วยพลเมืองแบบรับผิดชอบ แบบมีส่วนร่วม และมุ่งเน้นความเป็นธรรม เข้ามาพูดคุยกับนักศึกษา ผ่านการใช้กรณีศึกษาปัญหาขยะที่หาดนราทัศน์ ในจังหวัดนราธิวาส ซึ่งพื้นที่ตรงนั้นมีคนมาท่องเที่ยวจำนวนมาก โดยเฉพาะในเทศกาลสำคัญ ๆ แล้วพอหลังการท่องเที่ยว ก็จะมีขยะถูกทิ้งไว้จำนวนมากขาวโพลนไปหมด จนถูกเรียกว่าหิมะตกที่หาดนราทัศน์ เราจึงตั้งคำถามว่านักศึกษาจะแก้ปัญหานี้อย่างไรดี ซึ่งนักศึกษาส่วนมากก็จะตอบว่า ควรเก็บขยะ แต่เราตั้งคำถามต่อไปอีกว่า ถ้าเช่นนั้นเราต้องเก็บทุกครั้งใช่ไหม หรือในกรณีที่สองอย่าง ที่อินโดนีเซีย เมืองบันดุง มีคุณลุงจิตอาสาที่เดินเก็บขยะในพื้นที่ต่าง ๆ และจนชาวเมืองเรียกเขาว่า มนุษย์ขยะ เราก็มีคำถามเดิมว่า ต้องสร้างมนุษย์ที่มาเก็บขยะแบบนี้ตลอดไปหรือไม่
.
ถัดมาเราก็ชวนเขาคิดว่า ถ้าเราไม่ต้องเก็บขยะ ไม่ต้องสร้างมนุษย์ไปเก็บขยะ เราจะมีวิธีการอย่างไร ซึ่งช่วงนี้เราจะนำเสนอตารางของ JOEL WESTHEIMER เรื่องพลเมืองทั้ง 3 แบบ แล้วชวนนักศึกษากลับมาสำรวจดูว่ามุมมองการการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นของตัวเขาเองอยู่บนความคิดแบบไหน แล้วความเป็นครูแบบไหน ที่จะสอนเด็กมองเห็นสิ่งเหล่านี้ที่ไปถึงเชิงโครงสร้างที่ได้
.
สิ่งที่เกิดขึ้น เราเริ่มเห็นนักศึกษาที่เรียนกับเราเริ่มตั้งคำถามกับประเด็นทางสังคมมากขึ้น ความหวังของเราคืออยากให้เขากล้าตั้งคำถาม อยากให้เขาแสดงบทบาทที่ไม่ใช่แค่ครู ไม่ใช่แค่เรื่องเนื้อหาอย่างเดียว เพราะมันไม่ได้แก้ปัญหาอะไรได้มากนัก เพราะถ้าเขาอยากจะสร้างชุมชนสังคมที่ดี เขาต้องมีพื้นฐานอุดมการณ์เรื่องความยุติธรรม ที่ไม่ใช่มองแค่ปรากฏการณ์ แล้วเราจะใช้วิธีทางการเมืองในการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้อย่างไร มุ่งหวังว่าเขากลับไปในโรงเรียน เขาควรนำเอาประเด็นทางสังคมที่สำคัญเข้าไปสอน และส่งเสริมกิจกรรมที่ทำให้นักเรีนมีส่วนร่วมทางสังคม


ออกแบบภาพโดย Chaipat Kaewjaras

#thaiciviceducation
#civicclassroomTCE