บทสัมภาษณ์ผู้ทำงานด้านพลเมือง ที่มาบอกเล่ามุมมองการสอนเซียนที่ไปถึงความเป็นพลเมืองโลก ให้ความสำคัญกับหลักสิทธิมนุษยชน และเข้าใจความแตกต่างทางวัฒนธรรม

การสอน “อาเซียนศึกษา” คงต้องย้ำตัวเองอยู่เสมอว่า เราสอนนักเรียนใน “ฐานะมนุษย์” ที่อยู่ใน “สังคมอาเซียน” เรียนรู้อย่างเข้าใจ เห็นอกเห็นใจ ภายใต้มุมมอง อัตลักษณ์หรือวัฒนธรรมที่แตกต่างกันของผู้คนในพื้นที่ต่างๆของอาเซียน สิ่งนั้นจะทำให้นักเรียนรู้จักส่งเสริมซึ่งกันและกัน รวมถึงอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติท่ามกลางความหลากหลายทางวัฒนธรรม
__
นายชวลิต พึ่งเสือ
โรงเรียนธรรมโชติศึกษาลัย

การสอนเรื่องอาเซียนในห้องเรียน ควรทำให้เป็นเรื่องที่เข้าใจในชีวิตประจำวันได้ด้วยการสอนผ่านคลิปโฆษณาสินค้า ของประเทศต่างๆ เพราะสินค้าและบริการในสื่อโฆษณาสามารถสะท้อนภาพวิถีชีวิต และวัฒนธรรมการสื่อสารของคนในประเทศได้อย่างดี แม้แต่เพลงประกอบโฆษณา ยังอธิบายเรื่องราวของวัฒนธรรม /pop culture

โดยให้นักเรียนค้นหา การใช้สื่อสังคมออนไลน์ หรือเว็ปข่าวที่เป็นที่นิยมของคนในประเทศนั้นๆ จะช่วยทำให้นักเรียนเข้าใจอัตลักษณ์และเทนรด์ของการบริโภคข้อมูล ความสนใจได้เป็นอย่างดี
__
ผศ.ดร.ไพลิน ภู่จีนาพันธ์ุ
สำนักวิชาการเมืองการปกครอง
คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

สอนรายวิชาการศึกษาอิสลามในอาเซียนสำหรับนักศึกษาปริญญาตรี ใช้ข้อมูลจากงานวิจัยที่ได้ลงพื้นที่เก็บข้อมูลทั้งหมด 10 ประเทศ เล่าให้นักศึกษาฟัง เรื่องราววิถีชีวิตของมุสลิมในอาเซียนตั้งแต่เกิดถึงตาย โดยชวนพิจารณาว่ามุสลิมเหล่านั้นมีลักษณะเป็นอย่างไร และพวกเขาได้รับการดูแลจากหน่วยงานที่เกี่ยวของในแต่ละประเทศอย่างไร

หลังจากนั้นให้นักศึกษาลงพื้นที่ที่ปัตตานี เพื่อสัมผัสกับวิถีชีวิตของผู้คนตัวเล็กตัวน้อยจากประเทศต่างๆ ในอาเซียนเหล่านั้น พวกเขาเป็นอย่างไร ได้รับการดูแลและให้คุณค่าทัดเทียมกับเราหรือไม่ อย่างไร เป็นวิธีการที่สอนมากกว่าเนื้อหา สามารถพัฒนาทักษะทางวัฒนธรรม ความเห็นอกเห็นใจผู้คนและความอดทนอดกลั้น เพื่อก้าวข้ามอคติและเสริมมุมมองเรื่องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้คนในอาเซียนที่นักศึกษาสัมผัสได้จริง
__
ซัมซู สาอุ
สาขาวิชาการบริหารและการจัดการการศึกษาอิสลาม
คณะวิทยาการอิสลาม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี