ครูทิชานนท์ ชุมแวงวาปี โรงเรียนเพ็ญพิทยาคม เขาเริ่มเห็นว่า อคติทางวัฒนธรรมส่งผลต่อชีวิตเด็กลูกครึ่งในโรงเรียนและชุมชน ด้วยเหตุนี้ ครูทิวจึงได้ใช้กระบวนการสนทนา เพื่อสร้างพื้นที่พูดคุย สื่อสาร และรับฟัง ระหว่างเด็กกลุ่มหลักและเด็กลูกครึ่งในโรงเรียน ส่งผลให้การล้อเลียน ดูถูก อัตลักษณ์ความเป็นลูกครึ่งค่อยๆสลายลงไป

เราเริ่มมองเห็นว่า ในชุมชนที่เด็กอาศัยอยู่นั้น เป็นชุมชนอีสานที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม โดยเฉพาะประเด็นการแต่งงานข้ามชาติ ระหว่างชาวต่างชาติกับผู้หญิงในชุมชนเกิดปรากฏการณ์นี้มาตั้งแต่ช่วงสงครามเวียดนาม ทั้งนี้เนื่องจากในอดีตผู้หญิงในชุมชนมีทางเลือกอยู่อย่างจำกัด การเข้ามาของชาวต่างชาติ จึงเป็นเสมือนโอกาสให้ผู้หญิงในสังคมอีสานมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ประกอบกับผู้หญิงจะถูกคาดหวังจากชุมชนให้ต้องรับภาระหน้าที่ดูแลพ่อแม่ ดังนั้นชุดความเชื่อแบบนี้ จึงเป็นการมอบภาระหน้าที่ให้ผู้หญิงเป็นคนดูแลหลัก และในช่วงเวลานั้นเอง เด็กที่เป็นลูกครึ่งจึงเกิดขึ้นจากความเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ขณะเดียวกันคนในชุมชนเริ่มมองผู้หญิงแต่งงานข้ามชาติในลักษณะลบมากขึ้น
.
สุดท้ายส่งผลต่อชีวิตของเด็กลูกครึ่ง ทั้งการถูกล้อเลียน หรือถูกมองเป็นอื่น โดยเฉพาะในโรงเรียนมีการล้อเลียน ตีตรา อัตลักษณ์ของเด็ก รวมถึงดูหมิ่นเพศสภาวะของแม่ด้วย สิ่งเหล่านี้ถูกทำซ้ำเป็นเรื่องปกติ ส่งผลให้ครอบครัวลูกครึ่งเกิดความเครียด และรู้สึกไม่ได้ถูกมองคนในฐานะเท่ากัน

จากปัญหาที่เกิดขึ้น ทำให้เป็นแรงจูงใจที่อยากสร้างการเรียนรู้ร่วมกันในโรงเรียน และชุมชน โดยมีบทบาทครูในการผลักดันให้เด็กกลุ่มหลักและเด็กลูกครึ่งเกิดความเข้าใจร่วมกันถึงความหลากหลายทางเชื้อชาติ วัฒนธรรม และหาทางออกในการอยู่ร่วมกันให้ได้ ดังนั้นเราจึงใช้กระบวนการสนทนาแบบอัตชีวประวัติ ชีวประวัติ ที่ให้เด็กได้นั่งคุยกัน โดยมีคำถามเชิงวิพากษ์ ให้เด็กได้คิด สำรวจ และแชร์ประสบการณ์ อย่างเช่น 1) อคติทางเชื้อชาติในชุมชนเรามีอะไรบ้าง เกิดขึ้นมาได้อย่างไร 2) ในอดีตมีการมองเรื่องนี้อย่างไร หรือ 3) บริบทในอดีตและปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไรในเรื่องอคติทางเชื้อชาติ เป็นต้น
.
ผลที่เกิดขึ้นคือ ต่อมความสงสัยของเด็กเริ่มทำงาน โดยเฉพาะเด็กกลุ่มหลักรู้สึกว่า สิ่งที่เขาเคยแสดงออก การล้อเลียน การเสียดสีกับเพื่อนลูกครึ่ง ไม่ใช่สิ่งปกติแล้ว รวมถึงเด็กยังมีการวิพากษ์ไปถึงแบบเรียน วรรณกรรมในเรื่องเพศ เพราะว่า ในการพูดคุยกันเรายังมีการตั้งคำถามไปถึงเพศภาวะด้วย ว่าทำไมหลังการแต่งงาน ผู้หญิงจะต้องรับภาระในการเลี้ยงดูลูก หรือถูกคาดหวังให้ต้องแบบรับการทำหน้าที่บางอย่างเพียงฝ่ายเดียว ยิ่งไปกว่านั้น พวกเขาเริ่มเข้าใจว่า สังคมมีอิทธิผลต่อการมองเพศภาวะและเชื้อชาติไม่เสมอภาคกันอย่างมาก โดยเฉพาะผ่านพื้นที่สื่อ จนเกิดมายาคติและอคติทางวัฒนธรรม

สิ่งที่เห็นได้ชัดอีก พวกเขาเริ่มคิดว่า ความไม่ปกติที่เกิดขึ้น จำเป็นต้องทำอะไรบางอย่างให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ดังนั้นไอเดียที่เขาเสนอกันคือ การผลิตสื่อหรือการสร้างการเปลี่ยนแปลงผ่านกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อให้เพื่อนๆร่วมโรงเรียนได้ตระหนักมากขึ้น เพื่อนำมาสู่การอยู่ร่วมกันให้ได้ และสลายหรือปรับเปลี่ยนมุมมอมองจากสิ่งที่เคยรับรู้มาจากชุมชนหรือสื่อที่มีการแฝงด้วยอคติทางวัฒนธรรม หลังจากที่เด็กเริ่มตื่นตัวมากขึ้นได้มีโอกาสลงไปศึกษาพื้นชุมชนเพิ่มเติม ดังเช่นการไปร่วมพูดคุยกับผู้ปกครองเด็กที่เป็นลูกครึ่ง ได้เล่าว่า เพื่อนของลูกให้การยอมรับอัตลักษณ์มากขึ้นแล้ว เพื่อนไม่ค่อยล้อ และความเป็นลูกครึ่งไม่ได้กลายเป็นจุดด้อยอีกต่อไป ขณะที่ตัวลูกก็เริ่มมีบทบาทของกิจกรรมในโรงเรียน
.
นอกจากนี้ ในกระบวนการสนทนา เรายังชวนเชิญครูมาร่วมพูดคุย นั่งฟังเด็กด้วย ซึ่งเขาก็เริ่มตระหนักเช่นกันกับเด็กว่า คำที่เคยใช้ ส่งผลต่อการบูลลี่เด็กได้เหมือนกัน ทำให้ครูหลายคนเริ่มเอามุมมองความหลากหลายทางวัฒนธรรมเข้าไปสอนนักเรียนในชั้นเรียนมากขึ้น


ภาพโดย Chaipat Kaewjaras
#thaiciviceducation