บทสัมภาษณ์จากนักเรียน ครู และนักการศึกษาที่ได้สะท้อนให้เห็นว่า หากเราอยากเห็นการศึกษาที่ส่งเสริมความเป็นมนุษย์ของเด็ก โรงเรียนจำเป็นต้องสร้างพื้นที่ให้นักเรียนได้เรียนรู้อย่างสบายใจ และไร้ความหวาดกลัวในการใช้ชีวิตในโรงเรียน

“โรงเรียนคือบ้านหลังที่สอง” คิดว่าคงเป็นคำที่หลายๆคนเคยได้ยิน ซึ่งปฏิเสธไม่ได้เลยว่าในปัจจุบันมันเป็นเรื่องจริง นักเรียนในยุคปัจจุบันใช้เวลาอยู่ที่โรงเรียนแทบจะมากกว่าอยู่ที่บ้าน ดังนั้นโรงเรียนเป็นเหมือนสถานที่ที่ให้การเติบโตและประสบการณ์แก่นักเรียน นอกจากความรู้แล้วยังรวมถึงการใช้ชีวิต โรงเรียนจึงต้องเป็นพื้นที่ที่ปลอดภัย หมายถึงทั้งในด้านของความปลอดภัยในโรงเรียน และจิตใจของผู้เรียนที่ควรถูกดูแลอย่างใกล้ชิด เพื่อการเป็นบ้านที่ทำให้พวกเขาเติบโตได้อย่างที่ควรจะเป็น
.
น.ส.พัชรดา ธวัชชัย
โรงเรียนฤทธิยะวรรณาลัย

มนุษย์ทุกคนมีความต้องการขั้นพื้นฐาน โดยเฉพาะความมั่นคงปลอดภัย ไม่มีใครที่ประสงค์จะอยู่ในบริบทที่ทำให้รู้สึกหวาดกลัว หวาดระแวง ดังนั้นนักเรียนซึ่งเป็นเด็กและเยาวชนก็ควรได้รับความปลอดภัยเช่นเดียวกัน บริบทการศึกษาไทยที่นักเรียนต้องใช้ชีวิตอยู่โรงเรียนประมาณ 8 ชั่วโมงต่อวัน นั่นหมายถึง 1 ใน 3 ของช่วงชีวิตที่เป็นเด็กและเยาวชนก็ว่าได้
.
ดังนั้นโรงเรียนควรเป็นพื้นที่ที่ให้ความมั่นคงปลอดภัย ณ ช่วงเวลานั้นๆ ได้ ทั้งความปลอดภัยในด้าน การแสดงความเป็นตัวตนโดยเคารพตัวตนของผู้อื่น การคุกคามทั้งการกระทำ คำพูด และสายตา และการแสดงความคิดเห็นโดยมีเหตุมีผล
.
ครูสุทธาสิณี
ครูในเครือข่าย Thai Civic Education

“โรงเรียน คือ เพื่อนที่สนิทที่สุดของเด็ก ๆ และเป็นพื้นที่สำหรับการเรียนรู้ ซึ่งต้องเป็นให้ได้มากกว่าแค่สถานที่ ต้องเป็นพื้นที่ที่มีชีวิตประกอบด้วยผู้คนที่ร่วมสร้างประสบการณ์เรียนรู้ร่วมกัน ท้าทายในยามที่ต้องการการกระตุ้น โอบกอดได้ในยามที่จิตใจอ่อนล้า และควรเป็นที่แรก ๆ ที่เด็ก ๆ นึกถึงในยามที่พวกเขามีความสุข หรือมีความทุกข์ เปรียบเสมือนเพื่อนสนิทที่สุดคนนึง ที่คอยช่วยเหลือ พูดคุย พักผ่อน สนุกและลุยไปด้วยกัน คือ พื้นที่ของการมีชีวิต แล้วโรงเรียนของเราล่ะ ใช่สถานที่ที่เด็ก ๆ ฝันถึงหรือเปล่า ถ้ายังได้โปรดออกแบบโรงเรียนให้เป็น school of club spa and resort สำหรับเด็ก ๆ ด้วยเถิด”
.
“ถ้าหากจะถามเด็ก ๆ ว่า ถ้านึกถึงโรงเรียน เราจะนึกถึงอะไรบ้าง แน่นอนพวกเขาก็จะบรรยายภาพเกี่ยวกับทุกมวลประสบการณ์ที่พวกเขาได้รับ ทั้งจากการสร้างขึ้นด้วยตัวของเขาเองและจากการถูกออกแบบโดยครู
คำถามคือ มวลประสบการณ์เหล่านี้ ได้คำนึงถึงหรือมีเรื่องราวของ ความเชื่อ อารมณ์ ความรู้สึก ความคิด ทัศนคติ ความแตกต่าง ความเท่าเทียม สิทธิ อยู่ด้วยหรือไม่ และถ้าไม่มี พื้นที่ตรงนี้นั้น คงไม่มี ชีวิต และชีวา ซึ่งเป็นบรรยากาศพื้นฐานที่จำเป็นและสำคัญมากสำหรับการสร้างหรือการก่อให้เกิดการเรียนรู้ขึ้นมาอย่างสร้างสรรค์ เพราะฉะนั้น พื้นที่ของเด็ก ๆ ควรจะเป็นพื้นที่ ของการเรียนรู้, การสร้างประสบการณ์เรียนรู้ร่วมกัน, การปลดปล่อยพลังงาน, การพักผ่อน, และความสุขทั้งทางกายและทางใจ”
.
พื้นที่สำหรับการเรียนรู้
พื้นที่สำหรับการสร้างประสบการณ์เรียนรู้ร่วมกัน
พื้นที่สำหรับการปลดปล่อยพลังงาน
พื้นที่สำหรับการพักผ่อน
พื้นที่แห่งความสุข
.
กิตติกร รักษาพล
สาขาวิชาการศึกษาพิเศษและภาษาอังกฤษ
มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร