โดย อาจารย์นันท์นภัส แสงฮอง
คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
.
หากถามว่า การศึกษาพหุวัฒนธรรมคืออะไร อาจไม่ได้มีนิยามที่ตายตัว ยังมีการถกเถียงเกี่ยวกับคำนี้อย่างต่อเนื่อง และการจะนิยามคำ ๆ ว่าคืออะไร ก็ขึ้นอยู่บริบททางสังคม วัฒนธรรม และการเมืองของแต่ละพื้นที่หรือแต่ละประเทศด้วย อย่างไรก็ตาม อยากจะชวนมาดูที่เป้าหมายของการศึกษาพหุวัฒนธรรมแทนการดูนิยาม ณ ปัจจุบัน ในภาพรวม โดยเราสามารถจัดกลุ่มได้อย่างน้อย 4 กลุ่ม
.
•กลุ่มที่หนึ่งมองว่าการศึกษาพหุวัฒนธรรมีไว้เพื่อไปปรับเปลี่ยนพื้นที่การศึกษาให้เกิด Inclusiveness มากขึ้น โดยการท้าทายแนวคิดการศึกษาแบบวัฒนธรรมเดี่ยว เช่น ในประเทศสหรัฐอเมริกาก็จะท้าทายแนวคิดการจัดการศึกษาที่เอายุโรปเป็นศูนย์กลาง ( Eurocentrism) หรือคนขาวเป็นศูนย์กลางไปจัดการศึกษาให้กับนักเรียนชนพื้นเมืองและนักเรียนผิวสี

และในขณะเดียวกันก็นำเอาองค์ความรู้ เรื่องราว และวัฒนธรรมของชนกลุ่มน้อยที่ถูกกีดกัน มองข้าม หรือกดทับเข้าสู่พื้นที่การศึกษามากขึ้น พร้อมทั้งใช้วัฒนธรรมของชนกลุ่มน้อยเป็นฐานในการออกแบบการเรียนการสอน สื่อการสอน และการวัดและประเมินผลเพื่อลดช่องว่างทางการศึกษาระหว่างนักเรียนชนกลุ่มใหญ่และนักเรียนชนกลุ่มน้อย
.
•กลุ่มที่สองมองว่าการศึกษาพหุวัฒนธรรมีไว้เพื่อขจัดภาพเหมารวม อคติ และการเลือกปฏิบัติที่เกิดจากความแตกต่างทางวัฒนธรรม เช่น อคติทางเชื้อชาติ ชาติพันธุ์ และศาสนา เป็นต้น
.
•กลุ่มที่สามมองว่าการศึกษาพหุวัฒนธรรมีไว้เพื่อสร้างความอดทนอดกลั้น การยอมรับและเคารพความแตกต่างทางวัฒนธรรมระหว่างชนกลุ่มใหญ่และชนกลุ่มน้อย เช่น ระหว่างเจ้าบ้านกับคนจากต่างแดนหรือคนอพยพ ระหว่างชาติพันธุ์หลักกับชาติพันธุ์ชนกลุ่มน้อย ระหว่างผู้ชายผู้หญิงกับผู้มีความหลากหลายทางเพศหรือLGBTIQ เป็นต้น
.
•กลุ่มที่สี่มองว่าการศึกษาพหุวัฒนธรรมีไว้เพื่อไปปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางสังคมเพื่อไปขจัดความเหลื่อมล้ำ ความไม่เป็นธรรม และความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ไม่เท่าเทียมกันที่เกิดจากความแตกต่างทางวัฒนธรรม
.
อย่างไรก็ตาม การที่แต่ละพื้นที่หรือแต่ละประเทศจะบอกว่า การศึกษาพหุวัฒนธรรมีไว้เพื่ออะไรนั้นหรือจะเอาเป้าหมายใดไปบ่มเพาะในตัวพลเมืองของตน ก็จะแตกต่างกันออกไป ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่ความจำเป็นและบริบทการเมือง

บางประเทศจะเน้นสร้าง Inclusiveness ในพื้นที่การศึกษา บางประเทศเน้นเรื่องการสร้างการยอมรับและเคารพความแตกต่างทางวัฒนธรรม เขาก็จะเน้นสร้างพลเมืองแบบนี้ บางประเทศที่ได้ทำเรื่อง Inclusivenessและการยอมรับความแตกต่างทางวัฒนธรรมสำเร็จแล้ว ก็จะขยับไปทำเรื่องการปรับโครงสร้างทางสังคม ซึ่งต้องใช้เวลา ใช้พลัง และใช้ทรัพยากรที่มากขึ้น


ภาพโดย Chaipat

#thaiciviceducation