วันเสาร์ที่ 30 พฤษภาคม 2563 ที่ผ่านมา เครือข่ายการศึกษาจัดเวที EDU Webinar ครั้งที่ 2 “การศึกษาทางไกล ไหวไหมพ่อแม่” ว่าด้วยการเตรียมความพร้อมของพ่อแม่เมื่อต้องรับมือกับการเรียนทางไกลและการเรียนออนไลน์ที่บ้านของลูก ๆ หลังเริ่มประกาศให้มีการเรียนผ่าน DLTV และในแพลตฟอร์มออนไลน์ต่าง ๆ พ่อแม่มีการรับมืออย่างไร ความท้าทาย ปัญหา อุปสรรคที่เกิดขึ้นมีอะไรบ้าง ผู้กำหนดนโยบายควรมีแนวทางการเรียนการสอนในภาวะการแพร่ระบาดของ COVID-19 เช่นนี้อย่างไร

ดวงใจ เที่ยงดีฤทธิ์ ผู้ปกครองจากจังหวัดศรีสะเกษ เล่าว่า ช่วงที่ปิดเทอมก่อนเรียนออนไลน์นั้น ได้มีการจัดการเรียนการสอนที่ให้ลูกมีความเข้าใจเรื่องโควิด เช่น การล้างมือ การดูแลร่างกาย เป็นต้น และมีการจัดเวลาให้ได้ทบทวนความรู้ รวมถึงมีกิจกรรมที่ส่งเสริมทักษะชีวิตให้ทำ เช่น ทำกับข้าว โดยให้เป็นโจทย์ให้ว่าเด็กจะต้องทำอาหารรับประทานเอง
.
ก่อนหน้านั้นมีความกังวล เพราะยังไม่มีการประกาศชัดเจนและในพื้นที่ก็พบผู้ติดเชื้อ ผลคือโรงเรียนเร่งรัดการสอบเพื่อปิดเทอมเร็วขึ้น หลังจากปิดเทอม ด้วยความที่ทางโรงเรียนเป็นโรงเรียนเขตพื้นที่นวัตกรรม ทำให้ทางโรงเรียนได้ส่งสมุดแบบฝึกหัดให้ลูกได้กลับมาทบทวน
.
ช่วงเวลาปิดเทอม ทางโรงเรียนมีการส่งคุณครูมาสำรวจเรื่องความพร้อม พอจนถึงวันที่ 18 พฤษภาคม ได้เปิดทีวีให้ลูกเรียน พอเปิดได้เพียง 10 นาที สัญญาณก็หายไป แต่ลูกก็มาบอกว่าไม่ต้องตกใจ เพราะมาจากสัญญาณทางไกล อย่างไรก็ดี แบบฝึกหัดที่ลูกได้รับจากทางโรงเรียน แม้ไม่ตรงกับทีวีทางไกล แต่เนื้อหาตรงกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ ทำให้ไม่รู้สึกกังวลในการเรียนรู้ของลูก ขณะที่ลูกที่เรียนอยู่ในระดับชั้น ม.4 เขาเลือกที่จะไม่เข้าไปเรียนโดยทันที แต่ใช้วิธีการเรียนย้อนหลัง และรู้สึกว่าการเรียนออนไลน์ไม่ได้มีความสนใจมากนัก จึงหันไปเรียนในช่องทางอื่นแทน
.
ส่วนทางเพื่อนบ้านมีการไปซื้อทีวีเครื่องใหม่เพื่อให้ลูกได้เรียน หลังจากสถานการณ์ดังกล่าวก็มีการคุยกับคุณครู ซึ่งพบว่ามี 10 เปอร์เซ็นต์ที่พร้อมกับกาเรียนออนไลน์และทางไกลเท่านั้น หลายบ้านไม่มีโทรทัศน์หรือโทรศัพท์รองรับระบบการเรียน ทำให้บางบ้านก็มีการจัดการกันว่า ถ้ามีทีวีเครื่องเดียว แต่มีลูกหลายคนหรือหลายระดับชั้น ก็ต้องเอาไปเรียนรวมกับบ้านหลังอื่น
.
ในส่วนระบบการเรียนที่เป็นอยู่ เธอมองว่าไม่ได้สอดคล้องกับช่วงวัยการเรียนรู้ของเด็ก ถ้าหากเป็นการเรียนทดลองจริง เนื้อหาควรเป็นการเตรียมความพร้อมกับการรับมือกับสถานการณ์มากกว่า แต่สิ่งที่ปรากฏคือ เด็กต้องเรียนเนื้อหาโดยตรงเลย พร้อมกับการรายงานทางโรงเรียนด้วยภาพถ่าย รายงานตัวทุกๆชั่วโมง เกิดภาวะกดดันกับพ่อแม่ อีกมุมหนึ่งทางครูก็ต้องวิ่งช่วยเหลือเด็กที่ไม่มีทีวี สื่ออุปกรณ์ต่างๆ ขาดเหลืออะไรครูต้องใช้จ่ายแทนทำให้ภาะทางการเงินตกมาอยู่ที่ครู
.
ที่ผ่านมาในรอบหนึ่งเดือน สะท้อนให้เห็นว่าเกิดนวัตกรรมใหม่ทางการศึกษามากมาย เช่น รถพุ่มพวงความรู้ เข้าไปในหมู่บ้านให้เกิดการเรียนรู้ ส่วนวัดและพื้นที่ในชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมทางการศึกษามากขึ้น และยังมีนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยก็เขามาช่วยส่งเสริมร่วมกับทางโรงเรียน การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนี้ต้องอาศัยการปรับเปลี่ยนเรื่องการวัดผลเรื่องการศึกษาควบคู่ไปด้วย ขณะที่กระทรวงศึกษาก็ต้องปลดล็อกให้ยืดหยุ่นตรงนี้ เพื่อให้ตรงกับบริบทพื้นที่ของโรงเรียนและครอบครัว

โชติมา สมัครพงศ์ ผู้ปกครองจากจังหวัดสงขลา เริ่มเล่าถึงลูกของเธอที่เรียนอยู่ในระดับชั้น ป.3 ทางโรงเรียนไม่ได้มีแบบฝึกหัดให้นักเรียน แต่เน้นให้ได้เรียนรู้จากตารางทีวีภาครัฐเป็นหลัก ด้วยความที่ช่วงวัยของเด็กเป็นเด็กเล็ก ทำให้เด็กก็ไม่ได้สนใจการเรียนในวิธีการดังกล่าว แต่อย่างไรก็ดี ครูบางส่วนได้มีการปรับบทเรียนออนไลน์ให้เข้ากับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เช่น เอาเรื่องตู้ปันสุข เอาเรื่องของกราฟ มาให้เด็กเรียน ซึ่งทำให้เด็กรู้สึกว่าชอบเรียนมากกว่าเรียนแบบทางทีวี
.
จึงพยายามดูว่า ทางโรงเรียนมีจะมีวิธีการอะไรมาหนุนเสริมบ้าง แต่ปรากฏว่ามีการสื่อสารน้อยมาก มีการสอบไปถามเรื่องแบบฝึกหัดหรือหนังสือให้เด็ก แต่ทางโรงเรียนก็แนะนำให้ไปซื้อตามร้าน เลยรู้สึกว่าผู้ปกครองต้องมารับภาระผิดชอบเรื่องนี้โดยตรง
.
ตอนนี้ทางบ้านมีการปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ให้พร้อมกับการเรียนออนไลน์ เพราะด้วยความที่มีความกังวล และโรงเรียนไม่ชัดเจน ทำให้ไม่รู้ว่าเราจะรับมืออย่างไร แต่มีความโชคดีที่สถานที่ทำงานให้เอาลูกไปทำงานได้จึงทำให้ลดความกังวลลงไปบ้าง ซึ่งแตกต่างจากน้องสาวไม่สามารถเอาลูกไปทำงานได้ ก็ต้องเอาฝากไว้ที่บ้านญาติให้ช่วยดูแล สุดท้ายทางผู้ปกครองหลายคน ก็มีความกดดันกังวลว่าลูกจะเรียนทันคนอื่นไหม จนเกิดการเปรียบเทียบระหว่างกัน
.
สำหรับเธอแล้วในเรื่องการเปิดโรงเรียน เห็นว่าบริบทจำนวนนักเรียนต่อห้องมีจำนวนมาก อาจไม่สะดวกในการจัดการเรียนรู้ โรงเรียนควรมีการสำรวจความพร้อมของครอบครัวว่า ครอบครัวใดบ้างที่พร้อมเรียนทางบ้าน หรือทางที่โรงเรียน เพื่อให้เกิดทางเลือกกับครอบครัว แต่ถ้าหากทางโรงเรียนเปิดให้นักเรียนทุกคน ควรมีระบบดูแลให้ดี เพื่อไม่ให้เด็กต้องไปแออัดอยู่ในพื้นที่เดียวกัน รวมถึงอาจใช้พื้นที่ของชุมชนเพื่อรับรองการเรียนที่ไม่ต้องแออัดกระจุกที่โรงเรียน หรือใช้ระบบครูอาสาช่วยทำหน้าที่หนุนเสริม
.
สิ่งที่ต้องมองต่อไปคือ ในอนาคตอาจมีโรคอื่นๆหรือความไม่แน่นอนเกิดขึ้นได้อีก ดังนั้นควรให้อำนาจคนที่อยู่ในพื้นที่เข้ามามีส่วนช่วยจัดการศึกษาของตนเองมากขึ้น รวมถึงระบบการตัดสินใจที่ไม่ติดอยู่กับระเบียบอำนาจ เพราะที่ผ่านมาผู้อำนวยการโรงเรียนตกอยู่ในความกลัว ทำให้ไม่กล้าตัดสินใจเพราะกลัวผิด ซึ่งตรงนี้ควรเปลี่ยนแปลงอย่างจริงจัง

ครูสุภาภรณ์ วัฒนาพร โรงเรียนบ้านปางขอน จ.เชียงราย เล่าว่าบริบทในพื้นที่โรงเรียนมีเด็กชาติพันธุ์เป็นหลัก และเป็นโรงเรียนประถมศึกษาขนาดเล็ก หลายครอบครัวต้องไปทำไร่ ทำสวน เลยทำให้มีการฝากเด็กไว้กับครอบครัวอื่นหรือให้คนเป็นพี่ดูแล ที่ผ่านมาทางโรงเรียนมีการแบ่งให้ครูลงพื้นที่ไปตามแต่ละโซนในหมู่บ้าน ซึ่งพบว่า บางบ้านสามารถดูทีวีออนไลน์ได้ก็จริง แต่เป็นเพียงส่วนน้อยเท่านั้น เพราะสถานะทางเศรษฐกิจของผู้ปกครองไม่ค่อยดี จึงทำให้การเข้าถึงเป็นเรื่องยาก ทางโรงเรียนจึงมีแนวทางลงไปให้คำแนะนำ และช่วยเหลือแต่ละครอบครัวในการเรียนของเด็ก
.
ส่วนระยะที่สองตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน โรงเรียนจะมีการจัดแบ่งกันไปเรียนที่โรงเรียน เช่น วันจันทร์เป็นระดับชั้นหนึ่ง วันถัดไปก็อีกระดับชั้นหนึ่ง หมุนเวียนกันไป โดยจะมีการจัดให้ไปเพียงครึ่งวันเพื่อให้ได้พูดคุยกับคุณครู เพราะจากบริบท นักเรียนวัยประถมศึกษาไม่มีเครื่องมือสื่อสารโดยตรงกับทางครู
.
มาตรการที่การวางไว้ จะใช้เพียง 3 ห้องเรียนเท่านั้น มีการแยกห้องไปตามแต่ละอาคาร มีระบบคัดกรอง เข้าออกประตูเดียว มีระบบล้างมือให้เด็ก ให้สวมหน้ากาก และลดการปฏิสัมพันธ์แบบรวมกลุ่ม การตัดสินใจเช่นนี้มาจากการที่บริบทโรงเรียนมีนักเรียนต่อห้องเพียง10-15 คน ทำให้การจัดโต๊ะไม่ได้เป็นเรื่องกังวลสำหรับทางโรงเรียน
.
นอกจากนี้ได้มีการพูดคุยกับผู้ปกครอง ซึ่งผู้ปกครองกังวลว่าเด็กจะไม่ได้เรียนรู้ ทำให้เป็นสิ่งที่ครูต้องคิดว่าเราจะทำอย่างไร ทางโรงเรียนจึงได้มีแนวทางจัดการเรียนรู้แบบแพ็คเกจ ซึ่งเป็นการจัดการเรียนรู้แบบคละชั้น ลงไปพบเด็กหรือไปช่วยสอนที่บ้าน ส่วนเนื้อหาไม่ได้เน้นว่าต้องยากหรือดีเลิศ แต่จะต้องทำให้เด็กได้เรียนร่วมกันได้ ผลที่เกิดขึ้นคือ พ่อแม่รู้สึกว่าไม่ได้ถูกทอดทิ้งเพราะนักเรียนได้เรียนรู้จริง
.
การรับมือที่จะเกิดขึ้นต่อไปไม่ใช่แค่ครูกับนักเรียน แต่ต้องเป็นทั้งชุมชนร่วมกัน เนื่องจากพฤติกรรมบางอย่างโรงเรียนพยายามปรับเปลี่ยนเด็กได้ก็จริง แต่ช่วยได้ระดับหนึ่งเท่านั้น เพราะฉะนั้นทางผู้ปกครองก็ต้องเข้ามาช่วยครูเรื่องพวนนี้มากขึ้น และเป็นการสร้างวิธีคิดใหม่กับความไม่แน่นอนที่อาจจะมีเกิดขึ้นได้อีกในอนาคต

ครูศรัณยพงศ์ จันทะศรี โรงเรียนห้วยเกิ้งพิทยาคาร จ.อุดรธานี จากบริบทโรงเรียนมัธยมศึกษา มองว่าโจทย์ของโรงเรียนคือการคุยกันว่าเราจะทำอย่างไร หากโรงเรียนเปิดวันที่ 1 กรกฎาคมไม่ได้ ทำให้ฝ่ายวิชาการของโรงเรียนต้องคุยเรื่องนี้อย่างเร่งด่วน พบว่าจุดแรกจะต้องเข้าไปศึกษาบริบทของนักเรียนในโรงเรียนก่อน ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญมากที่จะรู้ว่าชีวิตเด็กเป็นอย่างไร เขาอยู่อย่างไร แต่ช่วงที่ผ่านมาทางครูมีเวลาการทำงานเก็บข้อมูลกับเด็กน้อยมาก ทำให้มีการตัดสินใจเก็บข้อมูลทางออนไลน์แทนเพื่อนำมาใช้เป็นข้อมูลเบื้องต้นไปก่อน และใช้ช่องทางออนไลน์สื่อสารระหว่างครูกับผู้ปกครองควบคู่ไปด้วย
.
การเก็บข้อมูลรอบแรก พบว่าเด็กมีทีวีอยู่ก็จริง แต่ทีวีของเด็กไม่สามารถรับช่อง DLTV ได้ นั่นทำให้ครูก็ต้องเข้าไปมีบทบาทดูแล และให้คำแนะนำผู้ปกครอง ยอมรับว่าปัญหาที่เจอในสัปดาห์แรก คือการไม่เข้าใจกันระหว่างครูกับผู้ปกครอง เพราะผู้ปกครองรู้สึกว่า ทางเขาถูกผลักภาระไปให้ ดังนั้นทางโรงเรียนก็ต้องทำการสื่อสารให้ดี จนเกิดระบบเวลาเรียน ที่ครูจะเข้าไปเรียนด้วยกับนักเรียน ช่วยดูเด็ก เพื่อให้ผู้ปกครองรู้สึกสบายใจ
.
นอกจากนี้โรงเรียนได้มีการให้พี่นักเรียนชั้นมัธยมปลาย ช่วยครูเข้าไปสื่อสารกับน้องนักเรียน เพื่อสร้างความเชื่อใจและมั่นใจให้ผู้ปกครองรู้สึกว่าทางโรงเรียนไม่ได้ทิ้งพวกเขา ขณะที่ครูก็ต้องทำเอกสาร เอาไปให้ผู้ปกครอง เด็กบางคนรู้สึกว่า เห็นเพื่อนเรียน เขาก็อยากเรียน อยากกลับไปเจอเพื่อนไปด้วย สิ่งที่น่ากังวลอีกเรื่องก็คือ เด็กนักเรียนที่กำลังขึ้น ม.6 เขารู้สึกเครียดและกังวล ว่ายังไม่ได้เรียน ซึ่งอาจจะมีผลต่อการเข้ามหาวิทยาลัยของเขาด้วย
.
ขณะที่โรงเรียนก็ถูกบีบบังคับจากส่วนกลางให้มีด้วยคำสั่งว่าต้องเรียนออนไลน์เท่านั้น ทั้งที่บริบทความเป็นจริงเราไม่สามารถเรียนรู้ได้ สะท้อนให้ว่าส่วนกลางไม่ได้มีความไว้เนื้อเชื่อใจกับโรงเรียน ประกอบกับการเรียนออนไลน์ไม่ได้สัมพันธ์กับบริบท ผู้ปกครองต้องไปทำไร่ทำนา บางบ้านที่มีลูกหลายคน คนที่เป็นพี่ก็ต้องเสียสละมาให้ดูน้องก่อน แล้วค่อยมาเรียนย้อนหลัง ครูในโรงเรียนจึงตกลงกันว่าเราจะสื่อสารจากโรงเรียนไปถึงเขตโดยตรงว่าเราจะใช้วิธีการแบบอื่น ซึ่งจากช่วงที่การทดลองที่ผ่านมา ช่วยให้เรากลับมาเห็นว่า อะไรคือปัญหา อะไรคืออุปสรรคทางแก้ไข ที่จะช่วยให้เรามีประสบการณ์เพื่อรับมือต่อไปได้
.
อย่างไรก็ตาม หากวันที่ 1 กรกฎาคมเปิดเรียน โรงเรียนก็ได้มีมาตรการรับมือไว้แล้ว มีการจัดทำแผนรับมือเพื่อให้ทางจังหวัดเข้ามาตรวจสอบ รวมถึงในพื้นที่ไม่มีผู้ติดเชื้อมาเป็นเวลาเดือนกว่า ทางโรงเรียนจึงจัดเตรียมห้องเรียนที่ว่างอยู่จากจำนวนเด็กที่ลดลง มาขยายจำนวนห้องออกไป เพื่อให้นักเรียนจาก30คน ลดลงเหลือ 20 คนต่อห้อง เพื่อให้เปิดสอนได้ปกติ

จิดาภา ภาณุมาภรณ์ นักจิตวิทยาเด็ก มองว่า การสื่อสารของครู ผู้ปกครอง และโรงเรียนควรทำให้เกิดความชัดเจน เพราะถ้าไม่ชัดเจนเท่าไหร่ จะยิ่งมีผลต่อสุขภาพจิตของผู้ปกครอง และการเรียนรู้ของนักเรียนมากเท่านั้น ดังนั้นควรมีแนวทางสำรวจอารมณ์ความรู้สึก โดยการสำรวจดูว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง แล้วแต่ละฝ่ายช่วยกันคุยกันว่าจะทำอย่างไรให้ความกังวลหรือความรู้สึกนั้นหมดไป เพื่อเกิดทางออกร่วมกัน
.
ขณะที่การเรียนออนไลน์กับเด็กเล็กๆ ค่อนข้างไม่เหมาะสม เนื่องจากการเรียนรู้จะต้องใช้ประสาทสัมผัสทั้ง 5 เพราะฉะนั้นควรมีการปรับการเรียนรู้ให้เด็กได้ไปสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมในชุมชนของเขา และปรับการเรียนการสอนจากแบบบรรยายท่องจำมาสู่การเรียนรู้ที่ให้เด็กได้มีปฏิสัมพันธ์และคิดมากขึ้น รวมถึงการประเมินการเรียนรู้ก็ควรเปลี่ยนไปด้วยเช่นกัน
.
ส่วนปัญหาการเปรียบเทียบเด็กที่ผู้ปกครองกังวล ทางโรงเรียนควรจำเป็นต้องสร้างความเข้าใจกับผู้ปกครองให้เห็นว่า เด็กนักเรียนไม่ได้มีความถนัดอยู่เพียงแบบเดียว และโรงเรียนอาจจำเป็นต้องส่งเสริมความถนัดของนักเรียนให้มาเชื่อมโยงกับเนื้อหาการเรียนรู้มากขึ้น
_
สรุปเวที่ EDU Webinar ครั้งที่ 2 “การศึกษาทางไกล ไหวไหมพ่อแม่” ว่าด้วยการเตรียมความพร้อมของพ่อแม่เมื่อต้องรับมือกับการเรียนทางไกลและการเรียนออนไลน์ที่บ้านของลูก ๆ หลังเริ่มประกาศให้มีการเรียนผ่าน DLTV และในแพลตฟอร์มออนไลน์ต่าง ๆ พ่อแม่มีการรับมืออย่างไร ความท้าทาย ปัญหา อุปสรรคที่เกิดขึ้นมีอะไรบ้าง ผู้กำหนดนโยบายควรมีแนวทางการเรียนการสอนในภาวะการแพร่ระบาดของ COVID-19 เช่นนี้อย่างไร

รศ.ดร.นงเยาว์ เนาวรัตน์ ศูนย์พหุวัฒนธรรมและนโยบายการศึกษา เริ่มต้นกล่าวว่า ครู ผู้ปกครอง นักเรียน มีความสนใจในเรื่องการศึกษาอย่างมาก และต่างมองเห็นว่าสิ่งที่จะต้องต้องเผชิญคืออะไร และจะต้องตั้งรับอย่างไร สถานการณ์ที่เกิดขึ้นยังสะท้อนว่าการรวมศูนย์อำนาจควรปล่อยได้แล้ว ถึงเวลาที่การบริหารส่วนกลางต้องไว้วางใจส่วนท้องถิ่น โรงเรียน และคุณครูมากขึ้น เพราะระบบการศึกษาเป็นโครงสร้างที่ใหญ่มาก การตัดสินใจด้วยรัฐมนตรีเพียงคนเดียวคงเป็นไปได้ยากโดยเฉพาะในภาวะวิกฤติเช่นนี้ ท่ามกลางความไม่ชัดเจนของนโยบาย ทำให้ครูต้องมาตั้งรับว่าผลประโยชน์ของเด็กอยู่ตรงไหน จึงเป็นสิ่งที่น่าสนใจว่าครูใช้อะไรในการผลักดันออกจากความกลัว ถึงเวลาที่คนในระบบต้องลุกขึ้นออกจากความกลัวตรงนี้ให้ได้
.
สถานการณ์เช่นนี้ จำเป็นต้องพูดถึงการรื้อระบบการศึกษากันใหม่ อย่างแรกการศึกษาที่เผชิญอยู่ในภาวะวิกฤติ ช่วยให้เรามองเห็นว่าตลอด20 ปีที่มีการพูดถึงระบบการศึกษาแบบยืดหยุ่นว่าเป็นเรื่องที่จำเป็น ที่จะต้องพัฒนารับมือกับวัฒนธรรมการทำงานแบบใหม่ ควรที่จะมีการกลับมาพูดคุยเรื่องนี้กันอย่างจริงจัง
.
อย่างไรก็ตาม หากกระทรวงศึกษาธิการ ยังคงตั้งต้นว่า สถาการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเพียงการรับมือชั่วคราว แล้วก็รอให้สถานการณ์กลับเข้าสู่ภาวะปกติก็คงไม่ใช่ เพราะสถานการณ์ตอนนี้ต่างหากที่เป็นความปกติใหม่ เป็นภาวะความไม่แน่นอน ภาวะที่ศูนย์กลางการศึกษาที่ไม่ได้อยู่ที่โรงเรียนอีกต่อไป
.
การศึกษาแบบที่ยืดหยุ่น คือพื้นที่การศึกษาไม่ได้อยู่แค่ในห้องเรียนอีกต่อไป แต่ได้ขยับไปสู่พื้นที่ครอบครัวและชุมชนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เราจะทำอย่างไรให้ความสัมพันธ์ที่เปลี่ยนไปเช่นนี้กลายเป็นระบบระเบียบแบบใหม่ ให้พ่อแม่ที่ตื่นตัวต่อการศึกษาของลูก รักษาการตื่นตัวเรื่องนี้ต่อไป จะมีการเปิดประตูแบบใดให้ผู้ปกครองและ ชุมชนเข้ามาจัดการเรียนรู้เพื่อให้เกิดเส้นใยแมงมุมการเรียนรู้ผ่านพื้นที่ชุมชน สนามเด็กเล่น ไร่น่าของนักเรียน


ดูลิงค์เสวนาได้ที่ https://joo.gl/PhDvQ
.
ออกแบบภาพโดย Chaipat Kaewjaras

#ปรับเรียนเปลี่ยนรู้
#TCEWebinar
#EDUWebinarseries