สำหรับหลาย ๆ คน หัวใจของประชาธิปไตยคือการเลือกตั้งเพื่อหาตัวแทนเข้าไปทำหน้าที่ตัดสินใจแทนเราในสภาและผลักดันนโยบายตามที่พวกเขาได้หาเสียงไว้ สาเหตุที่ต้องวางระบบแบบนี้ก็เพราะในสังคมที่มีประชากรจำนวนมาก จึงไม่สามารถสร้างประชาธิปไตยทางตรงที่ให้ประชาชนทุกคนเข้ามาอยู่ในสภาร่วมกันได้จริง ทำได้เพียงเลือกตัวแทนที่เราไว้ใจในแนวคิดและความสามารถเข้าไปทำหน้าที่แทนเราเท่านั้น

แม้ระบบตัวแทนแบบนี้จะมีข้อดีในการแบ่งงานกันทำและลดภาระที่ทุกคนจะต้องแบ่งเวลาเข้ามาทำงานทางการเมือง แต่มันก็สร้างปัญหาตามมา ในทางปฏิบัติ มันเสี่ยงจะทำให้เกิดปัญหา “ประชาธิปไตย 4 วินาที” ที่การมีส่วนร่วมของประชาชนถูกลดทอนลงเหลือเพียงการหย่อนบัตรเลือกตั้งเท่านั้น โดยละเลยมิติการมีส่วนร่วมผ่านการแสดงความคิดเห็นและริเริ่มนโยบายโดยประชาชนหรือตรวจสอบการทำงานของผู้แทนหลังการเข้ารับตำแหน่ง เมื่อเป็นเช่นนั้นก็เสี่ยงที่นโยบายที่ออกมาจะไม่สะท้อนความต้องการของประชาชนจริง ๆ  ในทางหลักการ ระบบประชาธิปไตยตัวแทนก็ทำให้เกิดการแบ่งแยกระหว่างชนชั้นปกครองกับชนชั้นผู้ถูกปกครอง ซึ่งเท่ากับเป็นการหักล้างสาระสำคัญของประชาธิปไตยที่ต้องการให้ประชาชนเป็นผู้ปกครองตนเอง (self-governing)

แล้วควรทำอย่างไรเพื่อสร้างประชาธิปไตยที่ประชาชนปกครองตัวเองอย่างแท้จริง? ผมเชื่อว่าคำตอบอยู่ที่การเพิ่มความเข้มข้นในการมีส่วนรวมของประชาชน ข้อเสนอเพื่อเพิ่มการมีส่วนร่วมอันหนึ่งคือการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบไปสู่ประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือที่ดูจะเป็นจุดกึ่งกลางระหว่างประชาธิปไตยทางตรงและประชาธิปไตยแบบตัวแทน โดยเพิ่มช่องทางรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอย่างมีความต่อเนื่องและในหลายประเด็นยิ่งขึ้น ผมเห็นด้วยว่าข้อเสนอเชิงระบบดังกล่าวนี้เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งแต่ยังไม่ใช่คำตอบทั้งหมด

การเปลี่ยนแปลงเชิงระบบต้องเกิดขึ้นควบคู่กันไปกับเปลี่ยนแปลงทัศนคติ พฤติกรรม และทักษะของพลเมืองที่มีส่วนร่วมอยู่ในระบบการปรึกษาหารือ ประชาชนจะต้องพร้อมส่งเสียงของพวกเขา และเสียงเหล่านั้นต้องมีคุณภาพโดยผ่านการพิจารณาข้อมูลอย่างรอบด้านและเป็นเหตุเป็นผลเพื่อแสดงให้เห็นว่านโยบายสาธารณะที่ถูกเสนอขึ้นมานั้นมีคุณค่าอย่างไร นโยบายนั้นตั้งอยู่บนมโนทัศน์และหลักการทางการเมืองแบบไหน และหากปฏิบัติแล้วจะส่งผลกระทบอย่างไรต่อไป ที่สำคัญคือการตั้งคำถามว่านโยบายสาธารณะนั้น ๆ ส่งผลต่อโครงสร้างที่สัมพันธ์กับความเท่าเทียมและเป็นธรรมทางสังคมในแง่ใดบ้าง

ระบบการเมืองแบบปรึกษาหารือจะเกิดขึ้นไม่ได้ หากพลเมืองและเยาวชนของเราไม่เคยถูกฝึกฝนให้สามารถคิดได้ด้วยตัวเอง และไม่เคยมีประสบการณ์ในกระบวนการปรึกษาหารือกันมาก่อน โจทย์ที่สำคัญอย่างหนึ่งของการศึกษาเพื่อสร้างพลเมืองประชาธิปไตยจึงเป็นการสร้างการเรียนรู้ที่ให้ผู้เรียนมีประสบการณ์ร่วมในบทสนทนาที่กระตุ้นให้พวกเขาตั้งคำถาม ตั้งสมมุติฐาน และลองหาคำตอบด้วยตัวเขาเอง และพยายามหาข้อตกลงบางอย่างร่วมกันให้ได้ในสังคม บทความนี้เสนอว่าแนวการสอนแบบหนึ่งตอบโจทย์เหล่านี้ได้คือแนวการสอนแบบชุมชนการสืบสอบทางปรัชญา

การสอนแบบชุมชนการสืบสอบทางปรัชญา

ชุมชนการสืบสอบทางปรัชญา หรือ Community of Philosophical Enquiry (CoPE) [1] เป็นแนวทางที่เริ่มต้นจากการสอบปรัชญาสำหรับเด็ก หรือ Philosophy for Children เรียกโดยย่อว่า P4C ที่ริเริ่มโดย Matthew Lipman เพื่อพัฒนาทักษะการคิดของเด็กผ่านกระบวนการทางปรัชญา ต่อมาแนวทางการสอนได้ถูกขยายขอบเขตและแนวทางการสนทนาออกไปอย่างกว้างขวางเพื่อใช้กับผู้เรียนกลุ่มอื่นที่ไม่ใช่เด็กอีกต่อไป จึงเปลี่ยนมาเรียกแนวทางการสอนแบบนี้รวม ๆ ว่าแนวทางการสอนแบบชุมชนการสืบสอบทางปรัชญา หรือ CoPE บ้างใช้กับนักศึกษามหาวิทยาลัย บ้างนำไปใช้ในกระบวนการสานเสวนาในระดับชุมชน

วิธีการสอนด้วย P4C/CoPE นั้นเป็นไปอย่างเรียบง่าย เริ่มจากให้ผู้เรียนนั่งล้อมเป็นวงกลมโดยมีกระบวนกรนั่งอยู่ในวงร่วมกับผู้เรียน กระบวนกรเริ่มการเรียนรู้ด้วยการแสดงตัวกระตุ้นบางอย่าง (stimulus) เช่น บทความหรือนิยายสั้น ๆ ภาพยนตร์ ภาพ งานศิลปะ [2] ข้อสำคัญคือตัวกระตุ้นนั้นต้องมีลักษณะคลุมเครือ กระตุ้นต่อมชวนสงสัยของผู้เรียน จากนั้นกระบวนกรจะให้ผู้เรียนเริ่มตั้งคำถามด้วยตัวเองว่ามีประเด็นอะไรน่าคิดจากคำถามนั้นบ้าง แล้วจึงให้ลงคะแนนเพื่อเลือกคำถามที่จะสืบสอบหาคำตอบร่วมกัน หลังจากได้คำถามแล้ว ผู้เรียนสามารถพูดคุยถกเถียงในประเด็นนั้นได้อย่างอิสระโดยมีกระบวนกรคอยช่วยเหลือกระบวนการคิดบ้าง แต่จะพยายามมีส่วนร่วมน้อยที่สุด กิจกรรมปิดท้ายด้วยการให้ผู้เรียนสะท้อนคิดเกี่ยวกับบทสนทนาที่เพิ่งเกิดขึ้น ซึ่งเรียกว่าเป็น “การคิดเกี่ยวกับการคิด” เพื่อฝึกทักษะการคิดขั้นสูงหรือทักษะทางอภิปัญญา (metacognitive skills)

หากบทสนทนายังไม่จบ ผู้สอนสามารถกลับมาต่อในคาบเรียนถัดไปได้ และก่อนจะเริ่มบทเรียนถัดไป ผู้สอนก็เพียงแค่เปลี่ยนตัวกระตุ้นเพื่อให้สอดคล้องกับประเด็นในวิชาที่กำลังสอน เช่น ใช้ตัวกระตุ้นทางประวัติศาสตร์เพื่อชวนนักเรียนตั้งคำถามเกี่ยวกับกระบวนการทางประวัติศาสตร์ หรือใช้สถิติเพื่อเป็นตัวกระตุ้นในวิชาคณิตศาสตร์เป็นต้น

3 องค์ประกอบของชุมชนการสืบสอบทางปรัชญา

ชุมชนการสืบสอบทางปรัชญาประกอบด้วยปัจจัยสามประการด้วยกันคือ ชุมชน การสืบสอบ และปรัชญา ซึ่งทั้งสามส่วนเป็นวัตถุดิบสำคัญในการสร้างความเป็นพลเมือง

ทำไมต้องเป็นชุมชน? จอห์น ดิวอี้ นักปรัชญาด้านการศึกษาผู้เลื่องชื่อ เสนอว่าชุมชน (community) การสื่อสาร (communication) และการอยู่/มีร่วมกัน (common) นั้นสัมพันธ์กันอย่างแนบแน่น (Dewey, 1923) การเรียนรู้ผ่านการสื่อสารของผู้เรียนโดยมีเป้าหมายและคำถามร่วมกันจึงเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดชุมชน และการอยู่ในชุมชนก็ทำผู้เรียนได้เรียนรู้ชุดความหมายและคุณค่าที่ชุมชนยึดถือร่วมกัน แต่ในชุมชนการสืบสอบ ผู้เรียนไม่ได้ต้องยอมรับชุดความหมายนั้นเพียงด้านเดียว เพราะพวกเขายังเป็นผู้มีส่วนในการ สร้างความหมาย (meaning-making) ร่วมกันในสังคมด้วย (Lipman, 2003)  และส่งเสริมสังคมประชาธิปไตยด้วยการคิดที่ห่วงใยผู้อื่น มีการประนีประนอมกัน การเห็นต่างอย่างเคารพกันและกัน และเรียนรู้กับความเป็นอื่นทั้งทางอัตลักษณ์และวัฒนธรรม (Kizel, 2019)

กระบวนการร่วมกันสืบสอบ (collaborative inquiry) จึงเป็นเครื่องมือสำคัญในการช่วยให้เราเข้าใกล้ “ความจริง” มากยิ่งขึ้น

ทำไมต้องเป็นการสืบสอบ? กล่าวโดยง่าย การสืบสอบคือการตั้งคำถามและหาคำตอบอย่างมีเป้าหมาย โดยผู้เรียนจะเป็นผู้ตั้งคำถามที่พวกเขาสนใจร่วมกัน สิ่งสำคัญคือพวกเขาจะได้อธิบายว่าทำไมเขาถึงมองว่าเรื่องนี้สำคัญ ควรค่าแก่การตอบ การมีเป้าหมายนี้เองที่ทำให้การสืบสอบทางปรัชญาไม่เหมือนกับการล้อมวงแลกเปลี่ยนความในใจแบบวงจิตบำบัด ไม่ได้แปลว่าวงสืบสอบไม่สนับสนุนให้ผู้เรียนดึงประสบการณ์มาเล่าในวงสืบสอบ จริง ๆ แล้วการเชื่อมโยงอดีตนั้นสามารถเกิดขึ้นได้ เพียงแต่การสืบสอบจะเน้นให้ผู้เรียนพัฒนาทักษะในการอธิบายว่าประสบการณ์ส่วนตัวนั้นมีความหมาย และมีนัยยะที่ช่วยตอบคำถามที่ชุมชนสนใจร่วมกันได้อย่างไร กระบวนการร่วมกันสืบสอบ (collaborative inquiry) จึงเป็นเครื่องมือสำคัญในการช่วยให้เราเข้าใกล้ “ความจริง” มากยิ่งขึ้น เนื่องจากเราสามารถมองเห็นข้อผิดพลาดในวิธีการคิดของคนอื่นได้ง่ายกว่าของตัวเราเองพร้อมกับให้ผู้เรียนเรียนรู้หลักการของการผิดได้ (fallibilism) ที่เชื่อว่าเราทุกคนนั้นสามารถผิดได้เสมอและควรเปิดรับการวิพากษ์วิจารณ์

ทำไมต้องเป็นปรัชญา? จุดเด่นของปรัชญาคือมันสอนกระบวนการคิดที่กระตุ้นให้ผู้เรียนเข้าใจมโนทัศน์ต่าง ๆ อย่างลึกซึ้ง และเห็นความสัมพันธ์เชิงตรรกะระหว่างความคิดต่าง ๆ ซึ่งสามารถนำไปใช้กับเนื้อหาของวิชาอื่นได้ เนื่องจากปรัชญาไม่ได้ขึ้นอยู่กับวิชาใดเป็นการเฉพาะแต่ล้วนแฝงตัวอยู่ทุกวิชา จุดเด่นอีกประการหนึ่งคือธรรมชาติของความรู้ทางปรัชญาไม่ได้ยึดอยู่กับข้อเท็จจริงมากเท่ากับวิชาอื่น ทำให้ผู้เรียนสามารถพัฒนาทักษะการคิดเชิงวิพากษ์ได้อย่างเต็มที่ ในทางกลับกัน ผู้สอนยังสามารถใช้โอกาสนี้ให้เป็นประโยชน์ด้วยการสอนการคิดอย่างมีเหตุผลภายใต้ข้อมูลเกี่ยวกับข้อเท็จจริงที่จำกัด ซึ่งจะช่วยพัฒนาทักษะการแยกแยะว่าข้อเท็จจริงนั้นมีนัยยะสำคัญต่อประเด็นที่กำลังถกเถียงอย่างไร เช่น หากเราต้องการฝึกทักษะการคิดเชิงวิพากษ์ในวิชาสังคมศึกษา ผู้เรียนอาจจะอ้างข้อมูลบางชุดที่ไม่ถูกต้องทางประวัติศาสตร์ ทำให้ครูอาจรู้สึกว่าต้องเข้าไปแก้ไขข้อมูลของนักเรียน แต่ในทางปรัชญาเราสามารถใช้สิ่งที่ไม่ตรงกับความจริงเป็นแบบทดลองความคิด (mental experiment) เพื่อนักเรียนลองจินตนการความเป็นไปได้อื่นๆ และนัยยะของข้อเท็จจริง

ปิดท้าย

จุดเด่นของชุมชนการสืบสอบทางปรัชญาคือแนวทางการเรียนการสอนที่เปิดพื้นที่ให้ผู้เรียนได้มีโอกาสคิดได้ด้วยตนเองด้วยการสร้างสภาพแวดล้อมที่ทำให้ผู้เรียนมีประสบการณ์การในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและเผชิญกับความหลากหลายทางความคิด ซึ่งทำให้โรงเรียนกลายเป็นสังคมขนาดย่อส่วน (Dewey, 1907) ที่พวกเขาจะได้พัฒนาทัศนคติและความเป็นตัวแสดง (agency) ด้วยการเป็นเจ้าของการเรียนรู้ของตัวเอง และนำไปสู่การมีส่วนร่วมทางการเมือง

การสืบสอบทางปรัชญายังช่วยพัฒนาความสามารถในการวิเคราะห์เชิงมโนทัศน์ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่จะปูทางไปสู่การมองปัญหาความเป็นธรรมทางสังคมในระดับโครงสร้าง อันจำเป็นต่อการสร้างพลเมืองที่มุ่งเน้นความเป็นธรรมต่อสังคม (justice-oriented citizen) และช่วยขยับสังคมให้เข้าใกล้ประชาธิปไตยที่ประชาชนเป็นผู้ปกครองตนเองอย่างแท้จริง

ดาวน์โหลด PDF


[1] บางครั้งจะเห็นคำว่า inquiry แทนคำว่า enquiry ทั้งสองคำหมายถึงสิ่งเดียวกัน เพียงแต่ inquiry เป็นคำที่ใช้แพร่หลายมากกว่าในประเทศสหรัฐอเมริกา

[2] ตัวอย่างตัวกระตุ้นที่น่าสนใจ เช่น ใช้ดอกไม้ปลอมเพื่อชวนตั้งคำถามเรื่องความจริงและความงาม ใช้กระจกแตกเพื่อตั้งคำถามกับตัวตน หรือใช้บทความเกี่ยวกับการฝ่าฝืนกฎของทหารเพื่อชวนตั้งคำถามเกี่ยวกับการทำตามกฎระเบียบ เป็นต้น


ผู้เขียน: ภี อาภรณ์เอี่ยม

บรรณาธิการ: พจนา อาภานุรักษ์

ออกแบบ: อรสุมน ศานติวงศ์สกุล


Bibliography

Dewey, J. (1923). Democracy and education: An introduction to the philosophy of education. Macmillan.

Dewey, J. (1907). “The school and social progress” Chapter 1 in The school and society

Kizel, A. (2019). Enabling identity as an ethical tension in a community of philosophical inquiry with children and young adults. Global Studies of Childhood9(2), 145-155.

Lipman, M. (2003). Thinking in education. Cambridge University Press.