“มีครูท่านหนึ่งสอนผมว่าเป็นเด็กอย่ายุ่งเรื่องการเมือง ผมก็ได้แต่นึกในใจว่าเรื่องการเมืองเขาจำกัดอายุหรือ ?” นักเรียนคนหนึ่งของผู้เขียนกล่าว
.
เมื่อนักเรียนเอ่ยถึงหรือแสดงออกทางการเมือง คำกล่าวจากผู้ใหญ่ที่เรามักจะได้ยินตามมาคือ “การเมืองเป็นเรื่องของผู้ใหญ่ พวกหนูยังเด็กจะไปรู้เรื่องอะไร ระวังจะตกเป็นเครื่องมือของนักการเมือง” คำกล่าวนี้เป็นเสมือนการปักเขตแดนว่า “ใครควรจะมีสิทธิพูดเรื่องการเมืองและใครไม่มีสิทธิ” ผู้ใหญ่ในบ้านเมืองหลายคนตอกย้ำผ่านสื่อต่างๆ ว่า “เด็กคิดเองไม่เป็น และถูกล้างสมอง”
.
อาจารย์ประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ชี้ว่า ปรากฏการณ์เช่นนี้เป็นผลผลิตของวัฒนธรรมเรื่องความอาวุโสในสังคมไทย อายุที่มากกว่ากลายเป็นอำนาจในการปิดกั้นความคิด สร้างบทลงโทษ เพื่อจำกัดพื้นที่ประชาธิปไตยไม่ให้เกิดขึ้นในพื้นที่ที่ผู้ใหญ่เห็นว่าไม่สมควร จะเห็นได้ว่าในทัศนะของผู้ใหญ่ เด็ก นักเรียน หรือคนรุ่นใหม่นั้นไม่สามารถคิดเองได้ จึงต้องระวังไม่ให้ถูกหลอก หรือถูกปลูกฝังความเชื่อผิดๆ (หรือก็คือมีอุดมการณ์ทางการเมืองต่างจากผู้ใหญ่) การเรียนรู้หรือการแสดงออกทางการเมืองของนักเรียนจึงถูกบีบให้เหลือเพียงพื้นที่อันน้อยนิด ด้วยว่าเป็นเรื่องที่ควรถูกชะลอให้ถึงวัยที่เป็น “ผู้ใหญ่” เสียก่อน
.
แล้วการเมืองคืออะไรสำหรับพวกเขา ในบทสัมภาษณ์ “การเมืองเป็นเรื่องของคนทุกวัย และไม่น่าผิดอะไร ถ้าพวกหนูจะเลือกต่างจากคนรุ่นก่อน” จาก The Matter ที่ได้สัมภาษณ์อลิน จารุอมรจิต ตัวแทนคนรุ่นใหม่ เธอมองการเมืองเป็นเรื่องใกล้ตัวที่เกี่ยวข้องกับทุกชีวิต ปัญหารถติด ปัญหาการเดินทาง ค่าครองชีพที่สูงขึ้น ล้วนแล้วแต่ส่งผลต่อตัวเธอเองแทบทั้งสิ้น สิ่งเหล่านี้ต้องอาศัยอำนาจนโยบายทางการเมืองในการเข้ามาแก้ปัญหา ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่เธออยากจะส่งเสียง หรืออยากจะเลือกพรรคการเมืองที่จะเป็นตัวแทนผลักดันความต้องการของเธอให้เป็นจริงได้
.
เช่นเดียวกับ แบร์โทลท์ เบรคชท์ นักเขียนบทละครชาวเยอรมันผู้ซึ่งมักได้รับการยกย่องว่าเป็น “เชกสเปียร์” ของสมัยปัจจุบัน ที่มองว่า การเมืองคือชีวิตประจำวันของเราทุกคน ไม่ว่าจะเป็น ค่าเช่าบ้าน ค่าครองชีพ ค่ารักษาพยาบาล ราคาพืชพรรณ หรือเด็กถูกทอดทิ้ง ล้วนเกี่ยวข้องกับอำนาจการตัดสินใจการเมืองทั้งสิ้น ดังนั้น จึงเป็นเรื่องสำคัญที่เราต้องเรียนรู้การเมือง และไม่ควรปฏิเสธมัน
.
Henry Giroux นักการศึกษาเชิงวิพากษ์ อธิบายว่า การทำให้ห้องเรียนและโรงเรียนเป็นพื้นที่ปลอดการเมือง ด้วยการป้องกันหรือการห้ามปลูกฝังความเชื่อทางการเมืองนั้น ไม่ได้เป็นผลดีใดๆ กับเด็กเลย ยิ่งไปกว่านั้น การปิดกั้นการเมืองออกจากห้องเรียนจะยิ่งทำให้นักเรียนเติบโตขึ้นโดยปราศจากความสามารถในการแลกเปลี่ยนและวิพากษ์ร่วมกับผู้อื่น
.
สำหรับเขาการสอนเรื่องการเมืองที่ควรจะเป็น คือพื้นที่ของการพูดคุย ถกเถียงถึง “อำนาจและความไม่เป็นธรรม” ผ่านสถานการณ์ที่เป็นจริงในสังคม เช่น ความจน ความหิว การว่างงาน ฯลฯ ควบคู่ไปกับห้องเรียนที่วางอยู่บนหลักประชาธิปไตย เสรีภาพ และการมีส่วนร่วม ทั้งหมดนี้จะช่วยสร้างนักเรียนที่เป็นส่วนหนึ่งของสังคม มีทักษะการคิดเชิงวิพากษ์ มองเห็นว่าอำนาจทางการเมืองแบบใดที่มีผลต่อตัวเขา และมีความกล้าที่จะตัดสินใจสร้างและกำหนดจุดยืนทางการเมืองของตนเองเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคม
.
“ห้องเรียนจึงไม่ควรปฏิเสธการเรื่องการเมือง เพราะนั่นหมายถึง การทำให้นักเรียนอย่างพวกเขา ไม่ได้ถกเถียงถึงชีวิตและสังคมที่อยากจะเห็น”

เขียนโดย ครูอรรถพล ประภาสโนบล
_
อ้างอิงจาก
– เอกสารชุด “การเมืองเป็นเรื่องของทุกคน” จาก มูลนิธิ Thai Civic Education
– บทสัมภาษณ์ “การเมืองเป็นเรื่องของคนทุกวัย และไม่น่าผิดอะไร ถ้าพวกหนูจะเลือกต่างจากคนรุ่นก่อน” จาก The Matter
– บทสัมภาษณ์ ” คนหนุ่มสาวกับการเมือง : ความย้อนแย้งในสังคมไทย – ประจักษ์ ก้องกีรติ จาก Line Today
– บทความ ” If Classrooms Are “Free of Politics,” the Right Wing Will Grow, เขียนโดย Henry Giroux จากTruthout

#thaiciviceducation