“ปลุกความต้องการการมีส่วนร่วมทางการเมืองของทุกคนขึ้นมาแล้ว”
.
“หลังการเลือกตั้ง ความเหลื่อมล้ำ ความไม่เป็นธรรมในด้านต่างๆ ยังคงดำรงอยู่และยิ่งปรากฏให้เห็นชัดเจนมากขึ้น”
.
“กลับห่วงความมั่นคงในอำนาจจนลืมความจำเป็นที่ประเทศควรมีไป “
.
“ครูจำเป็นต้องสร้างทักษะกระบวนการคิดเชิงวิพากษ์ (Critical Thinking) ให้เกิดขึ้นในการจัดการเรียนการสอนเพื่อความเป็นพลเมืองในระบอบประชาธิปไตย”
.
“ครูต้องเปิดพื้นที่ให้นักเรียนได้ตั้งคำถามว่า “เกิดอะไรขึ้นกับสังคมไทย”
.
“ให้เขาเป็นคนได้ค้นคำตอบทางความคิดของเขาเองได้”
.
Civic Teacher ตอนที่ 1 : 1 ปีหลังการเลือกตั้ง กับอนาคตการสร้างพลเมือง บทสัมภาษณ์ครูในเครือข่าย Thai Civic Education กับสถานการณ์การบ้านเมืองที่เปลี่ยนแปลงไปในรอบ 1 ปี รวมทิศทางการการสร้างนักเรียนในฐานะพลเมืองของพวกเขา

_________________

ปีที่ผ่านมาอาจก่อให้เกิดริ้วรอยบนร่างกาย แต่เมื่อใดที่คุณละทิ้งอุดมการณ์มันก่อให้เกิดริ้วรอยใน “จิตใจ” เพราะ ประชาธิปไตย ไม่ได้ถูกปกป้องโดยทีมยอดมนุษย์ แต่มันถูกปกป้องด้วยการเสียสละอย่างแน่วแน่และความมีคุณธรรมจากมนุษย์ตัวเล็กๆ หลายล้านคน
.
1 ปีภายหลังจากการเลือกตั้งกับระบอบประชาธิปไตยที่เบ่งบานจากการรัฐประหาร “ผู้ที่ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งไม่ได้ตัดสินอะไร แต่คนที่นับผลคะแนนเสียงเลือกตั้งเป็นผู้ตัดสินทุกอย่าง” ผมคิดว่าประเทศของเราไม่ได้เดินไปข้างหน้าแต่เรากำลังเดินวนอยู่ที่เดิมซ้ำๆ เรียกว่า “เป็นการมูฟออนเป็นวงเวียน” แล้วก็หันหน้ามองอนุสาวรีย์ระบอบประชาธิปไตยที่เป็นได้แค่จุดวนรถ ในขณะที่รัฐบาลอำนาจนิยมแบบเดิมๆ ยังมองคนในประเทศเป็นแค่เพียงราษฎรหรือประชาชนผู้อยู่อาศัยภายใต้รัฐที่ไม่ใช่ในฐานะพลเมืองของประเทศ คุณสามารถจองจำคนได้ แต่ไม่สามารถจองจำความคิดของคนได้คุณสามารถเนรเทศคนได้ แต่ไม่สามารถขับไล่ความคิดของคนได้ คุณสามารถฆ่าคนได้ แต่ไม่สามารถฆ่าความคิดของคนได้
.
บทบาทของครูกับการสอนพลเมืองภายใต้สถานการณ์การเมืองที่ไร้บรรทัดฐานและภาวะวิกฤตของประเทศจากการบริหารงานของรัฐบาลแบบนี้ การตั้งคำถามกับสถานการณ์ความไม่ปกติทางการเมือง หรือการบริหารงานของรัฐบาลเพียงอย่างเดียวคงไม่พอ ครูจำเป็นต้องสร้างทักษะกระบวนการคิดเชิงวิพากษ์ (Critical Thinking) ให้เกิดขึ้นในการจัดการเรียนการสอนเพื่อความเป็นพลเมืองในระบอบประชาธิปไตย โดยมุ่งหวังว่ากระบวนการคิดเชิงวิพากษ์นั้นจะช่วยสร้างการเปลี่ยนแปลงและการเคลื่อนไหวทางสังคมได้
.
ครูจักรกฤษณ์ ต่อพันธ์ โรงเรียนหนองบัวแดงวิทยา
_________________

เรามองว่า หลังการเลือกตั้ง ทิศทางการแก้ปัญหาต่าง ๆ ยังไม่ชัดเจน ทั้งปัญหาปากท้อง ปัญหาเชิงโครงสร้าง การกระทำของรัฐหลาย ๆ อย่างที่แสดงออกมา ไม่ได้กำลังเดินทางตามแนวทางประชาธิปไตย รัฐผลักให้ผู้เห็นต่างเป็นอีกฝ่าย ปิดกั้นพื้นที่แสดงออกทางความคิดเห็น ประเด็นที่สังคมตั้งคำถาม รัฐก็ไม่สามารถตอบคำถามอย่างสมเหตุสมผล ประชาชนไม่สามารถตรวจสอบอำนาจรัฐได้ ไม่มีสัญญาณที่ดีว่า รัฐกำลังมาถูกทางแล้ว แต่สัญญาณที่ดีที่เกิดขึ้นก็คือ ได้เห็นคนไทยตื่นตัวเรื่องของการเมืองมากขึ้น
.
ครูต้องเปิดพื้นที่ให้นักเรียนได้ตั้งคำถามว่า “เกิดอะไรขึ้นกับสังคมไทย” เพราะเราจะเห็นได้ชัดว่าสถานการณ์ตอนนี้มันขัดกับหลักการที่มันควรจะเป็น เปิดพื้นที่ให้เขาได้ตั้งคำถามถกเถียงว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกระทบกับตัวเขามากแค่ไหน การเมืองเป็นเรื่องของผู้ใหญ่ ไม่ใช่เรื่องของเด็กจริงหรือ การเมืองเป็นเรื่องของทุกคนจริงไหม ตัวเขาเองในฐานะพลเมืองมีบทบาทอย่างไร เขามีส่วนขับเคลื่อนสังคมมากน้อยเพียงใด ต้องรอให้อายุถึง 18 ไปเลือกตั้งถึงจะเรียกได้ว่า มีส่วนร่วมทางการเมืองแค่นั้นรึเปล่า
.
จากการที่เราเปิดพื้นที่ชวนเขาถกเถียงประเด็นต่าง ๆ พื้นที่ตรงนี้เราจะเห็นการเเสดงออกทางความคิดเห็นที่แตกต่างหลากหลาย ครูก็จะอาศัยพื้นที่ตรงนี้สอนเรื่อง “การยอมรับความคิดเห็นที่แตกต่างและการรับผิดชอบต่อความคิดเห็นของตนที่แสดงออกไป” ซึ่งเป็นอีกบทบาทนึงของการเป็นพลเมืองในระบอบประชาธิปไตย ในขณะเดียวกัน ตัวครูเองจะต้องระมัดระวัง ไม่อคติ ไม่ใช้อำนาจชี้นำ คุยกันด้วยเหตุด้วยผลที่มันควรจะเป็น ครูต้องตระหนักอยู่เสมอว่า ความเห็นต่างเป็นเรื่องปกติของสังคมประชาธิปไตยแต่การไม่ยอมรับความเห็นต่างไม่ใช่สังคมประชาธิปไตย
.
ครูชมภ์พลอย จิตติแสง โรงเรียนสีออศิลปศาสตร์ 

_________________

ใน 1 ปีหลังจากการเลือกตั้ง ซึ่งแน่นอนว่าประชาชนทุกคนต่างได้รับสิทธิทางการเมืองและประชาธิปไตยกลับคืนมาอีกครั้ง โดยส่วนตัวอาจจะพูดได้ไม่เต็มปากว่า “ทุกคนมีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างแท้จริงแล้วหรือไม่” บทเรียนที่เป็นรูปธรรมตั้งแต่ก่อนมีการเลือกตั้งจนถึงปัจจุบันได้ทำให้คนไทยกลุ่มหนึ่งมีความตื่นตัวทางการเมืองมากขึ้นและได้เรียนรู้ข้อเท็จจริงว่า “การเมืองเป็นเรื่องของทุกคน” โดยเฉพาะกลุ่มเยาวชนที่เติบโตมาพร้อมกับการพัฒนาความคิดที่ลุ่มลึกมากขึ้น เรียนรู้ผ่านสื่อสมัยใหม่ จนเกิดการตั้งคำถามต่อกระบวนการทำงานของฝ่ายรัฐ ความไม่เป็นธรรม และการสร้างวัฒนธรรมประชาธิปไตยในสังคมไทยที่ยั่งยืน แม้จะไม่มีข้อสรุปว่าคำถามทั้งหมดจะมีคำตอบอย่างไร แต่ในความไม่ปกติทางการเมืองนั้นได้สร้างพลังทางความคิด เกิดข้อเท็จจริงผ่านประสบการณ์จริง และปลุกความต้องการการมีส่วนร่วมทางการเมืองของทุกคนขึ้นมาแล้ว
.
อย่างไรก็ตามเมื่อเยาวชนตื่นรู้ทางการเมืองมากขึ้น บทบาทของครูต้องปรับเปลี่ยนจากการเป็นผู้ให้มาเป็นผู้สนับสนุนและร่วมเรียนรู้ พร้อมทั้งการจัดการเรียนรู้ที่เสริมสร้างประสบการณ์และทักษะความเป็นพลเมืองประชาธิปไตยให้มากยิ่งขึ้น การตระหนักและเข้าใจถึงความหลากหลายของผู้คนในสังคม การรู้เท่าทันสื่อและสารสนเทศ เพื่อสร้างทักษะการคิดอย่างมีวิจารณญาณ โดยยึดหลักการพื้นฐานของประชาธิปไตยที่มีต่อเพื่อนมนุษย์และสังคมอย่างเท่าเทียม ท้ายที่สุดสังคมในอนาคตมีความท้ายทายมากขึ้นเยาวชนหนึ่งคนต้องย่างก้าวไปสู่สังคมในอนาคตนั้น แต่ในทุกระยะของการเดินทาง ครูต้องปรับเปลี่ยนบทบาทและสนับสนุนให้เยาวชนเกิดกระบวนการเรียนรู้ มีทักษะสำคัญที่สอดประสานกับความเปลี่ยนแปลงในอนาคตอย่างเต็มประสิทธิภาพ โดยการสร้างพื้นที่แห่งการเรียนรู้ในทุกมิติให้แก่เยาวชนพร้อมทั้งการเสริมสร้างเครื่องมือทางปัญญา เพื่อนำไปใช้ในชีวิตประจำวันต่อไป
.
ครูเด่นพงศ์ ศรีพัฒนะพิพัฒน์ โรงเรียนหอวัง
____________________
ส่วนมากเราก็ปล่อยให้เป็นไปตามสถานการณ์เลย เด็กบางคนเขารับข้อมูลเหตุการณ์การเมืองต่างๆนอกห้องเรียนมา เขาก็จะมาแชร์ มาถามในห้องเรียน เราก็เปิดพื้นที่ให้เขาได้ชวนกันตั้งคำถาม ส่วนเราไม่ค่อยมีคำตอบที่มาจากความคิดส่วนตัวให้เขาหรอก มีแต่ตั้งคำถามกลับไปให้เขามากกว่า ให้เขาเป็นคนได้ค้นคำตอบทางความคิดของเขาเองได้
.
ครูกิติยาพร พงศ์แพทย์ 

_________________

1 ปีหลังการเลือกตั้ง ในความคิดของผม ผมคิดว่า การเมืองหลังการเลือกตั้งมันเหมือนเกมการเมืองที่ผู้เล่นเกมนี้คือคนที่เราเลือกเข้าไป ในสภาวะการณ์โลกในปัจจุบันที่มีการเปลี่ยนแปลงมากมายที่ส่งผลต่อคนในประเทศไม่ว่าเรื่องเศรษฐกิจ เรื่องโรคระบาด เรื่องภัยธรรมชาติ ล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องสำคัญควรจะใส่ใจและเตรียมรับมือ กลับห่วงความมั่นคงในอำนาจจนลืมความจำเป็นที่ประเทศควรมีไป
.
บทบาทของครูกับการสอนพลเมืองภายใต้สถานการณ์ดังกล่าว ครูควรสอนให้นักเรียนเป็นพลเมืองที่มีความตื่นรู้ ความรับผิดชอบแต่สังคม เห็นประโยชน์ส่วนรวม และทำหน้าที่พลเมืองให้เต็มที่ก่อนจะเรียกร้องสิทธิของตน การเมืองหลังการณ์เลือกตั้งในครั้งนี้ทำให้นักเรียนตื่นตัวในเรื่องบ้านเมือง รู้จักพูดคุยแสดงความคิดเห็นต่อการเมือง แต่ครูควรสอนให้นักเรียนไม่ควรแบ่งแยกแตกความสามัคคี เพราะหากคนในชาติไม่มีความรักและสามัคคีต่อกันความสุขสันติก็จะไม่เกิดขึ้นอย่างที่เราเคยเผชิญกันมาแล้ว
.
ครูศรัณยพงศ์ จันทะศรี โรงเรียนห้วยเกิ้งพิทยาคาร
__________________

ด้วยความหวังที่มีต่อการเลือกตั้งอันเป็นปรารถนาอยากให้สังคมเป็นในทางที่ดี แต่หลังการเลือกตั้ง ความเหลื่อมล้ำ ความไม่เป็นธรรมในด้านต่างๆ ยังคงดำรงอยู่และยิ่งปรากฏให้เห็นชัดเจนมากขึ้น ทำให้คนรุ่นใหม่โดยเฉพาะกลุ่มนักเรียน นักศึกษาสนใจและตั้งคำถามประเด็นทางสังคมเหล่านี้อย่างเข้มข้น
.
อย่างไรก็ตามยังมีการปิดกั้นการแสดงออกอย่างที่ปรากฏในสื่อ สถาบันการศึกษาควรจะเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับการแสดงออก/ส่งเสียง และรับฟังความคิดเห็นของพวกเขา ส่วนกระบวนจัดการเรียนการสอนครูเองควรจะสนับสนุนให้ผู้เรียนได้แสดงออกและตั้งคำถามกับประเด็นทางสังคม การเมือง เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมเอาประเด็นความไม่เป็นธรรม ความเหลื่อมล้ำในมิติต่าง ๆ เข้าสู่ชั้นเรียน เพื่อเป็นที่ปลอดภัยสำหรับการรับฟัง
.
ครูทิชานนท์ ชุมแวงวาปี โรงเรียนเพ็ญพิทยาคม 

__________________