“สิ่งที่สอนในโรงเรียนไม่ใช่การศึกษา แต่เป็นวิธีการศึกษา เพราะการศึกษาไม่ใช่การเตรียมตัวของชีวิต มันคือชีวิตในตัวมันเอง”

จากความล้มเหลวในการปกครองระบอบประชาธิปไตยของไทยตลอด 88 ปี และสถานการณ์ ความขัดแย้งทางการเมืองอย่างรุนแรงในสังคมไทยในปัจจุบันที่เกิดขึ้นจากความเห็นต่างของคนในประเทศเกี่ยวกับการปกครองระบอบประชาธิปไตย ทำให้เราต้องย้อนไปความเข้าใจคำว่า “ประชาธิปไตย” ซึ่งแต่ละคนต่างมีเหตุผลซึ่งขึ้นอยู่กับความจำเป็นพื้นฐานที่แตกต่างกัน ทำให้การจัดการเรียนการสอนประชาธิปไตยในระบบการศึกษาและโรงเรียนของไทยเป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะการศึกษาของไทยที่ถูกอำนาจทางการเมืองครอบงำมักจะสร้างสังคมที่ยอมรับความเป็นปกติเมื่อถูกอำนาจที่เหนือกว่ากดทับ ซึ่งเรียกว่าเป็นการเอา “การเมืองนำการศึกษา” การจัดการเรียนการสอนประชาธิปไตยในโรงเรียนจึงเป็นเครื่องมือที่จะช่วยสร้างสังคมที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น หรือเรียกง่ายๆ ว่าเป็นการเอา “การศึกษานำการเมือง”
.
แต่การหยั่งรากผลิใบของประชาธิปไตยในโรงเรียนนั้นเป็นเรื่องยาก เพราะโรงเรียนไม่เป็นองค์กรประชาธิปไตย มีโครงสร้างอำนาจนิยมที่ขัดกับหลักการประชาธิปไตย ประกอบกับสังคมไทยเป็นสังคมอุปถัมภ์อำนาจนิยม ซึ่งเป็นการผสมกันที่ขัดกับวัฒนธรรมประชาธิปไตย นักเรียนจึงถูกครอบงำ และไม่มีที่จะแสดงความคิดเห็นได้เลย หลักสูตรและแบบเรียนที่บังคับให้เรียนให้เขียน-อ่าน ก็ขัดกับหลักการประชาธิปไตย นักเรียนขาดโอกาสใน การเรียนรู้เรื่องการต่อสู้ของประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เพราะครูไม่สนับสนุน รากความคิดของครูกับโครงสร้างอำนาจนิยมในโรงเรียนเป็นแบบเผด็จการ การจัดการเรียนการสอนประชาธิปไตยในโรงเรียนจึงเป็นเรื่องยุ่งยาก ซับซ้อน และไม่จำเป็นสำหรับโรงเรียน
.
การจัดการเรียนการสอนประชาธิปไตยในโรงเรียนส่วนใหญ่เป็นแค่เรื่องพิธีการและส่วนงานของระบบ เช่น กิจกรรมสภานักเรียน หรือการรณรงค์หาเสียง เป็นต้น ซึ่งไม่ได้ตอบโจทย์ว่า นักเรียนเกิดการเรียนรู้ประชาธิปไตยอย่างไร อันที่จริงการจัดการเรียนการสอนประชาธิปไตยในโรงเรียนไม่ใช่เรื่องเหล่านี้ด้วยซ้ำ แต่มันก็เรื่องของการส่งเสริมการจัดการเรียนรู้ให้นักเรียนเรียนรู้ความเป็นประชาธิปไตย ผ่านกระบวนการประชาธิปไตย เพื่อความเป็นพลเมืองในระบอบประชาธิปไตย นี่เป็นเรื่องสำคัญที่โรงเรียนและระบบการศึกษาของไทยจะต้องตระหนักถึงไม่ใช่กิจกรรมที่เป็นเพียงพิธีการหรือส่วนงานของระบบการศึกษา
.
แต่ควรเป็นการสร้างทัศนคติให้เข้าใจประชาธิปไตยอันเป็นกิจกรรมที่ไม่ใช่ตัวหนังสือ และควรเป็นกิจกรรมที่สร้างการเรียนรู้อย่างสนุกสนานและให้แง่คิดในการสร้างความเป็นพลเมืองประชาธิปไตย ประชาธิปไตยในโรงเรียนที่จริงควรเริ่มจากห้องเรียนของครูผู้สอนที่จัดการเรียนการสอนกับนักเรียน โดยต้องใช้หลักการประชาธิปไตยในการจัดการเรียนการสอนด้วยกระบวนการเรียนรู้ที่สร้างการมีส่วนร่วมระหว่างครู นักเรียน และชุมชนมาเป็นแหล่งเรียนรู้ร่วมกัน ซึ่งจะย้อนกลับไปตอบโจทย์ในเรื่องของการลดความเป็นเผด็จการในห้องเรียน และลดโครงสร้างอำนาจนิยมของโรงเรียนแบบเผด็จการลงได้
.
หัวใจสำคัญของการจัดการเรียนการสอนประชาธิปไตยในโรงเรียน คือ การอบรมสั่งสอนความเป็นประชาธิปไตยด้วยการฝึกฝนให้ผู้เรียนรู้จักเคารพผู้อื่น เคารพกติกา และเริ่มต้นที่ตัวเอง เพราะการศึกษาเพื่อสร้างความเป็นพลเมืองประชาธิปไตยนั้น ไม่ใช่เป็นแค่เรื่องของความรู้ แต่ต้องเป็นเรื่องของการปฏิบัติด้วย จึงต้องเป็นเรื่องที่ต้องฝึกฝนให้คนมองคนเสมอภาคกัน ใช้กติกา และเคารพกติกาแก้ปัญหา ฝึกให้อดทนต่อสิ่งที่แตกต่างไปจากเรา ให้ทุกคนปกครองกันเองและอยู่ร่วมกัน เนื่องจากในสังคมไทยขาดการเคารพผู้อื่นและเคารพกติกา และการศึกษาไทยไม่เคยฝึกฝนเรื่องนี้ จึงทำให้เกิดความขัดแย้ง แตกแยก และสุดท้ายตัดสิน ปัญหาโดยใช้กำลังและความรุนแรง
.
การจัดการเรียนการสอนประชาธิปไตยจึงต้องขยายจัดการเนื้อหาให้มากกว่าตำราทฤษฎี เพราะที่ผ่านมาเราสอนแค่สิทธิ หน้าที่ตามระบอบประชาธิปไตยที่มีแต่การเรียกร้อง แต่เราไม่ได้พูดถึงการมีความรับผิดชอบเลย กระบวนการสอนแบบปฏิบัติในห้องเรียนตั้งแต่เด็กอนุบาลจนถึงระดับมัธยมศึกษา รวมถึงในระบบการศึกษานอกโรงเรียนจึงไม่ควรละเลยการจัดการเรียนการสอนให้เรียนรู้ความเป็นประชาธิปไตย ผ่านกระบวนการประชาธิปไตย เพื่อความเป็นพลเมืองในระบอบประชาธิปไตย
.
ผมเชื่อว่า “จิตวิญญาณแห่งประชาธิปไตยไม่สามารถทำให้เกิดขึ้นได้ท่ามกลางความรุนแรงทางการเมืองไม่ว่าจะเป็นภาครัฐหรือภาคประชาชน แต่สามารถสร้างได้ด้วยการศึกษา เพราะ การศึกษาเป็นอาวุธที่ทรงพลังที่สุด ที่เราจะนำมาใช้ในการเปลี่ยนแปลงโลก”
.
การจัดการเรียนการสอนประชาธิปไตยในโรงเรียนจึงมีความสำคัญที่จะช่วยสร้างกระบวนการเรียนรู้ประชาธิปไตยอันจะส่งเสริมให้นักเรียนได้ตระหนักถึงความสำคัญของความเป็นพลเมืองในระบอบประชาธิปไตยที่มีความรับผิดชอบ มีส่วนร่วมต่อสังคม และมุ่งสร้างสังคมที่เป็นธรรม ซึ่งเป็นพื้นฐานสำหรับ การนำไปใช้ชุมชนและสังคมเป็นการเตรียมความพร้อมนักเรียนให้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดีในอนาคต เป็นการสร้างลักษณะนิสัยให้เป็นพลเมืองที่รู้จักระเบียบ ข้อบังคับ กฎเกณฑ์และกติกาของสังคม รู้จักรับผิดชอบหน้าที่ของตนเองและส่วนรวม รับผิดชอบชุมชนและสังคมได้อย่างเหมาะสม ตลอดจนตั้งคำถามกับความไม่ปกติของระเบียบ ข้อบังคับ กฎเกณฑ์ และกติกาของสังคม เพื่อนำไปสู่การสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้น

ดังนั้น โรงเรียนจึงต้องสอนความเป็นประชาธิปไตยด้วยการเรียนรู้ผ่านกระบวนการประชาธิปไตยให้แก่นักเรียนเพื่อพัฒนานักเรียนให้พลเมืองประชาธิปไตยอย่างสมบูรณ์
_
เขียนโดย จักรกฤษณ์ ต่อพันธ์
เครือข่าย TCE ล้านช้าง และครูโรงเรียนหนองบัวแดงวิทยา

#thaiciviceducation