“เห็นได้ว่าสถานการณ์โรคระบาดที่เกิดขึ้น ได้สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาเชิงโครงสร้างของสังคมไทย ทั้งปัญหาความเหลื่อมล้ำ ซึ่งส่งผลให้ราคาของโรคระบาดของคนแต่ละกลุ่มไม่เท่ากัน การทำงานของรัฐไทยที่เป็นรัฐราชการรวมศูนย์ จึงทำให้ไม่สามารถจัดการกับปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมไปถึงการตีตราและการสร้างอคติของคนในสังคมที่เกิดขึ้นในช่วงสถานการณ์โรคระบาด จึงเป็นโจทย์สำคัญที่คุณครูจะชวนนักเรียนวิพากษ์และหาทางออกร่วมกันให้กับอนาคตของสังคมไทย”
_
Civic Teacher ตอนที่ 2 : Covid-19 สอนเรื่องพลเมืองอย่างไรได้บ้าง บทสัมภาษณ์ครูในเครือข่าย Thai Civic Education เกี่ยวกับวิกฤติโควิท19 ว่าพวกเขาเห็นอะไร และจะสามารถนำมาสอนเรื่องพลเมืองในแง่มุมไหนได้บ้าง

สำหรับในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดโรค COVID 19 หากนำมาสอนเรื่องพลเมือง สามารถนำมาสอนโดยมีประเด็นที่น่าสนใจหลายประเด็นไม่ว่าจะเป็นเรื่องการรับมือป้องกันทั้งในระดับตนเอง ครอบครัว ชุมชน เเละระดับรัฐ มาตรการเยียวยาจากรัฐบาล การออกกฎหมาย พรก.ฉุกเฉิน การเข้าถึงการรักษาพยาบาลหรือสุขภาพ สิทธิของผู้บริโภค เเละการกระจายอำนาจในการบริหารจัดการ เป็นต้น เรื่องหนึ่งที่น่าสนใจและคิดว่าน่าจะสร้างพลเมืองที่มีความเห็นอกเห็นใจ(Empathy)และเข้าใจเรื่องสิทธิมนุษยชน ซึ่งเรื่องนี้อาจจะมองไม่ค่อยเห็นชัดหรือสนใจมากในช่วงเหตุการณ์ปกติแต่จะเห็นชัดขึ้นและถูกพูดถึงเมื่อมีสถานการณ์วิกฤติบางอย่าง
.
ในการสอนเรื่องนี้ สามารถยกประเด็นกรณีการปิดประเทศ เเละการรับคนไทยที่อยู่ต่างประเทศกลับมาในช่วงสถานการณ์โควิด โดยใช้วิธีการการแบ่งกลุ่มนักเรียนออกโดยแสดงบทบาทสมมุติเป็นคนในประเทศ เช่น เป็นผู้บริหารประเทศ ข้าราชการ พ่อค้า หมอพยาบาล ประชาชนทั่วไป เป็นต้น แล้วให้นักเรียนร่วมกันพูดคุย โดยยกกรณีกลุ่มบุคคลที่ต้องการกลับเข้าประเทศ เช่น กลุ่มแรงงาน กลุ่มนักเรียนนักศึกษา กลุ่มท่องเที่ยว กลุ่มนักธุรกิจ กลุ่มประกอบพิธีกรรมทางศาสนา และลองตั้งประเด็นคำถาม
.
คำถามแรก หากเราสวมบทบาทเป็นบุคคลที่อยู่ในประเทศ เราจะเลือกรับ/ ไม่รับกลุ่มคนหล่านั้นหรือไม่ เพราะอะไร และถ้าต้องเลือกเพียงแค่คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งจะเลือกรับเพราะอะไร หรือมีวิธีการอย่างไร

คำถามที่สอง และหากมีคนในครอบครัวของเราหรือคนรักอยู่ในกลุ่มเหล่านั้น เราจะเลือกรับให้เข้าหรือไม่ บนเงื่อนไขคำถามก่อนหน้า คำตอบจะเป็นอย่างไร ใช้เกณฑ์อะไร/ความรู้สึกอะไร
.
ประเด็นหล่านี้สามารถทำให้การพูดคุยไปถึง การตัดสินคุณค่าของคนบางกลุ่ม การเลือกปฏิบัติต่อคนอื่นอย่างไม่เท่าเทียมซึ่งอาจจะนำไปสู่การลดทอนความเป็นมนุษย์ หรือการสำรวจอคติต่อคนบางกลุ่ม และยังสามารถเชื่อมโยงถึงหลักสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานหรือหลักกฎหมายได้
.
จะสนุกขึ้นอีกยังชวนนักเรียนไปพูดคุยกรณีเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในกระแสโซเชียลมีเดียระหว่างวิธีการจัดการกับนักศึกษาไทยที่กลับจากประเทศฝั่งเอเชีย นักศึกษาฝั่งตะวันตก หรือแม้กระทั่งแรงงานเอง มีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้น รัฐจัดการอย่างไร มีการเลือกปฏิบัติหรือไม่ หรือมีความคิดอคติอย่างไรเกิดขึ้น ซึ่งหากนำประเด็นเหล่านี้เชื่อมโยงและขมวดทำให้เห็นว่าพลเมืองที่มีวิธีคิดที่เห็นอกเห็นใจ Emphathy หรือเข้าใจเรื่องสิทธิมนุษยชนแล้วสังคมจะเป็นอย่างไร หรือถ้าขาดจะเป็นอย่างไร และสิ่งนี้จะทำให้พลเมืองหรือนักเรียนที่เราอยากให้เป็น สามารถมองเห็นและหยิบยกประเด็นเพื่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงที่ไม่ใช่แค่ในช่วงประเทศหรือโลกเกิดวิกฤติเท่านั้น
_
อับดุลเล๊าะ กอแต
โรงเรียนตันหยงมัส

ประเด็นการสอนเกี่ยวข้องกับ COVID-19 ที่น่าสนใจคือการอภิปรายให้เห็นถึง ธรรมชาติพฤติกรรมของมนุษย์ เราเคยเรียนรู้ตั้งแต่เด็กว่ามนุษย์เป็นสัตว์สังคมต้องมีการพบปะพูดคุย แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกันอยู่เสมอตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน
.
การที่มนุษย์สามารถมีปฏิสัมพันธ์ดังกล่าวได้ในส่วนหนึ่งเราก็เรียกว่า “เสรีภาพ” ในสถานการณ์ที่เกิดการร้องขอให้ประชาชนโดยทั่วไปไม่ทำกิจกรรมต่าง ๆ ซึ่งคือการไม่มีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน เราพบเห็นกลุ่มคนที่อยากออกจากบ้านเพื่อทำกิจกรรมสังสรรค์ เราเห็นคนที่ตั้งเป้าหมายว่าเมื่อสถานการณ์ผ่านไปจะต้องทำอะไรชดเชยเวลาที่ผ่านมา ตลอดจนเห็นความไม่สบายกายไม่สบายใจของผู้คนที่เก็บตัวอยู่เฉพาะที่พักอาศัย ทั้งหมดล้วนทำให้เราเรียนรู้ว่าเสรีภาพนั้นมีความสำคัญมากเพียงใด
.
จากสถานการณ์ดังกล่าวยังทำให้เห็นว่าในบางครั้งสิทธิและเสรีภาพก็มีความยืดหยุ่นได้เพื่อให้เกิดความปลอดภัยต่อชีวิตซึ่งเป็นสามัญสำนึกพื้นฐานหนึ่งของมนุษย์เช่นกัน อย่างไรก็ตามเมื่อมนุษย์ยอมลดทอนสิทธิและเสรีภาพของตนเองแล้ว ผู้ใช้อำนาจก็ยังต้องพึงตระหนักถึงสิทธิมนุษยชนเป็นพื้นฐานในการประกอบการตัดสินใจ
_
พรพรรษ อัมพรพฤติ
โรงเรียนวัดนวลนรดิศ

เราสามารถชวนนักเรียนถอดบทเรียนจากสถานการณ์การระบาดของโควิท-19 ในประเทศไทย โดยการวิเคราะห์ผลกระทบที่เกิดขึ้นทั้งในด้านสังคม เศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งวิพากษ์เกี่ยวกับมาตรการของรัฐบาลในการจัดการกับโรคระบาด ว่ามีความเป็นธรรมและครอบคลุมสำหรับคนทุกกลุ่มหรือไม่ รวมไปถึงบทบาทของประชาชนในการรับมือกับปัญหา และตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าโรคระบาดในครั้งนี้ส่งผลให้ประชาชนตั้งคำถามต่อรัฐมากขึ้น
.
จะเห็นได้ว่าสถานการณ์โรคระบาดที่เกิดขึ้น ได้สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาเชิงโครงสร้างของสังคมไทย ทั้งปัญหาความเหลื่อมล้ำ ซึ่งส่งผลให้ราคาของโรคระบาดของคนแต่ละกลุ่มไม่เท่ากัน การทำงานของรัฐไทยที่เป็นรัฐราชการรวมศูนย์ จึงทำให้ไม่สามารถจัดการกับปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมไปถึงการตีตราและการสร้างอคติของคนในสังคมที่เกิดขึ้นในช่วงสถานการณ์โรคระบาด จึงเป็นโจทย์สำคัญที่คุณครูจะชวนนักเรียนวิพากษ์และหาทางออกร่วมกันให้กับอนาคตของสังคมไทย
_
ครูธนัญญา ต่อชีพ
โรงเรียนฤทธิยะวรรณาลัย


ออกภาพโดย Chaipat Kaewjaras
#thaiciviceducation